สายบุญเตรียมตัวให้พร้อม ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต เริ่ม 3-11 ตุลาคม นี้ เทศกาลแห่งการชำระจิตใจและร่างกาย ตามรอยศรัทธา สืบทอดประเพณี
ประเพณีถือศีลกินผัก จ. ภูเก็ต เทศกาลถือศีลชำระล้างจิตใจและร่างกายเปี่ยมด้วยแรงศรัทธาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยเวียนมาถึงอีกครั้งในปีนี้ พร้อมให้นักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์แบบเต็มอิ่ม 9 วัน 9 คืน ระหว่างวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ขอเชิญชวนนักเดินทางร่วมชำระล้างร่างกายและจิตใจ ในประเพณีสำคัญของจังหวัดภูเก็ตอย่าง “ประเพณีถือศีลกินผัก” หรือ เจี๊ยะฉ่าย ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 3 – 11 ตุลาคม 2567 เป็นงานที่มีความหลากหลายในทุกมิติ ทั้งด้านความเชื่อ ความศรัทธา ประเพณีเก่าแก่ มนต์เสน่ห์ของอาหารที่สร้างสรรค์ และกิจกรรมจากอ๊ามทั่วเกาะภูเก็ต โดยปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้าร่วมประเพณีนี้กว่า 650,000 คน โดยทีเส็บมีเป้าหมายในการยกระดับงานให้เป็นงานเทศกาลระดับนานาชาติ เพื่อให้ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” เป็นจุดหมายสำหรับกลุ่มนักเดินทางรุ่นใหม่
หากพูดถึงเทศกาลกินเจ ภูเก็ตจะเป็นชื่อที่ทุกคนนึกถึงในอันดับต้นๆ เป็นเพราะภูเก็ตจัดประเพณี “ถือศีลกินผัก” หรือ “เจี๊ยะฉ่าย” ได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งในด้านการถือศีลชำระล้างจิตใจและร่างกายให้สะอาด บริสุทธิ์
โดยตลอด 9 วัน 9 คืนระหว่างประเพณีถือศีลกินผัก ผู้เข้าร่วมงานไม่เพียงแต่จะได้ถือศีลละเว้นจากเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และความเชื่อดั้งเดิมที่ยังคงได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น
เริ่มตั้งแต่ “พิธีอิ้วเก้ง” หรือ “แห่พระรอบเมือง” เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละศาลเจ้าที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน เป็นการออกเยี่ยมขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่เพื่ออวยพรให้กับประชาชนทั่วไป โดยชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านเรือนและคุกเข่าอยู่ในอาการสงบนิ่งเพื่อรับพร จากองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป
พิธีที่สอง คือ “พิธีโก้ยโห้ย” หรือ “พิธีลุยไฟ” เป็นพิธีกรรมเพื่อเป็นการชำระพลังไม่ดีออกจากร่างกาย พิธีโก้ยห่าน หรือ พิธีสะเดาะเคราะห์ ซึ่งจะทำหลังจากพิธีลุยไฟ โดยการตัดกระดาษตัดเป็นรูปตนเองเขียนชื่อกำกับไว้ พร้อมผักกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น จากนั้นต้องเดินข้ามสะพานให้บรรดาม้าทรงปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และประทับตราสัญลักษณ์หลังเสื้อเป็นอันเสร็จพิธี และสุดท้าย พิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ หรือพิธีส่งพระ ที่จะมีขบวนแห่พระไปรอบเมืองของศาลเจ้าหลาย ๆ แห่งในเมืองภูเก็ต เพื่อส่งองค์กิ้วอ่องไต่เต่ ผู้เป็นประธานในพิธีกลับสวรรค์ที่หน้าเสาโกเต้งช่วงเวลา 22:30 น. เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตูไฟทุกดวงในอ๊ามต้องดับสนิทและปิดประตูใหญ่ พิธีส่งพระถนนทุกสายในตัวเมืองภูเก็ต จะเต็มไปด้วยประชาชนที่มาส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่กลับสู่สวรรค์ เป็นพิธีที่ต้องมาชม โดยเฉพาะช่วงถนนถลาง ถนนภูเก็ต วงเวียนหอนาฬิกา และเส้นทางไปจนสุดสะพานหิน
นอกเหนือจากพิธีกรรมตามประเพณีแล้ว ศาลเจ้าหรืออ๊ามโบราณของจังหวัดภูเก็ตนอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการจัดงานแล้ว ยังขึ้นชื่อในเรื่องขอการขอพรให้สมหวังในด้านต่าง ๆ เช่น ศาลเจ้ากะทู้ หรือ อ๊ามกะทู้ ขึ้นชื่อในด้านการขอพรให้เป็นผู้มีเสน่ห์ เป็นที่รักแก่คนทั้งหลาย และห่างหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ต่อมา ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย หรือ อ๊ามจุ้ยตุ่ย เป็นอ๊ามเก่าแก่ของภูเก็ตนิยมไหว้ขอพรให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
ศาลเจ้าบางเหนียว หรือ อ๊ามบางเหนียว มีความโดดเด่นในเรื่องของการขอพรด้านการค้าขาย การงาน การเงิน ให้มีความมั่นคงเจริญรุ่งเรือง และ ศาลเจ้าท่าเรือ หรือ อ๊ามท่าเรือ ภายในศาลเจ้ามี องค์พระโป้เส่ง ไต่เต่ (หงอ จินหยิน) เป็นพระประธาน ซึ่งมีความเชื่อว่าท่านเป็นเทพเจ้าที่มีความสามารถในวิชาแพทย์แผนโบราณการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ศาลเจ้าสะปำ หรือ อ๊ามสะปำ เป็นอีกหนึ่งอ๊ามที่นักธุรกิจ นักเดินทางหลายคนเดินทางเพื่อไปขอพรในเรื่องของ ธุรกิจ การงาน การเงิน ให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น
และพลาดไม่ได้กับเมนูอาหารเจเลิศรส เพราะภูเก็ตได้รับการคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็น Creative Cities of Gastronomy หรือ เป็นเมืองที่มีความสร้างสรรค์ทางด้านอาหาร และยังเป็นเมืองแรกในอาเซียนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ด้วย ดังนั้นนักเดินทางที่เข้าร่วมงานประเพณีถือศีลกินผักจะได้พบกับอาหารที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อสุขภาพในหลากหลายรูปแบบทั้งร้านเด็ดสตรีทฟู้ดชื่อดังไปจนถึงร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ต่างพากันรังสรรค์อาหารจานผักขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน เพื่อจัดเมนูสุดพิเศษไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ไปลิ้มลอง อาทิ ต่าวกั้วจี่ หรือ เต้าหู้ทอดยัดไส้ถั่วงอกทอด, ขนมจีโจ้, เบเฮ่จี่, ห่อหมกเจ, หลนเต้าเจี้ยวเจ, โอวต้าวเจ, หมี่หุ้นแกงปูเจ, โลบะเจ, หมี่ฮกเกี้ยน, แกงไตปลาเจ, แกงเหลืองเจ, ผัดสะตอเจ, ยำส้มโอเจ ฯลฯ
ใครที่อยากใช้โอกาสเทศกาลถือศีลกินเจในปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการชำระจิตใจ เพิ่มพลังงานดีให้กับร่างกาย พร้อมสัมผัสกับประสบการณ์และวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ ขอให้ปักหมุด “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” ระหว่าง 3 – 11 ตุลาคม 2567 นี้ ไว้ได้เลย