Skip links

เขียนด้วยมือ ลบด้วยทรัมป์ : เมื่ออเมริกาไม่ยี่หระ Soft Power อีกต่อไป

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่ออำนาจนำทาง Soft Power ของสหรัฐฯ เนื่องเพราะเจ้าของวลี “America First” ผู้นี้ มิได้สมาทานแนวทางการทูตที่ละมุนละม่อม อ่อนโยน และดูเหมือนทรัมป์จะไม่นิยม ‘ถุงมือกำมะหยี่’ แต่ที่มีในมือคือ ‘กำปั้นเหล็ก’ เป็นส่วนใหญ่

เพราะว่า เพียงไม่กี่สัปดาห์ของการเป็นประธานาธิบดีสมัยนี้ เขาได้นำพาประเทศไปสู่วิธีการที่แข็งกร้าวต่อประชากรตนเอง และต่อนานาประเทศ ซึ่งเนื้อหาต่อไปนี้ ‘เป็นข้อสังเกตที่เราสรุปได้โดยสังเขป’

ตัดงบ USAID

องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า USAID เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศต่างๆ ซึ่งให้ความช่วยเหลือในหลากหลายด้าน อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร ภัยพิบัติ ผลกระทบจากสงคราม โรคภัย และสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นๆ 

กระนั้นก็ตาม USAID ก็เผชิญกับข้อครหาเรื่อง ‘วาระซ่อนเร้น’ เกี่ยวกับการแทรกแซงทางการเมือง หรือบางคนตีความว่าปฏิบัติการนี้เป็นเครื่องมือ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ของสหรัฐฯ เพื่อชิงจุดยุทธศาสตร์ในเกมการเมืองโลก พูดตรงๆ ได้ว่า เป็นเรื่อง ‘ผลประโยชน์ของอเมริกา’ นั่นแหละ ในเบื้องลึกเบื้องหลังก็มีอะไรทำนองนั้นอยู่ แต่ในเบื้องหน้าคงต้องกล่าวว่า หลายโครงการได้ช่วยให้เพื่อนร่วมโลกของเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงๆ

เพราะที่ผ่านมา USAID ให้การช่วยเหลือหลายชีวิตทั่วโลกจนนับไม่ถ้วน กระทั่งสิ่งนี้กลายเป็นกลไกทาง Soft Power ชนิดที่ทรงพลังเป็นพิเศษ เพราะสามารถสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก และผูกสัมพันธไมตรีต่อประเทศปลายทางได้เป็นอย่างดี ทำให้อาณาเขตอิทธิพลของสหรัฐแผ่ขยายปกคลุมไปทั่วโลก 

จนกระทั่งวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา มีประกาศระงับความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ ลดสัญญาความช่วยเหลือต่างประเทศลง 92% และลดจำนวนพนักงานจากหลัก 10,000 คน เหลือเพียง 290 คนชั่วคราว นี่เป็นคำสั่งที่ออกมาฉับพลันทันด่วน ชนิดที่ไม่ให้เหล่าพนักงานตั้งตัวมาก่อนเลย

ประมาณว่า วันนี้ยังมาทำงานกันอยู่ดีๆ พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องมาแล้ว ส่วนบรรดาผู้ลี้ภัยตามที่ต่างๆ จากที่ได้รับการสนับสนุนอยู่ ก็ถูกตัดช่องทางโดยปริยาย ปล่อยไปตามยถากรรม ตัวใครตัวมัน

ราวกับทรัมป์ไม่ต้องการให้อเมริกาเล่นบท ‘ลูกพี่ใหญ่ใจดี’ อีกต่อไปแล้ว มันจบแล้ว เพราะว่า ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ อย่างที่บอก

ประเด็นนี้สร้างความหวั่นเกรงให้คนจำนวนไม่น้อย เพราะหลายประเทศยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากชาติมหาอำนาจอยู่ และหากไม่ใช่สหรัฐฯ แล้วจะเป็นใคร? 

ใช่หรือไม่ว่า มีเพียงแค่ ‘จีน’ กับ ‘รัสเซีย’ เท่านั้น ที่พอจะทดแทนกันได้ …ใช่แล้ว เดิมทีนี่มันศัตรูของพญาอินทรีทั้งนั้นเลย สิ่งนี้จึงไม่ต่างจากการปล่อยให้จีนกับรัสเซียสามารถเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

กลับสู่ยุค ปลาใหญ่กินปลาน้อย

อีกหนึ่งบทบาทที่ทำให้อเมริกามีทุกวันนี้ได้ คือสถานะใน UN หรือองค์การสหประชาชาติ 

ย้อนกลับไปหลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ นับว่าเป็นตัวตั้งตัวตีในการถือกำเนิดขึ้นของ UN เพื่อวัตถุประสงค์คือ ให้ชาติต่างๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ไม่ควรรุกล้ำ-ระรานกัน อันนำมาซึ่งความเสียหายเหมือนอดีต  

นับแต่นั้นมา สิ่งนี้ก็เป็นระเบียบโลกที่ทุกฝ่ายควรยึดถือ ซึ่งจำนวนสงครามก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ทว่าการกลับมาของทรัมป์ในคราวนี้ กลับกลายเป็นอเมริกาเสียเองที่ไม่เคารพต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว

ไม่ว่าจะเป็น กรณีคัดค้านมติการประณาม และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากยูเครน หรือพูดอีกอย่างคือ อเมริกายอมรับให้รัสเซียบุกยูเครนต่อไปซะอย่างงั้น มติของอเมริกาในครั้งนั้น เรียกได้ว่าช็อกโลกกันเลยเชียว

เพราะใครจะคิดเล่าว่า สหรัฐอเมริกา เกาหลีเหนือ รัสเซีย สามประเทศนี้จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็อีกนั่นแหละ มันเกิดขึ้นไปแล้ว สิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็นจริงๆ 

รวมไปถึง ถ้อยแถลงที่ถูกเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องเปลี่ยนเพื่อนบ้านทางตอนเหนืออย่าง เปอร์โตริโก ให้เป็นรัฐที่ 51 ของอเมริกา และไหนจะกรีนแลนด์ ปานามา หรือฉนวนกาซาอีก ชื่อเหล่านี้ถูกพูดถึงบ่อยครั้งผ่านปากของท่านผู้นำ เรื่องการผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ

โลกที่ไม่เหมือนเดิม

ท่าทีของทรัมป์ในต่างกรรมต่างวาระ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยี่หระต่อระเบียบโลกบางประการ ซึ่งสำคัญต่อความสงบสุขของพลเมืองโลก

ผลกระทบที่ตามมาจากความผกผันในการเมืองระหว่างประเทศคือ บรรดาชาติต่างๆ เริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงปลอดภัย และบางประเทศที่เคยมีสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่น ก็ไม่รู้ว่าวันดีคืนดี หากเกิดเภทภัยอะไรขึ้นมา สหรัฐฯ ยังจะเป็น ‘หลังพิง’ ให้เหมือนเดิมอยู่หรือไม่?

โดยรูปธรรมคือ หลายชาติเพิ่มงบกลาโหมมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพทางความมั่นคง เพิ่มพลังอำนาจอันแข็งกร้าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต่อไปนี้ Hard Power จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นในหลายประเทศ พูดก็พูดเถอะ บางทีอาจพิจารณาถึงสิ่งที่อเมริกาเคยเรียกว่า ‘Fat Man’ หรือ ‘Little Boy’ เลยด้วยซ้ำ 

ทั้งนี้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ อาทิ สหรัฐฯ ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัดงบการศึกษาวิจัยต่างๆ หรือแม้แต่สงครามการค้าที่นับวันยิ่งจะ ‘หนักข้อ’ ขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อเมริกาสูญเสียอุดมคติทางสิทธิมนุษยชนและคุณค่าประชาธิปไตย ซึ่งเป็นค่านิยมหลักที่ช่วยให้อเมริกาถือครองอำนาจนำทาง Soft Power มาตลอด

กล่าวโดยสรุปคือ ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนไป และในโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับสมการใหม่ อันไร้ซึ่งตัวแปร Soft Power ของสหรัฐฯ ในแบบที่เราเคยรู้จัก ก็ไม่ต้องแปลกใจ หากมหาอำนาจอื่นๆ จะเร่งฝีเท้าเข้ามาช่วงชิงพื้นที่สุญญากาศที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน อาจเป็นสัญญาณของโลกที่พร้อมกลับสู่ยุคอำนาจนิยมเหมือนในอดีต 

ดังนั้น โจทย์สำคัญคือว่า ในโลกที่ Soft Power ถูกลดความสำคัญลงไป เราจะรับมือกับอนาคตที่แข็งกระด้างและไม่อ่อนโยนนี้อย่างไร? แล้ว Soft Power ไทยล่ะ จะมีตำแหน่งแห่งที่ตรงไหนในสากลโลก?