Skip links

Key Success ของคนทำ Festival ปั้นเทศกาลให้ปัง พร้อมดัน Soft Power

งานเทศกาล นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติได้จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลดั้งเดิม หรือ งานเทศกาลสมัยใหม่ ก็ล้วนแต่เป็นที่สนใจในระดับสากล 

ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่แนวคิดที่จะยกระดับและผลักดันงานเทศกาลของไทยให้มีหน้ามีตาทัดเทียมเทศกาลระดับโลก ด้วยความร่วมมือจาก TCEB, THACCA, OFOS และ EMA ซึ่งได้จัดการอบรมพิเศษในโครงการ Event Think Tank เป็นเวลา 2 วัน สำหรับทุกฝ่ายที่สนใจ Festival ยิ่งไปกว่านั้น ภายในงานยังได้รวมเอาคนในวงการที่ประสบความสำเร็จ มาร่วมแบ่งปันความรู้ และแชร์วิธีคิดที่น่าสนใจ แต่ละคนที่มาเรียกได้ว่ารุ่นใหญ่ทั้งนั้น โดยในวันที่ 2 ของการอบรม มีประเด็นที่เราเก็บมาฝากได้ดังนี้

1. นิมิตร พิพิธกุล เจ้าของงาน puppet festival / อุปนายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติ

“ทุกอย่างเป็นเทศกาลได้ แต่เทศกาลจะสร้างให้มีทุกอย่างไม่ได้”

ประโยคง่ายๆ ที่สรุปใจความได้อย่างครบถ้วน คือคุณนิมิตรกำลังบอกว่า เราสามารถจัดเทศกาลได้จากทุกอย่างนี่แหละ ตัวคุณนิมิตรเองก็จัดงานจากสิ่งเล็กๆ อย่าง “หุ่น” จนกลายมาเป็น “เทศกาลหุ่นโลก” ซึ่งจัดมาแล้วกว่า 28 ครั้ง โดยรวบรวมเอาหุ่นมาจากทั่วมุมโลก อันเป็นภูมิปัญญา วัฒนธรรม และสินค้าของแต่ละแห่ง 

แต่กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าเทศกาลจำเป็นต้องมีทุกอย่าง เพราะบางครั้งการทำให้มีทุกอย่าง เช่น อาหาร เสื้อผ้า ดนตรี กีฬา ฯลฯ อาจทำให้ตัวงานไม่เป็นที่จดจำ สุดท้ายแล้วคนก็ลืมว่ามันคืองานอะไร เพราะฉะนั้น ควรเลือกแก่นให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร ต่อให้สิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มแค่ไหนก็ตาม

“เมื่อเราทำเทศกาล ไม่ใช่ว่าเรา(คนไทย)รู้จักไหม แต่คือโลกรู้จักไหม เพราะทั่วโลกมี 193 ประเทศ และทุกประเทศมีหุ่น ซึ่งมันไม่ใช่แค่ของสำหรับเด็กเล่น แต่คือวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และสินค้าของแต่ละชาติ”

ในบริบทนี้ คุณนิมิตรยังกล่าวเสริมอีกว่า สำหรับการทำงานเทศกาล โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างชาติ “ความเคารพ” เป็นเรื่องสำคัญ ในที่นี้ไม่ใช่แค่การให้พื้นที่ ให้โอกาส หรือให้เวลาโดยเท่าเทียมกัน แต่เป็นการเคารพตัวตนและอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชน 

“อย่าเอาเขามาเปลี่ยน เราไม่แปร art เขามาเป็น product หรือมาทำให้ได้ภาพ เรานำเสนอตัวตน identity ของเขา

festival มันรุงรัง แต่สนุก ภาพไม่สวย แต่มี value”

และนอกจากเรื่องการให้เกียรติกับเครือข่ายแล้ว คุณนิมิตรยังให้ความสำคัญกับการเลือกใช้พื้นที่ เพราะทุกพื้นที่ย่อมมีคุณค่าของมัน เฉพาะยิ่งชุมชนโดยรอบ ที่จะมีส่วนเกื้อกูลการจัดงานของเรา

“ชุมชนคือต้นทางที่เราสามารถปั้นเป็นเทศกาลได้  เราต้องแสวงหาพื้นที่ หาเพื่อน หาคอมมูนิตี้

รวมถึงหา value ของพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เราจะไม่ต้องลงทุนมากเกินไป 

เหมือนนักบินอวกาศที่ไปปักธง เราต้องหาบ้านของเทศกาลเรา” 

ในประเด็นนี้ คุณนิมิตรยกตัวอย่างถึงประสบการณ์การจัดงานที่อัมพวา ในพื้นที่ซึ่งไม่มีใครสนใจ ต่อเมื่อลองไปลงมือทำดูแล้ว มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ให้ความสนใจ ชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มเข้าใจ ต่อมาจึงได้รับการสนับสนุนจากชุมชน มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งสร้างสถานที่จัดงานให้ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมของคนในพื้นที่ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ การจัดงานด้วยจุดเริ่มต้นจากหุ่นในโรงนา จนนำไปสู่เทศกาลหุ่นฟาง

“เราเอา local มาเป็นต้นทุก มาเป็น product เพราะฝรั่งต้องการหาอะไรใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยเห็น”

และอย่างที่กล่าวว่า การจัดเทศกาลหุ่นโลก ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ หรือเรื่องเด็กเล่น แต่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละแห่ง ดังนั้น ก่อนริเริ่มทำงานคุณนิมิตรจึงศึกษาค้นคว้าข้อมูลโดยละเอียด มีการจัดสัมมนา นิทรรศการ ทำสารคดี ศึกษาวิจัย ไหว้ครู ฯลฯ กล่าวคือ ลงไปล้วงลึก สัมผัส และเข้าใจในภูมิหลังความเป็นมา เมื่อนั้นเราก็จะรู้ถึงคุณค่า และต้นทุนที่เราสามารถนำมาต่อยอดเป็นงานที่มีมูลค่าได้

2. เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ

ในแวดวงของผู้จัดงาน คุณเสริมคุณ เรียกได้ว่าเป็น “เจ้าพ่ออีเว้นต์” ที่จัดงานมาแล้วตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันระบบนิเวศน์ของคนทำงาน โดยคุณเสริมคุณได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานเทศกาล โดยประเด็นที่เราอยากแบ่งปันมีดังนี้

Art Festival เทศกาลศิลปะ 

คุณเสริมคุณ ได้ยกตัวอย่างถึง Bangkok Art Biennale หนึ่งในเทศกาลศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี มีระยะเวลาแสดงงานถึง 4 เดือน กระบวนการช่วง pre-production 6 เดือน ส่วน theme ประจำปีมีการประกาศก่อนกว่า 1 ปีครึ่ง ตำแหน่งแห่งที่ในการแสดงงานก็หลากหลาย โดยในปี 2024 มีการคัดสรรศิลปินมาแสดงงานกว่า 76 ชีวิต ด้วยผลงานแตะหลัก 200 ชิ้น จาก 39 ทั่วโลก 

นับว่าเป็นงานเทศกาลศิลปะที่มีมูลค่าสูงที่สุด พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ/การท่องเที่ยว รวมถึงฉายภาพความเป็นศิลปะอันมีสุนทรียะให้แก่ตัวเมือง และสำหรับกรุงเทพฯ ก็ถือว่าเป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานสมบูรณ์พร้อม มีความสวยงาม และสะอาดกว่าหลายตัวเมืองในต่างประเทศ การจัดเทศกาลศิลปะจึงมีส่วนกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ทั้งที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ฯลฯ หรืออย่างเมืองเวนิส ก็เป็นตัวอย่างของเมืองที่จัดงานลักษณะนี้ทุกปี เพื่อหล่อเลี้ยงเมืองให้มีชีวิต และมีรายได้

คุณเสริมคุณ สรุปในประเด็นนี้ว่า งานเทศกาลมันเชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณะ เพราะฉะนั้น ทางเมืองและรัฐบาลกลางควรสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะมันเป็น public festival, public traffic อย่างแท้จริง

Art Fair งานแสดงและค้าขายศิลปะ

ตัวอย่างงาน Art Fair ระดับโลกที่คุณเสริมคุณ ยกมาให้เห็นมี Art Basel กับ Frieze สองงานระดับแถวหน้าของโลกที่เติบโตในประเทศต่างๆ แต่ทว่างานประเภทนี้ ด้วยความที่เป็นการค้าขายศิลปะ ประเด็นหลักจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนดู แต่ขึ้นอยู่กับคนซื้อ

“รัฐบาลพยายามจะเอางานนี้มา แต่ไม่ใช่ว่าเราเอามาจัดแล้วเขาจะโอเคนะ

เขาจะถามกลับเลยว่า มีคนซื้อหรือเปล่า?

ถ้าไม่มีคนซื้อเขาก็ไม่มา…อาจจะต้องให้สักพันล้าน เขาถึงจะมา”

ตัวอย่างที่คุณเสริมคุณพูดถึงคือเมือง Miami ซึ่งบรรดานักสะสมรวมตัวกันและการันตียอดซื้อเลยว่าแตะหลัก 2 พันล้านแน่ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเกิดงาน Art Basel ขึ้นที่เมือง Miami ขึ้น แม้จะไม่ได้ตูมตามเหมือนเมืองแม่อย่าง Basel แต่ก็สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยทีเดียว 

โดยองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการคือ “ภาษีงานศิลปะ” คุณเสริมคุณกล่าวว่า ในเมือง Basel นั้น ภาษีงานศิลปะเป็นศูนย์ คือซื้องานศิลปะที่นั่นไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่แน่นอนว่า หากผู้ซื้อนำกลับไปยังประเทศของตน ก็ย่อมต้องเสียภาษีที่ปลายทางอยู่ดี ฉะนั้นแล้ว ในเมือง Basel จึงมีธุรกิจแวดล้อมขึ้นมาเป็นโกดังรับฝากงานศิลปะ 

ทั้งนี้ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ Soft Power ด้านศิลปะ คุณเสริมคุณเชื่อว่า หากประเทศไทยสามารถยกเว้นภาษีงานศิลปะได้ จะนำไปสู่การไหลบ่าของแกลเลอรี่ และธุรกิจแวดล้อมอีกจำนวนมาก

3. สุชาติ อินทร์พรหม หรือ ‘เฮียหน่อย หมอลำไอดอล’ / ผู้จัดงาน ปลาร้าหมอลำ

หากจะกล่าวถึงงานเทศกาลแบบไทยๆ จำพวกงานประเพณีท้องถิ่น งานครื้นเครง “หมอลำ” ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างแรกๆ ที่สะท้อนสีสันความเป็นไทยได้พอสมควร

โดย “เฮียหน่อย” ก็เป็นตัวแทนของคนภาคกลางที่หลงใหลในวัฒนธรรมอีสาน โดยเฉพาะหมอลำ และเชื่อมั่นว่าประเพณีดังกล่าวเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล 

“หมอลำสามารถเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมทำได้จริง แค่เสียงพิน เสียงแคนขึ้นมา ทั่วโลกก็รู้เลย เขาคุ้นลิ้นกับปลาร้า และคุ้นหูกับเสียงแคน

คนต่างชาติสามารถฟ้อนและเต้นพร้อมกัน ในท่าเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย 

ฝรั่งชอบตามรถแห่ และเวทีหมอลำ สิ่งนี้แหละจะดึงเม็ดเงินไม่น้อยหน้ากับสงกรานต์”

อย่างไรก็ดี ความสนุกที่เฮียหน่อยพูดถึง ไม่ได้มีเพียงความม่วนจอยตามจังหวะหมอลำเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมโดยรอบ ทั้งโรงแรม ที่พัก อาหาร แม้กระทั่งสุราพื้นบ้าน ซึ่งเฮียหน่อยบอกว่า จริงๆ แล้วเป็นที่ชื่นชอบของฝรั่งเหมือนกัน 

ดังนั้น หมอลำจึงเป็นตัวจุดประกายให้เศรษฐกิจโดยรอบขยับตัวขึ้น โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของหมอลำที่หมุนเวียนในอีสานสูงถึง 6 พันล้านบาท/ปี และหากมีการสนันสนุนให้เติบโตอย่างแข็งแรงยิ่งขึ้น เฮียหน่อยมั่นใจว่าผลลัพธ์ก็จะยิ่งสูงขึ้น 

และที่สำคัญ เศรษฐกิจระดับมหภาคก็ย่อมโปรยสู่ครัวเรือน เฮียหน่อยพูดย้ำอยู่หลายครั้งว่า “หมอลำคือปากท้อง” ในความหมายคือวิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำมาหากิน จนลืมตาอ้าปากได้จากอาชีพในวงหมอลำ

“หมอลำคือปากท้อง หนึ่งวง มีบุคลากรประมาณ 200 กว่าคน

และคนกลุ่มนี้ส่วนมากการศึกษาน้อย บางคนเป็น LGBTQ+ พวกเขาไม่ได้มีโอกาสมากขนาดนั้น

รายได้ตรงนี้จึงเป็นดั่งชีวิตและครอบครัว บางคนได้ปลดหนี้ บางคนเอาเงินไปไถ่ที่นากลับมา”

อย่างไรก็ดี เฮียหน่อยเชื่อว่าวงการหมอลำต้องมีการยกระดับหากจะก้าวไปสู่ระดับโลก เช่นว่า การรับรองอาชีพที่เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อการันตีตัวบุคคลและรับรองตำแหน่งอาชีพ นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรลืมอีกอย่างคือ “ความต้องการของตลาด”

“ทุกคนพูดตลอดว่าจะส่งออกยังไง แต่ไม่มีใครถามว่าฝรั่งอยากฟังอะไร?”

เฮียหน่อยเล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์การทำวงหมอลำ หลายครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง มักจะเจอกับ “แรงเสียดทาน” จากคนวงในที่ไม่ยอมรับ หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ถูกเปลี่ยน เฮียหน่อยเล่าถึงคราวที่เพิ่มจอ LED ในเวที เปลี่ยนสีสันของฉาก

หรือเปลี่ยนเทคนิคจัดไฟ คราวนั้นก็เจอกับความไม่เข้าใจของคนในวงการ แต่ถึงที่สุดแล้ว เฮียหน่อยก็ทำให้เห็นและเป็นที่ยอมรับในที่สุด

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างให้สอดรับกับการบริโภคของชาวต่างชาติ ก็พึงจำเป็นเช่นกัน อย่างน้อยๆ เรื่องเวลาโชว์ที่ปกติเวลาหมอลำแสดงครั้งหนึ่ง ก็มีต่ำๆ ตั้งแต่สามทุ่ม ยันตีสี่ ซึ่งเฮียหน่อยใช้คำว่า “มันอิ่มเกิน” คือนานเกินไป เกินความพอดีที่ลงตัว หากจะปรับเปลี่ยนให้เข้าถึงต่างชาติมากอีกหน่อย อาจต้องย่นเวลาลง รวมถึงลำดับโชว์ให้ครบรสในระยะเวลาที่ “กำลังอิ่มพอดี”

อันที่จริง ภายในงาน Event Think Tank วันที่ 2 นี้ ยังมีผู้บรรยายอีกหลายคนที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ คุณรัฐ จิโรจน์วณิชชากร นายกสมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA) ที่กล่าวถึงงาน BANGSAEN42 ว่า คนกลุ่มนี้ใช้มาราธอนเป็นเอนเตอร์เทนเมนท์อย่างหนึ่ง ฉะนั้นแล้ว การทำ Festival จึงควรเริ่มจากความชอบ ความสนุก เมื่อถึงตอนนั้นโอกาสทางธุรกิจค่อยตามมา และต้องใจเย็นๆ เพราะกว่าที่งานวิ่งรายการนี้จะ “ติดลมบน” ก็ใช้เวลาร่วม 10 ปี

หรืออย่าง คุณอภิชาติ สถิตธรรมนูญ ผู้จัด white party เทศกาลที่ขึ้นชื่อว่าเป็น gay fest ที่ใหญ่ที่สุดในช่วงปีใหม่ ก็พูดเอาไว้อย่างมั่นใจว่า

“ศักยภาพเราไประดับโลกได้ ไม่ว่าจะทีมงาน ครีเอทีฟ รวมถึง supplyer ต่างๆ”

ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับ คุณธันฐภัทร์ ชมพูผล CEO บริษัท​ ไลท์ซอร์ส จำกัด

ตัวแทนของฝ่ายแสง สี แสง ซึ่งผ่านงานใหญ่ๆ มานับไม่ถ้วน 

“เราอยากออกแบบให้เทียบเท่าระดับโลก ให้คนไทยได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ โดยไม่ต้องบินไปนอกประเทศ”

ทั้งหมดนี้ กล่าวได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการ Festivel ไทย ซึ่งมีการผนึกกำลังของคนในวงการ พร้อมทั้ง upskill reskill กันอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการต่อยอดให้ Festivel เติบโตต่อไปในระดับสากล เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามจุดมุ่งหมายของคำว่า Soft Power ที่หลายฝ่ายปรารถนาให้เกิดขึ้นโดยแท้จริง