Skip links

Hollywood กำกับ – CIA เขียนบท : Argo แผนฉกฟ้า propaganda สะท้านโลก

Argo (2012) เป็นภาพยนตร์แนวสายลับที่คว้ารางวัลออสการ์ไปถึง 3 รางวัล รวมถึง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ในปีนั้นด้วย แต่เอาเข้าจริงแล้ว เบื้องหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของ CIA ด้วยการอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ เพื่อแลกกับการควบคุมบทภาพยนตร์ให้เป็นไปตามที่ต้องการ

ผลที่เกิดขึ้นคือ CIA อนุญาตให้ทีมโปรดักชั่นสามารถถ่ายทำที่สำนักงานใหญ่ของ CIA ได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิพิเศษที่มอบให้กับโปรดักชั่นเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง Scorpio เมื่อปี 1973 

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา ผ่านเอกสารกว่า 200 หน้า เกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในการสร้าง Argo ซึ่งให้ข้อมูลเบื้องหลังว่าทำไม CIA จึงทำงานร่วมกับฮอลลีวูด รวมถึงอีเมลหลายฉบับ ระหว่างหน่วยงาน ผู้กำกับ นักแสดง ทีมงานภาพยนตร์ ซึ่งสนทนากันชนิดที่เรียกว่าหวานเจี๊ยบบไปเลย

ตัวอย่างเช่น Ben Affleck ผู้กำกับและนักแสดงนำของเรื่อง ที่กล่าวกับฝ่าย CIA ว่า “เรารักและเคารพ ในความกล้าหาญของหน่วยงานคุณ” ก่อนที่จะให้คำมั่นว่า 

“เราต้องการให้กระบวนการสร้างนั้นสมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” 

ทางเจ้าหน้าที่ CIA ก็ตอบกลับว่า “เรื่องราวในภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องที่เราภูมิใจ” 

เอกสารดังกล่าวระบุรายละเอียดว่า เป็นช่วงเวลาหลายเดือนที่ CIA ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การพาทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทัวร์สำนักงานใหญ่ที่แลงลีย์ รัฐเวอร์จิเนีย นอกจากนี้ Affleck ยังได้รับภาพถ่ายในคลังเอกสาร เพื่อให้ทีมงานจำลองสำนักงานของ CIA ในยุค 80 ขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังมีการประชุมร่วมโต๊ะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ CIA เพื่อวางแผนโปรเจกต์นี้ด้วย

คือมีไม่กี่ครั้งจริงๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ จะอำนวยความสะดวกแบบปูพรมที่ถักคำว่า “Welcome” ให้อย่างดี ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง Argo มีความสมจริงชนิดที่ยากจะหาใครเทียบได้ กระนั้นก็ตาม ความสมจริงดังกล่าวนั้นเป็นคนละเรื่องกับคำว่า “ข้อเท็จจริง” เพราะอย่างที่บอก ผู้พิจารณาตัวบทภาพยนตร์คือ CIA พูดง่ายๆ คือ หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ จะปรุงแต่งเนื้อเรื่องอย่างไรก็ได้ ว่างั้นเถอะ

อาทิเช่น บทบาทของรัฐบาลแคนาดา ซึ่งในชีวิตจริงมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รวมถึงการออกหนังสือเดินทางปลอมให้ แต่ในเนื้อเรื่องกลับถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงตัวประกอบซะได้

ในประเด็นนี้ แม้แต่อดีตเอกอัครราชทูตแคนาดาในอิหร่าน Ken Taylor หรืออดีตประธานาธิบดี Jimmy Carter ก็ต่างกล่าวไปทำนองเดียวกันว่า ตัวหนังให้เครดิตกับ CIA มากเกินไป ความเป็นจริงควรยกย่องฝ่ายแคนาดามากกว่าด้วยซ้ำ อะไรประมาณนั้น

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ CIA อีกหนึ่งคนที่ร่วมภารกิจดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อโค้ดเนมว่า “Julio” แต่กลับไม่ปรากฏในภาพยนตร์เลยแม้แต่น้อย ไม่รู้ว่าหายไปไหน

รวมถึงการกล่าวถึงรัฐประหารในอิหร่านเมื่อปี 1953 ที่ CIA ร่วมมือกับ MI6 โค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยและตั้งกษัตริย์ (Shah) ขึ้นปกครองแทน แต่เล่าอย่างผิวเผินผ่านแอนิเมชัน ทำให้ความรุนแรงและผลกระทบต่อชาวอิหร่านขาดไร้อารมณ์ที่แท้จริง 

ขณะเดียวกัน พวกความล้มเหลว เช่น เหตุการณ์วิกฤตตัวประกันในอิหร่าน ที่ชาวอเมริกันกว่า 50 คนถูกจับเป็นตัวประกันนานหลายเดือน หรือภารกิจของกองทัพสหรัฐ “Operation Eagle Claw” ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม เหล่านี้กลับไม่พูดถึงเลย Argo  เลือกเล่าเฉพาะภารกิจช่วย 6 คนที่หลบหนีจากสถานทูตเท่านั้น

ตลอดจน การวาดภาพชาวอิหร่านให้ดูเป็นกลุ่มหัวรุนแรง ไร้เหตุผล ตัวละครอิหร่านมักปรากฏในฉากข่มขู่ ขว้างระเบิดเพลิง และเผาธงชาติอเมริกัน การนำเสนอเช่นนี้ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ชม ทั้งๆ ที่ในความจริง ความขัดแย้งมีรากลึกจากการแทรกแซงของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้เนื้อหาในเรื่อง Argo จะถูกนำเสนอผ่านมุมมองที่มีอคติ แต่ CIA กลับปล่อยผ่าน ไม่มีปัญหาใดๆ หรือจะเรียกว่าจงใจให้เป็นเช่นนี้ก็ได้ เพราะเอกสารภายในแสดงให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับ “ภาพลักษณ์ความเป็นฮีโร่” มากกว่าความถูกต้อง และมองว่าการแต่งเติมเพียงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มดราม่า ไม่ได้ทำให้เกินเลยไปจากความจริงขนาดนั้น

กล่าวโดยสรุปคือ ภาพยนตร์ระดับ 3 รางวัลออสการ์อย่าง Argo นับว่าเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่ประสบความสำเร็จจากการแท็กทีมกันของ CIA และฮอลลีวูด ซึ่งอาศัยภาพยนตร์ในการฉายภาพความเป็นฮีโร่ให้กับตัวเอง พร้อมกันนั้นก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีสถานะเป็นดั่งปีศาจ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้มีแค่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่มันคือภาพสะท้อนของค่านิยม อุดมการณ์ และนโยบายทางการทูต ที่ถูกบันทึกไว้ต่อสาธารณะ ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงที่นำเสนอในตัวหนังจะถูกปรุงแต่งจนต่างออกไป แต่นี่จะเป็นอีกข้อเท็จจริงหนึ่ง ที่สามารถเป็นตัวอย่างของการใช้โฆษณาชวนเชื่อได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

อ้างอิง : 

https://www.presstv.ir/Detail/2021/06/22/660637/Documents-reveal-CIA-support-for-anti-iranian-propaganda-film-Argo

https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2016/07/operation-tinseltown-how-the-cia-manipulates-hollywood/491138/