ถ้าไม่มีผู้พันแซนเดอร์ส ก็จะไม่มี KFC และโลกที่ไม่มี KFC ก็คงจะเป็นโลกที่มีความสุขลดลง เพราะแบรนด์ KFC กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขในวันพิเศษ ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน โดยเฉพาะเด็กๆ ทั่วโลก
.
เนื้อหาข้างต้นนี้เกิดขึ้นในงานแถลงข่าว KFC Bucket Search อย่างไรก็ดี โลกที่ไม่มี KFC ก็เกือบจะเกิดขึ้นแล้ว เนื่องเพราะผู้พันแซนเดอร์ส ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ที่เกี่ยวพันกันยุ่งเหยิง ตั้งแต่ 6 ขวบ ครอบครัวก็ต้องมาเสียคุณพ่อ และแม้ว่าเขาจะมีฝีมือการทำอาหาร ถึงขนาดที่เคยชนะการแข่งขันทำอาหารประจำหมู่บ้านมาแล้วในวัย 7 ขวบ แต่ศักยภาพนี้ก็ไม่ถูกนำมาต่อยอด เนื่องจากเขาต้องออกจากโรงเรียน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่บ้าน และเด็กชายแซนเดอร์สก็ต้องไปหางานทำตั้งแต่วัยเยาว์
.
โดยกว่าที่ ‘เด็กชายแซนเดอร์ส’ จะกลายมาเป็น ‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ก็ปาไปค่อนชีวิตแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น กว่าจะเรียกได้อย่างเต็มปากว่าธุรกิจไก่ทอดของเขาประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ก็เข้าสู่วัยเกษียณแล้วด้วยซ้ำ
.
เห็นได้ชัดว่า “ปัญหาครอบครัว-ความยากจน-การศึกษา” สามปัญหานี้ เป็นคนละเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออก และยังเป็นสิ่งที่ฉุดคร่าชะตาชีวิตของคนๆ หนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีอีกหลายรายที่ประสบกับภาวะดังกล่าว แต่ทว่าไม่มีโอกาสที่ศักยภาพนั้นๆ ถูกนำมาต่อยอด ถึงที่สุดแล้ว ชะตากรรมแห่งชีวิตก็พรากโอกาสเหล่านั้นไปอย่างน่าเศร้า
.
เรื่องราวข้างต้น นับว่าเป็นแรงบันดาลใจให้แก่หลายชีวิต ซึ่งกำลังต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา
.
ด้วยเหตุนี้ KFC ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สร้างหลักสูตรการเรียนที่มีความยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตเด็ก เฉพาะยิ่งกับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยข้อมูลจาก กสศ. ระบุว่า ในปัจจุบัน มีเยาวชนที่ไม่พบข้อมูลในฐานการศึกษาอยู่กว่า 1.02 ล้านคน
.
ทั้งนี้ ภัทรา ภัทรสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายบริหารแบรนด์ เคเอฟซี ประเทศไทย ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ไว้ว่า
.
“เราร่วมมือกับ กสศ. เพื่อค้นหาศักยภาพที่หายไป ทำให้เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของเขา ให้น้องๆ ค้นพบตัวเอง เป็น Believe ของแบรนด์ เพราะหลายคนมาทำงานที่นี่ แล้วก็ออกไปเปิดร้านเอง เราเลยอยากเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เพราะหลักสูตร KFC คือหลักสูตรสำหรับการใช้ชีวิตจริงๆ”
.
นอกจากนี้ ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ยังเพิ่มเติมอีกว่า
.
“เด็กกลุ่มนี้ที่มีความซับซ้อน เป็นโจทย์ที่ยาก แต่เรากำลังส่งสัญญาณไปให้เอกชนที่อื่นๆ ว่าด้วยบทบาทของเอกชนที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ เราอยากให้เอกชนมาทำเรื่องนี้ด้วยกัน ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ถ้าเราทำสำเร็จทุกฝ่ายก็ได้ผลตอบแทนสูงสุด ทั้งประเทศ เยาวชน สังคม และเอกชน ต้องมีทุกฝ่ายมาช่วยกัน การศึกษาเพื่อปวงชนจึงจะสำเร็จ”
.
โครงการนี้เป็นการเสริมสร้าง “ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ” เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง จากคนทำงานตัวจริง ด้วยรายวิชาที่หลากหลาย อาทิเช่น ด้วยใจรักนักบริการ, ตัวตึงวงการอาหาร, ปรมาจารย์ด้านการครัว, จักรวาลภาษาในโลกธุรกิจ, การสื่อสารและการตลาดนอกกรอบ, วิชาครีเอทีฟเปลี่ยนโลก ฯลฯ รวมถึงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ
.
สามารถติดตามข่าวสาร หรือร่วมบริจาคเพื่อส่งเสริมศักยภาพที่หล่นหายได้ในช่องทางของ KFC ประเทศไทย และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)