“ชิโอะปัง” หรือ “ขนมปังเกลือ” เป็นเมนูที่ถูกพูดถึงในบ้านเรามาสักพักแล้ว ซึ่งบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่ามันมาจากเกาหลี แต่ไม่ใช่ เพราะจุดเริ่มต้นมาจากญี่ปุ่นต่างหาก และที่สำคัญ นี่ไม่ใช่เมนูที่ “ปัง” ตั้งแต่เปิดตัว ทว่าใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะจุดติด
จุดเริ่มต้นของชิโอะปัง มาจากฤดูร้อนอันอบอ้าวของญี่ปุ่นเมื่อประมาณปี 2003-2004 ซึ่งแน่นอนว่าอากาศร้อนๆ แบบนี้ คงไม่มีใครอยากเข้าร้านเบเกอรีกันหรอก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับ คุณ Mitoshi Hirata เจ้าของร้านเบเกอรีที่ชื่อ “Pain Maison” ในย่านยาวาตาฮามะ เขาคือผู้รังสรรค์เมนูนี้ในช่วงที่คนบริเวณนั้นหนีไปกินโซเม็งเย็นกับแตงโมเพื่อดับร้อนกันหมด
สำหรับสถานการณ์ของร้านเบเกอรี ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปคงไม่ดีแน่ คุณ Hirata จึงถามตัวเองว่า “จะทำยังไงให้คนอยากกินขนมปังในช่วงฤดูร้อน?”
คิดไปคิดมา เขาจึงเริ่มจากสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด นั่นก็คือ “เกลือ”
ใช่แล้ว, เขาคิดว่า ร่างกายที่เสียเหงื่อเยอะในหน้าร้อน ถ้ามีขนมปังที่เติมเกลืออย่างพอเหมาะ มันอาจจะเวิร์กก็ได้
พร้อมกันนั้น ลูกชายของเขายังเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ขนมปังฝรั่งเศสรสเค็มกำลังเป็นที่นิยมมาก เมื่อได้ยินเช่นนั้น เขาจึงคิดได้ว่า บางทีขนมปังฝรั่งเศสเหล่านั้นอาจจะแข็งเกินไปสำหรับผู้สูงอายุหรือเด็กๆ ในยาวาตาฮามะ
และก็นั่นแหละ พอปิ๊งไอเดียปุ๊บ เขาก็ลงมือทันที เขาเลือกทำขนมปังที่กรอบนอก นุ่มเนย เพราะเขาเลือกใส่เนยเป็นส่วนผสมให้มากขึ้น โดยพยายามไม่คิดถึงเรื่องต้นทุนมากนัก เพราะต่อให้ขาดทุนในช่วงแรก แต่ถ้ามันนำมาซึ่งกำไรได้ในภายหลัง ใครเล่าจะไม่ลองทำ
เขาใช้วิธีม้วนแป้งห่อเนยไว้ข้างใน และเมื่อเนยละลาย จะช่วยทำให้ฐานขนมปังมีความกรอบมากขึ้น ส่วนเกลือที่เลือกใช้ หลังจากที่ลองผิดลองถูกอยู่พักหนึ่ง คุณ Hirata ก็พบว่าต้องใช้เกลือที่ไม่ละลายง่ายเวลานำไปอบ และยังต้องเข้ากับเนื้อสัมผัสของแป้งขนมปังได้ดีอีกด้วย ทั้งหมดทั้งมวลมันคือ “ความกลมกล่อม” ซึ่งเขาได้ข้อสรุปที่ “เกลือสินเธาว์”
เมื่อค้นพบสูตรที่ลงตัว ต่อมาก็ให้คนใกล้ชิดเป็นผู้ทดสอบ แต่ถึงแม้ชิโอะปัง จะได้เสียงตอบรับที่ดีจากคนรอบตัวคุณ Hirata ทว่าเมื่อวางขายอย่างเป็นทางการ ลูกค้ากลับมองว่ามันเหมือน Butter Roll ที่แพงกว่า 10 เยน ก็เลยไม่มีใครสนใจ พูดง่ายๆ ว่า ขายไม่ค่อยได้
แต่คุณ Hirata ก็ยังมั่นใจในรสชาติ ในเมื่อคนรอบตัวบอกว่าอร่อย แสดงว่ามันก็ต้องมีดีอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ลูกค้าจะรู้ได้ยังไงว่าอร่อย …ถ้าพวกเขาไม่ได้ลองชิม
ต่อมา เขาก็เริ่มแจกให้ชิมฟรี และมันก็ถูกปากคนญี่ปุ่นตามคาดจริงๆ จนในที่สุดก็ติดตลาด
โดยคนกลุ่มแรกที่หลงรักชิโอะปัง คือคนงานในตลาดปลา เพราะมันกินง่าย หยิบมือเดียวก็พอ แถมรสเค็มนิดๆ ยังช่วยเติมพลังในวันที่เหนื่อยล้าได้ดีพอๆ กับเกลือแร่
ต่อมาก็ลามไปถึงกลุ่มนักเรียน และบรรดาแม่ๆ ที่มาต่อแถวซื้อจนกลายเป็นกระแสในระแวกร้าน
จากนั้นก็เริ่มโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง บอกต่อกันปากต่อปากจนช่องทีวีชื่อดังอย่าง NHK มาทำสกู๊ปพิเศษ กระทั่งร้านอื่นเริ่มเลียนแบบ หรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่ระดับ 7-Eleven Japan ก็ยังมีวางขาย
คุณ Hirata บอกว่า ระหว่างทางใช้เวลาประมาณ 4 ปี กว่าที่ชิโอะปังจะถูกบอกต่อแบบนี้ แต่ใครจะคิดว่าในเวลาต่อมา ชิโอะปังจะสามารถขายได้กว่า 6,000 ชิ้นต่อวัน นับว่ามาไกลมากจากวันที่ต้องแจกฟรี
กระนั้นก็ตาม แม้สิ่งที่เขาคิดค้นจะประสบความสำเร็จ แต่เขาไม่เคยคิดจดสิทธิบัตรสูตรดังกล่าวไว้แต่เพียงผู้เดียว โดยคุณ Hirata ให้เหตุผลว่า แค่เห็นขนมปังที่เขาคิดค้นแพร่หลายไปทั่วประเทศ แค่นี้ก็รู้สึกดีแล้ว และเหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือการได้รับการยอมรับจากผู้คนในแวดวงเดียวกัน
ลองคิดดูว่าคนทำขนมปังทั่วโลกมีตั้งกี่คน แต่จะมีสักกี่คนที่คิดเมนูมาแล้วคนอื่นต้องทำตามโดยทั่วกัน แค่นี้มันก็ยิ่งใหญ่อย่างที่แกว่าจริงๆ
ในปัจจุบัน ร้าน Pain Maison ที่เมืองยาวาตาฮามะยังคงเปิดให้บริการอยู่ แม้จะมีสาขาในโตเกียวและที่อื่นๆ แล้ว แต่กลิ่นหอมของขนมปังที่กรอบนอก นุ่มใน และชุ่มเนยจากสาขาต้นตำรับ ก็ยังชวนให้ผู้คนมากมายน้ำลายสอยิ่งกว่าที่ไหนๆ
จนเมื่อชิโอะปังครองใจคนญี่ปุ่นได้ ไม่นานก็แพร่ไปตลาดเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง และแม้แต่ประเทศไทย ที่ตอนนี้หลายคนเริ่มคุ้นชื่อและถามหารสสัมผัสแบบต้นตำรับกันมาสักพักแล้ว
อย่างไรก็ดี เรื่องราวของชิโอะปังทำให้เห็นว่า หัวใจของมันไม่ได้อยู่ที่ความกรอบนอก นุ่มเนยเพียงอย่างเดียว เพราะหัวใจของมันยังอยู่ที่ความพยายาม อันเกิดมาจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่ทำให้มันกลมกล่อมไปด้วยเรื่องราวที่มีรสชาติ
และความพยายามของคุณ Hirata ก็ยังอบอุ่นพอจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ใกล้เตาอบที่ยาวาตาฮามะก็ตาม
ไม่แน่นะ หากวันไหนที่เหนื่อยล้า บางทีการได้กิน “ชิโอะปัง” สักคำ อาจช่วยให้คุณอดทนรอ “วันที่ปัง” ของตัวเองได้อีกนิด ก็ได้นะ