การเมืองดี ปากท้องดี มี Soft Power: คุณค่าประชาธิปไตย ทำให้ Soft Power ไม่ใช่ฝัน
ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีใต้สถาปนาตนขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจของโลกได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยยุทธการ Soft Power ที่ไม่ว่าใครก็ต่างเหลียวมอง พลางจับจ้องความเคลื่อนไหวต่างๆ อยู่เสมอ แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไป ทุกชาติในโลกล้วนมีวัฒนธรรมเป็นทุนทรัพย์ไม่ต่างกัน แต่ทว่าการที่เกาหลีใต้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งโลกตะวันออกได้ (โดยเฉพาะยิ่งหลังจากเสียหายมหาศาลมาจากสงคราม) คงต้องกล่าวว่าปัจจัยสำคัญคือ เสถียรภาพและความแข็งแรงทางประชาธิปไตยที่หยั่งรากลึกลงไปในค่านิยมคนเกาหลี เรื่องนี้คงต้องย้อนความกลับไปหลังจากยุคสงคราม เกาหลีใต้ถูกปกครองในระบอบเผด็จการมานานเป็นสิบๆ ปี จนเมื่อค.ศ. 1987 จึงเกิดการประท้วงครั้งใหญ่โดยฝ่ายประชาชน ทำให้ชนชั้นปกครองจำต้องกลายสภาพมาเป็นประชาธิปไตยในที่สุด แต่ก็แน่ล่ะ เส้นทางของปวงชนมักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ย่อมแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและหยดน้ำตา ผนวกกับความใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้หลักคิดที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” จึงกลายเป็นสิ่งที่คนเกาหลีหวงแหน ดังนั้น ระบอบที่คนเท่ากันจึงลงหลักปักฐานในแผ่นดินเกาหลีได้อย่างมั่นคงในระยะต่อมา หนึ่งในรูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือการมีส่วนร่วมผ่านการชุมนุมเรียกร้องในกรณีต่างๆ อาทิเช่น ประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงานปี 1997, ประท้วงต่อต้านนักการเมืองคอร์รัปชันในปี 2000, ประท้วงต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศปี 2002 และการประท้วงประเด็นอื่นๆ ที่มีให้เห็นอยู่ไม่ขาด ทั้งยังไม่ต้องเอ่ยถึงการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกในหลายยุค หลายสมัย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ความตระหนักในคุณค่าประชาธิปไตยของชาวเกาหลีใต้พัฒนามาตลอด และโดยเฉพาะหากเกิดปัญหาขึ้น วิธีแก้ปัญหาก็เป็นไปตามครรลองที่ชอบธรรมตามวิถีแห่งปัจจุบันขณะ พร้อมกันนั้นก็พึงสังวรว่าไม่ควรย้อนกลับไปที่เก่า ทำนองว่าไม่ควรแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยการกลับไปใช้เกวียน อะไรอย่างงั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนนี้ ยังถ่ายทอดผ่านระบบที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจโดยตัวแทนที่ประชาชนเลือกมา ทั้งประธานาธิบดี และรัฐสภา ซึ่งแสดงออกผ่านประสิทธิภาพทางนิติบัญญัติ แน่นอน แม้ว่าการเมืองภายในของเกาหลีใต้อาจมีความฟอนเฟะอยู่บ้าง เช่น การโกงกิน ติดสินบน ความขัดแย้งรุนแรง กระทั่งเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการกดขี่ในอุตสาหกรรมบันเทิง แต่กระนั้นก็ตาม เห็นได้ชัดว่า สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งมอบพื้นที่แห่งการวิพากษ์ ได้ช่วยยกระดับคุณภาพการปกครองของเกาหลีใต้ขึ้นไปอีกขั้น แล้วก็เช่นกัน เมื่อการเมืองนิ่ง ประเทศก็โตได้อย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานที่มั่นคงแข็งแรง อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงอยู่ก่อนแล้ว ก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้นไปอีก อุตสาหกรรมขนาดกลางก็กลายมาเป็นขนาดใหญ่ ทำให้หลังจากนั้น มูลค่าทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ทะยานขึ้นไปติด 10 อันดับแรกของโลกในปี 2021 รวมถึงก่อนหน้านั้นที่ได้เข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD อีกทั้งยังเข้าไปเป็นสมาชิกของ G-20 ในเวลาต่อมา ซึ่งการมีบทบาทในเวทีระดับโลกดังกล่าว ส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศที่ทันสมัย เจริญก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็สร้างอิทธิพลต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ที่พัฒนาขึ้นมา ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญระดับโลกอยู่เป็นระยะๆ อาทิ โอลิมปิกฤดูหนาว 2018, G20 Seoul