Silicon Shield: โล่กำบังของไต้หวัน ใต้เสียงคำรามจากจีน
“ถ้าไต้หวันล่มสลาย ชิปจะหายครึ่งโลก” คำเปรียบเปรยข้างต้นนี้ฟังดูจะไม่ได้เกินเลยนัก เพราะเกาะเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางการผลิตชิปที่สำคัญที่สุดของโลก และยึดครองส่วนแบ่งในตลาดไปถึง 65% โดยบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) เพียงบริษัทเดียว ก็มีส่วนแบ่งตลาดการผลิตสูงถึง 53% ในปี 2021 โดยมีบริษัทเทคชั้นนำ อาทิ Apple, Microsoft, Amazon, Alphabet และอีกมากมายเป็นฐานลูกค้าสำคัญ กล่าวอย่างรวบรัดได้ว่า ไต้หวันคือผู้ผลิตมันสมองให้อุปกรณ์เทคโนโลยีกว่าครึ่งค่อนโลก ทว่าความสำคัญไม่ได้มีเพียงแค่นั้น เพราะการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวัน ยังกลายเป็นโล่ป้องกันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนระอุขึ้นทุกวันอีกด้วย จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเซมิคอนดักเตอร์ แต่เดิม เศรษฐกิจไต้หวันก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก คือเน้นพึ่งพาภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นหลัก จนช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลไต้หวันได้มองเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงสงครามเย็นนั้น เทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นมาใช้ในการทหาร เริ่มแพร่หลายและปรับเปลี่ยนมาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากขึ้น ไต้หวันจึงได้วางรากฐานสำคัญผ่านการก่อตั้ง Industrial Technology Research Institute (ITRI) ในปี 1973 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างจริงจัง จนในที่สุดจึงก่อตั้ง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) ขึ้นในปี 1987 ซึ่งเป็นการสร้างโมเดลธุรกิจแบบ “Foundry” คือรับจ้างผลิตชิปให้กับบริษัทอื่น พูดง่ายๆ ก็เสมือน OEM รับผลิตชิปขั้นสูงนั่นเอง ถึงแม้ช่วงแรกลูกค้าจะยังไม่เยอะ แต่ในไม่นานก็เป็นไปตามคาดจริงๆ เพราะเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันที่ก้าวกระโดดในขณะนั้น ทำให้มีสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญ หลายบริษัทไม่มีโรงงานผลิตชิปขั้นสูงเป็นของตนเอง ครั้นจะก่อตั้งโรงงานขึ้นมาก็เหลือบ่ากว่าแรง ทำให้ TSMC กลายเป็น Outsource ที่เนื้อหอมที่สุดนับแต่นั้นเป็นต้นมา เรื่องนี้จะบอกว่าทางการไต้หวันแทงม้าถูกตัวก็เห็นจะได้ แต่อย่างไรเสีย คงเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ผู้นำประเทศมากกว่า นับตั้งแต่การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง สร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และทั้งหมดคือการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นระบบ โดยในปี 2025 บริษัท TSMC ตั้งเป้าว่าจะผลิตชิปขนาด 2 nm มาสู่ตลาด ซึ่งจะเป็นชิปขนาดที่เล็กที่สุดและทรงประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมีมา เกราะป้องกันที่มองไม่เห็น ชิปขนาดเล็กที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของเกาะไต้หวัน