Skip links

เมื่ออเมริกาเสียภาวะผู้นำด้าน Soft Power

แม้คนทั่วโลกจะยังดูหนังมาร์เวล ดื่มโค้ก ใส่ไนกี้ ใช้ไอโฟน หรือบริโภคสินค้าวัฒนธรรมของอเมริกากันอยู่มาก แต่นักวิเคราะห์หลายคนกลับมองว่า อเมริกาได้สูญเสียอำนาจนำทาง Soft Power ไปแล้วเรียบร้อยภายใต้การบัญชาการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือพูดง่ายๆ คือ อเมริกากำลังจะเสียแชมป์ในเรื่อง Soft Power

มิหนำซ้ำ ตำแหน่งนี้ยังถูกยื้อแย่งโดยฝ่ายตรงข้าม เนื่องเพราะสินค้าวัฒนธรรมจากจีนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทำการรุกตลาดโลกอย่างหนัก แบรนด์ Made in China ปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า ปรากฏทุกระดับ รันทุกวงการ 

ทว่าจุดตัดสำคัญ ไม่ใช่แค่ความนิยมในสินค้าอุปโภค/บริโภค ซึ่งมีช่วงขาขึ้น-ขาลงเป็นธรรมดา แต่ตัวตัดสินที่ชัดเจนอยู่ในองค์ประกอบอื่น ซึ่งสำคัญไม่ต่างกัน

เพราะหากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การประกอบสร้าง Soft Power ตามแนวคิดของ Joseph Nye มีแหล่งที่มาอยู่ 3 ประการคือ (1.) วัฒนธรรม (2.) ค่านิยมทางการเมือง (3.) นโยบายทางการทูต 

สำหรับสหรัฐอเมริกา ประการแรกไม่ได้มีปัญหา แต่ทว่าประการที่ 2-3 นี่แหละ ที่อเมริกาภายใต้ยุคทรัมป์ 2.0 ถือว่าสอบตก เนื่องเพราะนับตั้งแต่กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง โดนัลด์ ทรัมป์ก็ประกาศความแข็งกร้าวทางนโยบายอย่างไม่ลดละ ราวกับรถไฟเหาะตีลังกาที่วิ่งแล่นโดยไม่มีเบรก

ทั้งการตัดลดงบ USAID ความช่วยเหลือในต่างประเทศ, ตัดงบการศึกษาวิจัย,ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) , ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส รวมถึงแสดงความขึงขังทางนโยบายในต่างกรรมต่างวาระอีกหลายคราว

บทบาทเหล่านี้ ในอดีตแม้จะมีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือเครื่องมือสำคัญในการสร้าง Soft Power ของอเมริกาที่สำคัญมากในห้วงที่ผ่านมา 

แต่ก็นั่นแหละ ตอนนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว

ทีนี้ ลองข้ามทวีปมาฝั่งเอเชีย จะว่าไปแล้วประเทศจีนเองก็ให้ความสำคัญกับ Soft Power มาหลายปีแล้ว ตามที่อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา กล่าวไว้ในคำแถลงการณ์ปี 2007 ใจความประมาณว่า ประเทศจีนจำเป็นต้องทำให้ตัวเองน่าดึงดูดมากกว่านี้ 

ซึ่งในเวลาต่อมา การทูตเชิงรุกและการมีส่วนร่วมในสถาบันพหุภาคี ทำให้ประเทศจีนมีสถานะที่ดีขึ้นในระดับนานาชาติ และถึงแม้โครงการ Belt and Road Initiative ที่มีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมต่อโลก กว่า 147 ประเทศของรัฐบาลจีน จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกับดักหนี้ผ่านการลงทุนและให้กู้ รวมถึงการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ/การเมือง

แต่โครงการดังกล่าวได้มอบโอกาสทางเศรษฐกิจและโครงสร้างสาธารณะให้กับประเทศต่างๆ มากมาย เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้การสนับสนุนภารกิจด้านสันติภาพ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม มีส่วนเสริมภาพลักษณ์ของจีนในฐานะผู้มีบทบาทระดับโลกที่มีความรับผิดชอบ

ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ที่นับวันความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความมั่นคงถูกสั่นคลอน และภาพลักษณ์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยก็นับว่าอ่อนแอลง ซึ่งจีนใช้ช่องโหว่นี้ในการแสดงตนเป็นพันธมิตรที่มั่นคงและเชื่อถือได้ต่อประเทศที่มุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ

รวมไปการถึงเรื่องศึกษาวิจัยที่จีนสามารถสร้างความดึงดูดได้มากขึ้น อาทิเช่น ในปี 2023 สี จิ้นผิงได้ประกาศแผนเชิญชาวอเมริกันรุ่นใหม่ 50,000 คนเพื่อเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนและศึกษาวิจัยในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ 

ซึ่งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของจีนกำลังรับสมัครนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันอย่างแข็งขัน โดยมีนักเคมีชื่อดังอย่าง Charles Lieber ได้เข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยชิงหัว

สิ่งเหล่านี้ยังแสดงออกผ่านเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ก้าวกระโดดอย่างมาก ทั้งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า AI หรือแม้แต่ความก้าวหน้าทางอวกาศ

ทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อทัศนคติที่ชาวโลกมีต่ออเมริกา และจีน โดยผลสำรวจความคิดเห็นของสถาบัน ISEAS Yusof-Ishak ในสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นว่า จีนมีความนิยมแซงหน้าสหรัฐฯ ในหลายประเทศแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่ชาวอเมริกันยังคงมีทัศนคติเชิงลบต่อประเทศจีนอยู่ แต่ก็ลดลงจากร้อยละ 81 เมื่อปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 77 ในปีนี้ 

กระนั้นก็ตาม สำหรับจีนเองก็มีปัญหาในบ้านอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ฯลฯ แต่การรุกคืบอย่างหนักผ่านวัฒนธรรมต่างๆ ประกอบกับช่องโหว่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น เท่านี้ก็มากพอให้ Soft Power จีน ขยายอาณาเขตอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ

และไม่ใช่แค่นั้น จีนยังกระจาย Hard Power ที่แข็งแกร่งและแผ่บารมีไปยังหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยรอบประเทศไทย 

กล่าวคือ เราหันไปทางซ้ายก็เจอเมียนมา ซึ่งจีนให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจและอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่นเดียวกันกับฝั่งกัมพูชา รวมไปถึงลาว กล่าวคืออาณาเขตอิทธิพลของจีนค่อยๆ กระชับมาเรื่อยๆ จนล้อมรอบไทยไว้หมดแล้ว

เมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเต็มรูปแบบ ทั้งในด้าน Soft Power และ Hard Power ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญความถดถอยทั้งจากภายในและภายนอก ประเทศไทยในฐานะประเทศที่อยู่ใจกลางภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนขั้วอำนาจ จำเป็นต้องรู้เท่าทัน ปรับยุทธศาสตร์ และเล่นเกมการทูตอย่างสมดุล 

Soft Power ของไทย จึงไม่ใช่แค่สินค้าวัฒนธรรมที่ขายได้ ขายดี แต่เราต้องมองให้ถึงการเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทและมีอำนาจต่อรองอย่างแท้จริง บนโลกที่เกมในกระดานอำนาจเปลี่ยนไป และอาจจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม

อ้างอิง : 

https://eastasiaforum.org/2025/05/11/trumps-usaid-cuts-only-accelerate-the-wests-miserly-convergence-with-china/

https://www.scmp.com/opinion/world-opinion/article/3310052/eroding-us-soft-power-trump-ceding-contest-china

https://www.socialeurope.eu/the-future-of-american-soft-power

https://fpif.org/soft-power-divide-china-advances-while-u-s-retreats/

https://www.cfr.org/blog/us-soft-power-spiraling-asia-china-filling-void