ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ นอกจากส่งผลกระทบถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจ-การเมืองโลกแล้ว ยังสร้างน่าความกังวลต่อนานาชาติที่จับตามองอย่างใกล้ชิด และในขณะเดียวกัน หลายฝ่ายยังวิเคราะห์ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นยังส่งผลเสียต่อความนิยม ความน่าดึงดูดใจ และภาพลักษณ์แห่งความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมโลก กล่าวคือ ทำให้สหรัฐฯ เสื่อมพลังทาง Soft Power ไปไม่น้อย
【 1.ขัดแย้งมากที่สุดในรอบหลายปี 】
ความขัดแย้งระดับประสานงาที่เกิดขึ้นระหว่างการหาเสียงของผู้สมัครทั้งสองฝ่าย นำไปสู่ความโกลาหล หวาดหวั่น ชิงชัง ถึงขนาดมีการลอบสังหารเกิดขึ้น 2 ครั้ง ในรอบ 2 เดือน ความแตกแยกที่รุนแรงถึงเพียงนี้ เป็นผลเสียต่อภาพพจน์ผู้นำฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยโลก แน่นอนว่า เป็นธรรมดาอยู่เองที่ระบอบดังกล่าวจะต้องชุลมุนวุ่นวาย หากแต่การมองคู่ตรงข้ามเป็นศัตรู แบ่งฝักฝ่ายและปองร้าย ย่อมไม่ใช่บรรยากาศที่พึงปราถนา
【 2. ทรัมป์ come back !? 】
ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายการต่างประเทศหลายข้อของ โดนัลด์ ทรัมป์ ภายใต้แคมเปญ “Make America great again” หรือ “America First” อาจนำไปสู่การสร้างความแตกแยกในเวทีโลก รวมถึงการแยกตัวจากชาติพันธมิตรและพหุภาคีทั้งหลาย ซึ่งจุดยืนที่แข็งกร้าวนั้นให้น้ำหนักแก่ hard power มากกว่า soft power สำหรับประเด็นนี้ Joseph Nye ระบุว่าแนวทางของทรัมป์ อาจบั่นทอนความไว้วางใจและความเคารพจากทั่วโลก ทั้งยังส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของสหรัฐฯ อย่างไม่อาจย้อนคืนได้
【 3. แฮร์ริส ไม่อาจพิชิตชัย 】
ในทางกลับกัน กมลา แฮร์ริส ถูกมองว่าสามารถฟื้นฟู soft power สหรัฐฯ ผ่านแนวทางพหุภาคีที่เน้นความร่วมมือระดับโลกเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิทธิมนุษยชน ประกอบกับนโยบายแก้ปัญหาทางการทูตมากกว่าการแทรกแซงทางทหาร แต่ก็อีกนั่นแหละ แฮร์ริสอาจจะยังไม่น่าสนใจเท่าไหร่สำหรับอเมริกันชน
【 4. ประเทศอื่นเดินหน้า อเมริกาถดถอย 】
ชัยชนะของทรัมป์ อาจส่งผลให้อิทธิพลระหว่างประเทศลดลงเนื่องจากนโยบายที่นำไปสู่ความแตกแยก ซึ่งส่งผลต่อความน่าดึงดูดของอเมริกาในสายตาชาวโลก แน่นอนว่าความนิยมในวัฒนธรรมอเมริกาคงไม่ลดฮวบ-หายเหี้ยนขนาดนั้น แต่สถานการณ์ที่เป็นมิตรมากกว่าของหลายประเทศ ทำให้ดัชนี้ soft power ประเทศอื่นๆ รุดหน้า หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ได้ถอยหลังเหมือนกับอเมริกา ซึ่งตกต่ำลงในด้านเสน่ห์แห่งการเป็นผู้นำฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยโลก ผลกระทบของการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงขยายออกไปไกลเกินกว่าความกังวลภายในประเทศ และอาจกำหนดตำแหน่งของอเมริกาในกิจการระดับโลกในอีกหลายปีข้างหน้า
ฉะนั้นแล้ว ผลสืบเนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐฯ แต่ยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่ควรจับตามอง หาก Soft Power เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ครองความเป็นผู้นำในเวทีโลก การสั่นคลอนของเสถียรภาพทางการเมือง ที่เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดด้าน Soft Power อาจหมายถึงการเสียศักยภาพในการสร้างแรงดึงดูด และความไว้วางใจจากนานาประเทศไปอย่างไม่มีวันย้อนคืน ก็เป็นได้
อ้างอิง :