Skip links

งานหนังสือ 68 มีอะไร? งานไม่ใหญ่แน่นะวิ

1) เพิ่มฮอลล์ ขยายพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น จากเดิม 15,000 ตารางเมตร เป็น 20,000 ตารางเมตร

2) ขยายบูธเพิ่มเป็น 1,200 บูธ จาก 400 สำนักพิมพ์ 

3) หนังสือที่งานกว่า 2,000,000 เล่ม

4) เพิ่มกิจกรรมพบปะระหว่างนักเขียนกับนักอ่าน ตามโซนต่างๆ ให้มากขึ้น รวมไปถึงนักเขียนต่างชาติ ที่จะได้เจอกับนักอ่านไทยมากขึ้นด้วย

5) ต่อยอด Bangkok Right Fair หรืองานซื้อขายลิขสิทธิ์ในลักษณะ B2B ให้สำนักพิมพ์ต่างชาติร่วมเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์กันภายในงานหนังสือ ซึ่งประสบผลสำเร็จมาจากปีก่อนหน้า และในปีนี้ มีสำนักพิมพ์ต่างชาติเดินทางมาร่วมกว่า 14 ประเทศ และทางผู้จัดคาดการณ์ตัวเลขซื้อขายสูงถึง 65 ล้านบาท 

6) บูธตัวแทนจากต่างประเทศ อาทิ จีน ไต้หวัน อิหร่าน ยูเครน ฯลฯ ที่มาร่วมสมทบความเป็นงานหนังสือนานาชาติให้ยิ่งใหญ่ขึ้น ในส่วนของเราเองก็มี

7) นิทรรศการหนังสือแปล ที่ได้รับทุนการแปลเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานของ Soft Power สาขาหนังสือ ที่ต้องการนำผลงานไทยไปบุกตลาดโลกให้มากขึ้นกว่าเดิม

8) นิทรรศการหนังสือที่ผู้จัดคัดเลือกมา ในที่นี้ทางเราขอใช้คำว่า “หนังสือแนะนำที่คนยังไม่ค่อยได้อ่าน” โดยมีกรรมการคัดสรรเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพราะว่ากันตามตรง วงการหนังสือก็ไม่ต่างจากวงการสร้างสรรค์อื่นๆ ที่ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีฐานผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มของตนเองมากขึ้น กล่าวคือ niche market เติบโตและแข็งแรงมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งต่อให้เป็นนักอ่านที่ท่องทะยานโลกอักษรมากขนาดไหน ก็ยากที่จะมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มอื่น หรือในภาพรวม นิทรรศการลักษณะนี้ก็สามารถชี้เป้า “ของดีที่เราอาจตกหล่นไป” ได้เช่นกัน

9) โซนพิเศษ “นวดเพื่อสุขภาพ” ใครเดินจนปวดเมื่อยก็เข้าไปใช้บริการได้ (แว่วๆ มาว่าราคาย่อมเยาว์ซะด้วยนะ)

ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า

“จะทำยังไงให้งานหนังสือไม่ใช่แค่แหล่งขายหนังสือ”

“งานหนังสือต้องไม่ใช่มหกรรมลดราคาหนังสือ

“และต้องไม่ใช่พื้นที่เอื้ออาทรระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย”

เอาเข้าจริง ปัญหาวงการหนังสือบ้านเรายังมีให้สาธยายอีกมาก แต่หากจำกัดวงแคบมาเฉพาะที่งานหนังสือ คงต้องบอกว่า มีอีกมากมายที่เราสามารถยกระดับขึ้นได้อีก ทั้งการเป็นตัวแทนของคนวงการหนังสือทั้งประเทศ และความเป็นอีเวนต์ระดับนานาชาติของอาเซียน ยังไม่นับรวมถึงรายละเอียดปลีกย่อย อาทิ ไม่มีเก้าอี้-ที่นั่ง กิจกรรมการมีส่วนร่วม หรืองาน showcase ต่างๆ ที่สามารถเป็นองค์ประกอบที่เพิ่มสีสัน เพิ่มความสนุก และน่าสนใจ ให้วงการหนังสือไทยคึกคักขึ้นไปอีก

แต่ถ้าพูดกันอย่างเป็นธรรม หลายๆ อย่างกำลังดีขึ้นจริงๆ นั่นแหละ และงานหนังสือครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้น เพราะนอกจากพื้นที่ฮอลล์จะใหญ่ขึ้นแล้ว ยังมีกิจกรรมดีๆ ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ตั้งใจคิด ตั้งใจทำเป็นอย่างดี

🗓งานหนังสือครั้งนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 27 มี.ค. – 7 เม.ย. 68 

🕑เวลา 10.00 – 21.00 น. (ยกเว้น 28 มี.ค. 68 เริ่ม 12.00 – 21.00 น. เนื่องจากมีพิธีเปิดงาน) 

🚀พื้นที่งานขยายฮอลล์เป็น 4 ฮอลล์ใหญ่ ในชั้นใต้ดินทั้งหมด

📖มีบูธกว่า 1,200 ราย

ในท้ายที่สุด งานหนังสือไม่ควรเป็นเพียงแค่พื้นที่สำหรับการซื้อขาย แต่ควรเป็นเวทีที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของวงการวรรณกรรมและพฤติกรรมการอ่านในสังคมไทย ทั้งการเปิดโอกาสให้หนังสือไทยก้าวไกลสู่เวทีโลก ตลอดจนสร้างพื้นที่ให้เกิดบทสนทนาระหว่างนักเขียน นักอ่าน และผู้ผลิตหนังสือ เพื่อร่วมพัฒนาให้เป็นงานระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น 

แม้ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องปรับปรุง แต่เมื่อมองไปข้างหน้า งานหนังสือไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และหากทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมนี้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราอาจได้เห็นงานหนังสือที่ไม่เพียงแต่เป็นเทศกาลของนักอ่าน แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและความรู้ที่ทรงพลังยิ่งขึ้นในอนาคตของประเทศ ของภูมิภาค กระทั่งของโลกก็อาจจะเป็นได้