Skip links

เปิดโลกหนังสือไทย กับ ธีรภัทร เจริญสุข; Soft Power ที่ถูก (คนไทย) มองข้าม

“หนังสือ” คือสิ่งประดิษฐ์ที่ “ทรงพลัง” ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มันทำให้คนรักกันหรือเกลียดกันก็ได้ มันทำให้คนต่างกลุ่มรวมกันเป็นหนึ่ง หรือแบ่งขั้วอยู่ตรงข้ามกันก็ได้ ถ้านี่ไม่ใช่ Soft Power แล้วล่ะก็ คงไม่ทราบเหมือนกันว่าอะไรจะใช่

แต่หากพูดถึงคำว่า “Soft Power” คนไทยจำนวนไม่น้อยคงนึกถึง ภาพยนตร์ ซีรีส์ ดนตรี หรืออาหาร เป็นอันดับแรกๆ จะมีสักกี่คนที่นึกถึง “วงการหนังสือ” ขึ้นมาก่อน จริงไหม? 

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนไทยเราขาดแคลนพื้นฐานการอ่านอันเป็นสิ่งสำคัญ แต่กลับตรงกันข้าม เพราะคนไทยที่รักการอ่านยังมีอยู่อีกมาก และอุตสาหกรรมหนังสือก็มีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มันไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่หลายคนรู้สึก


วงการหนังสือกำลังโต


“ที่คนชอบพูดว่า ‘คนไทยไม่อ่านหนังสือ’ มันผิด จริงๆ คนไทยอ่านหนังสือนะ อ่านเยอะด้วย”

คุณธีรภัทร เจริญสุข ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านหนังสือ บอกกับเราระหว่างการสัมภาษณ์ในรายการ The Attraction Talk ว่า แท้จริงแล้วชีวิตของคนไทยไม่ได้ห่างเหินจากการอ่านอย่างที่เขาว่ากัน

 

เพียงแต่สิ่งที่อ่านนั้นเปลี่ยนไป ทุกวันนี้คนไทยไม่ได้อ่านนิยายคลาสสิก หรืออ่านวรรณกรรมชั้นครูเหมือนอย่างเคย เขาอ่านในมือถือ อ่านในไอแพด อีกทั้งหลายคนยังซื้อหนังสือเป็นของสะสม หรือครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัว 

โดยปัจจุบันนี้ สัดส่วนคอนเทนต์ออนไลน์ก็เข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิมจนแทบจะทดแทนกันได้แล้ว กล่าวคือ มูลค่าตลาดตอนนี้ แทบจะเทียบกับมูลค่าตลาดหนังสือยุคก่อนได้เลยด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งที่คุณธีรภัทรบอกกับเรา

“นักเขียนออนไลน์ที่รายได้ดีๆ คือเดือนละล้าน ไม่ได้โกหก ไม่ได้ล้อเล่น”

ซึ่งสอดคล้องไปกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่คุณธีรภัทรยกมาให้เห็นถึงภูมิทัศน์อุตสาหกรรมหนังสือคือ Meb แพลตฟอร์ม e-book ยอดนิยม ที่ทำมูลค่าตลาด รวมถึงกวาดรายได้ในปีที่แล้ว แซงหน้าร้านหนังสือเชนสโตร์เจ้าดังอย่าง SE-ED ไปเรียบร้อย

หากย้อนเวลากลับไปราวๆ 5 ปีก่อน ยอดขายของ Meb ยังอยู่ที่ประมาณ 300 กว่าล้านอยู่เลย แต่ปีนี้ พุ่งไปแตะหลัก 2,000 ล้านได้ แค่นี้ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นแล้วว่า สังคมไทยไม่เคยห่างไกลจากการอ่านจริงๆ

“แต่คนเหล่านี้อาจจะเป็นนักเขียนที่คุณไม่รู้จักเลย เป็นคนที่เขียนนิยายเฉพาะทาง


แต่ผลงานเขาขายดี ขายได้เยอะ


โดยที่วงการนักเขียนหรือสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ อาจจะไม่รู้จักเขาเลย เพราะเขาพิมพ์เองขายเอง”


เรารู้จักกัน แต่ไม่คุยกัน

ดูเผินๆ เหมือนกับว่าอุตสาหกรรมหนังสือบ้านเรากำลังทะยานขึ้นไปติดลมบนอีกครั้ง กระนั้นก็ตาม ปัญหาที่ยังคงอยู่คือ ต่อให้คนในวงการนี้จะรู้จักกันดี หรือเห็นหน้าค่าตากันอยู่บ่อยๆ

แต่ทว่าที่ผ่านมา คนในวงการหมึกพิมพ์ก็ไม่ได้มีเอกภาพมากพอที่จะขับเคลื่อนกันไปแบบรวมหมู่ หรือพูดง่ายๆ คือ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีหน่วยงานใดที่เป็นตัวกลางประสานให้ทุกฝ่ายก้าวไปพร้อมกัน ไม่มีใครเป็นจุดศูนย์กลางของทุกกลุ่ม ที่ผ่านมา คนทำหนังสือจึงขับเคลื่อนกันไปเท่าที่พอจะทำได้ตามกำลัง 

นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “สถาบันหนังสือ” เพราะจะได้มีหน่วยงานกลางที่นำข้อมูลของทุกฝ่ายมารวมกัน รวมถึงเป็นหน่วยงานกลาง เพื่อรับงบประมาณจากภาครัฐ และขับเคลื่อนวงการไปข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเกิดสิ่งนี้ขึ้น

“มันไม่เหมือนอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีสภาอุตสาหกรรมฯ


มันไม่เหมือนหอการค้า ที่มีหอการค้าจังหวัด


เราไม่เคยมีหน่วยงานด้านหนังสือ ที่จะเอาทุกคนมารวมกัน”

เพราะฉะนั้น ก่อนจะไปถึงเรื่อง Soft Power เพื่อความมั่นคงแข็งแรงในระยะยาว ประเทศไทยจึงควรมีสถาบันหนังสือให้ได้ ซึ่งคุณธีรภัทรคาดหวังว่า ภายในปีสองปีนี้มีความเป็นไปได้อยู่ ตามระเบียบทางงบประมาณแผ่นดิน


โอกาสของหนังสือไทย

อีกประเด็นที่มีการพูดกันมากคือ หนังสือไทยขาดดุลทางการค้า หรือก็คือ เราแปลหนังสือเข้ามาเยอะ แต่กลับส่งออกได้น้อย ซึ่งเป็นเช่นนี้มานาน หากนับเฉพาะหนังสือประเภทนิยาย คุณธีรภัทรระบุว่า วรรณกรรมแปลอัตราส่วนอยู่ที่ 66 % ส่วนวรรณกรรมไทยเพียง 34 % เท่านั้น คือต่างกันเกือบเท่าตัว…

ในแง่หนึ่งก็คือขาดดุลจริงๆ นั่นแหละ แต่ถ้าลองมองอีกแง่ มันก็มีโอกาสอยู่เหมือนกัน คือกำลังซื้อเราเยอะ เราสามารถดึงดูดต่างชาติได้มาก โดยเฉพาะหนังสือนิยายจีน ประเภท Boy’s Love ที่คุณธีรภัทรให้ตัวเลขว่า เราซื้อกันถึง 8 หลัก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก สูงกว่าหลายประเทศโดยรอบ

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเราจะปล่อยไปตามน้ำ หรือไม่ทำอะไรเลย เพราะจริงๆ แล้ว เราสามารถฉวยโอกาสจากการขาดดุลนี้ได้ ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ จึงจัดให้มีการเจรจาระหว่างสำนักพิมพ์ไทยกับต่างชาติ หรือ Business Matching ทั้งการเดินทางไปออกบูธ Thai Pavilion ที่งานหนังสือต่างประเทศ และจัดโซน Bangkok Right Fair ในงานหนังสือของไทย


“ทั่วโลกรู้ว่าคนไทยซื้อเยอะ เราก็จัดงาน Bangkok Right Fair ในงานสัปดาห์หนังสือฯ


สำนักพิมพ์ต่างชาติก็จะมาเมืองไทย เพื่อมาขาย


หลังจากนั้นเราก็ให้สำนักพิมพ์ไทยขายกลับ


มันก็เป็นโอกาสหนึ่ง ในฐานะที่เราเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก”

และนอกจากงานจับคู่ธุรกิจแล้ว ยังมีโครงการมอบทุนการแปลให้หนังสือไทยที่ถูกคัดเลือก เพื่อนำไปขายตลาดต่างประเทศ อีกอย่างที่สำคัญคือ การจัดอบรมความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ เพราะการค้าขายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ เหล่านี้จึงแนวทางการผลักดัน ซึ่งคุณธีรภัทรเล่าว่า กำลังดำเนินไปตามขั้นตอน ทุกอย่างพึ่งเริ่มต้น แต่กำลังไปได้ดี ✌️


หนังสือไทยในเวทีโลก

ว่ากันตามตรง วงการหนังสือไม่ใช่วงการที่เป็นกระแสถึงขนาดที่จะเห็นได้ตามหน้าสื่อทั่วไป เหมือนวงการภาพยนตร์ ดนตรี หรือกีฬา 

เทียบกันง่ายๆ ศิลปินไทยไปทำการแสดงต่างประเทศ-เรารู้ หนังไทยไปฉายต่างประเทศ-เรารู้ นักกีฬาไทยคว้ารางวัลในการแข่งขันระดับโลก-เรารู้ แต่สำหรับวงการหนังสือ… เราไม่ค่อยได้ยินอะไรแบบนี้ตามหน้าสื่อเท่าไหร่ แล้วถามว่า นักเขียนไทยมีศักยภาพแค่ไหนในเวทีโลก คุณธีรภัทรตอบว่า

“คุณรู้ไหมว่า หนังสือทำสมาธิของไทย ขายลิขสิทธิ์ไปเวียดนาม ขายได้เป็นแสนเล่มเลยนะ สำนักพิมพ์เวียดนาม เขามาตามหานักเขียนไทย


สิ่งสำคัญคือว่า เรามองตลาดที่เราคุ้นชินมากเกินไป แล้วเขานำเราอยู่ จะขายไปเกาหลีหรอ ขายไปจีน ขายไปอเมริกา ขายไปยุโรปหรอ


เขานำเราอยู่ เขาจะซื้อเราทำไม?”

คุณธีรภัทรชี้ให้เห็นว่า เรายังมีตลาดอีกมากมายที่เราสามารถแข่งขันได้ เพียงมองแค่ตลาดที่เราคุ้นชินโอกาสคงจะมีโอกาสน้อย แต่ยังมีกลุ่มตลาดที่ตามเราอยู่ ซึ่งตรงนี้เองคือโอกาสสำคัญของเรา

“ตลาดอาเซียน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฯลฯ ทำไมเราไม่มองเขาบ้าง


อินเดีย ทั้งประเทศมีพันกว่าล้านคน แอฟริกาทั้งทวีป ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้


ตลาดการค้าลิขสิทธิ์ยังมีอีกมากมายทั่วโลก”

อีกทั้งยังมีหนังสือ 2 ประเภท ที่หลายประเทศมองมาที่เรา อันดับแรกคือ นิยาย BL, GL ชายรักชาย, หญิงรักหญิง ส่วนนี้ดำเนินไปพร้อมกระแสของซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ที่ได้รับความนิยม อย่างไรก็ดี ตัวนิยายย่อมมีรายละเอียดที่ครบถ้วนมากกว่า เป็นสิ่งที่เราได้รับความนิยมอยู่แล้ว

ต่อมาคือ หนังสือเด็ก เพราะนักวาดไทยออกแบบเนื้อหาได้ดี มีความสวยงาม และเป็นสากล และมูลค่าลิขสิทธิ์ของหนังสือเด็กในไทย เราถือว่าไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

“เราแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน ตลาดแอฟริกา อเมริกาใต้ คุณไม่รู้หรอกว่า ตลาดทั่วโลกยังมีอีกเยอะที่รอเราไปคุยอยู่”

จากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เราสรุปได้คือ ‘เราอยู่จุดไหน ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเทียบกับใคร’ ซึ่งคุณธีรภัทรได้ชี้ให้เห็นว่า โอกาสในการแข่งขันของประเทศไทยยังมีอยู่อีกมาก ที่เรามักจะมองข้ามไป


Soft Power ต้องใช้เวลา

อย่างที่คุณธีรภัทรกล่าวว่า การผลักดัน Soft Power อุตสาหกรรมสื่อ จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ ซีรี่ส์ ดนตรี กีฬา อาหาร ฯลฯ

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่งานที่จะเห็นผลลัพธ์ได้ในเร็ววัน เพราะการหว่านโปรยตัวอักษรในทุ่งหนังสือ ย่อมใช้เวลาเพื่อเจริญงอกงามในห้วงปัญญาของผู้คน ของแบบนี้ต้องรอเวลาเท่านั้น อีกทั้งจะเร่งขั้นตอนก็มิได้ และใช่ ยุทธการทาง Soft Power ก็หนีไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้เช่นกัน

“มันเหมือนเราปลูกมะม่วง กว่ามะม่วงจะออกผล ต้องรอ 4-5 ปี


คุณจะให้งานด้าน Soft Power เห็นผลภายใน 2 ปี …ไปปลูกมะม่วงเถอะ”

หลังจากนี้ประเทศไทยจะมีอำนาจละมุนมากน้อยเพียงใด กาลเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และสำหรับวงการหนังสือ ในเบื้องต้น เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ้างแล้วเหมือนกัน อย่างไรก็คงต้องให้กำลังใจคนทำงานต่อไป รอชื่นชม


จบเล่มครับ 🙂