Skip links

Premier League: Super Soft Power แห่งโลกกีฬา

เคยมีคำกล่าวว่า ประเด็นสนทนาที่จะทำให้ชายแปลกหน้ากลุ่มหนึ่งได้รู้จักกันในเวลาอันสั้นนั้นง่ายนิดเดียว เพียงแค่โยนเรื่องฟุตบอลไปในวงสนทนานั้น เพียงแค่นี้การสนทนาที่เหลือก็ไหลลื่นแล้ว เพราะการเปิดบทสนทนาเรื่องฟุตบอล เป็นวิธีการที่สามารถละลายกำแพงชายแปลกหน้าให้เจรจากันง่ายขึ้น

อีกทั้งในขณะเดียวกันยังแสดงถึง “พลังอำนาจ” หรือ “Soft Power” ของโลกลูกหนัง โดยเฉพาะลีกสูงสุดของอังกฤษได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หากกล่าวกันด้วยเรื่องของฟุตบอล จำนวนมากมักจะนึกถึงทีมในอังกฤษเป็นอันดับแรกก่อนเสมอ

แต่กว่าที่ฟุตบอล “พรีเมียร์ลีก” จะกลายมาเป็นหัวข้อสนทนาในชีวิตประจำวันของคนอีกมุมโลก ก็มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ทว่าเป็นผลลัพท์มาจากการวางแผน และดำเนินการตามกลยุทธ์ เพื่อให้เกาะอังกฤษมีลีกฟุตบอลมีคุณภาพ ที่สนุกสนาน น่าชม

เริ่มตั้งแต่เงินทุนสนับสนุนที่มอบให้แต่ละสโมสรตามขั้นบันได(พิจารณาตามอันดับตารางคะแนน และความสมบูรณ์พร้อมของสโมสรนั้นๆ) กล่าวคือ ยิ่งทีมไหนอยู่อันดับสูงๆ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ก็ยิ่งได้รับเงินส่วนนี้เยอะ โดยตัวเลขในปัจจุบัน แม้แต่ทีมบ๊วยท้ายตารางก็ยังได้รับเงินส่วนนี้อยู่ในหลักร้อยล้านปอนด์ต่อฤดูกาลเลยทีเดียว

และแน่นอนว่า เงินส่วนนี้แต่ละสโมสรก็นำไปปรับปรุงพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไป ตั้งแต่สนามแข่ง สนามซ้อม โรงยิม ศูนย์ฝึกเยาวชน ฯลฯ และที่สำคัญคือ นักเตะ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘สินค้า’ แห่งโลกลูกหนัง และเพื่อให้เกมการแข่งขันตื่นเต้นเร้าใจมากยิ่งขึ้น การนำเข้าแข้งจากต่างชาติ จึงเป็นหนึ่งในวิธีการอันสามารถยกระดับคุณภาพลีกได้ 

ตัวอย่างเช่น work permit หรือใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทางพรีเมียร์ลีกมีการผ่อนปรนมาตรการ ให้นักเตะต่างชาติสามารถเข้ามาค้าแข้งในเมืองผู้ดีได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น กระทั่งล่าสุด สมาคมฟุตบอลอังกฤษอนุญาตให้สโมสรลงทะเบียนนักเตะที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานได้ โดยทีมในพรีเมียร์ลีกได้รับโควตาให้ลงทะเบียนได้มากสุด 4 คน

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในระดับชุมชน ให้เยาวชนในแต่ละพื้นที่ สามารถเข้าถึงการฝึกซ้อมอย่างมีมาตรฐานมากขึ้น และเมื่อฟุตบอลในประเทศเข้มแข็งแล้ว มีคุณภาพแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องการส่งออกสู่นอกประเทศ ซึ่งพรีเมียร์ลีกใส่ใจในเรื่องนี้ตั้งแต่เวลาการแข่งขัน โดยการเลือกเวลาการแข่งขันให้เหมาะสมกับกลุ่มคนดูในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าการแข่งขันที่เกิดขึ้น จะมีตั้งแต่เที่ยงๆ บ่ายๆ จนถึงประมาณสองทุ่มเศษตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาที่คำนวนมาแล้วว่า แฟนบอลจากอีกซีกโลกยังสามารถรับชมได้โดยที่ไม่ดึกเกินไป

หรือแม้แต่การจัดทัวร์ให้สโมสรต่างๆ กระจายไปปรีซีซั่นกันที่ทวีปอื่นๆ โดยมีนโยบายที่ชัดเจน อย่างในเอเชีย ในช่วงแรกมีข้อกำหนดว่า จะต้องมีสโมสรในพรีเมียร์ลีกไปปรีซีซั่นในเอเชียทุกๆ สองปี ซึ่งนั่นรวมไปถึงการสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในต่างแดนด้วย สิ่งนี้ก็ยิ่งเป็นการสร้างความผูกพัน เพิ่มฐานแฟนบอล และยิ่งเป็นการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อประเทศด้วย เพราะคนจากต่างแดนก็จะมองว่า ประเทศอังกฤษ เป็นประเทศที่ทันสมัย เปิดกว้าง ให้โอกาสแก่ความหลากหลาย และเป็นมืออาชีพ

จากเหตุผลประการต่างๆ นี้ ทำให้ “พรีเมียร์ลีก” กลายเป็นเมืองหลวงของโลกลูกหนังที่ใครๆ ก็จะต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก และความเข้มแข็งของแบรนด์ดิ้งนี้ ทำให้ลีกสูงสุดของอังกฤษมีคุณุปการต่อเศรษฐกิจระดับประเทศ โดยมีการจ้างงานกว่าหลักแสนคน นำรายได้ภาษีเข้ารัฐมากกว่า 3,000 ล้านปอนด์ หรือแม้แต่ช่วงที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรย่ำแย่ พรีเมียร์ลีกก็ยังเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ช่วงโควิดที่เศรษฐกิจซบเซา แม้พรีเมียร์ลีกจะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในฤดูกาล 2019/20 พรีเมียร์ลีกก็ยังสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรไปกว่า 7,600 ล้านปอนด์

ด้วยเหตุนี้ ยังทำให้พรีเมียร์ลีกยังกลายเป็นสนามแข่งขันของเหล่านักธุรกิจจากต่างชาติ ที่เข้ามาใช้เวทีนี้เพื่อแสดงออกถึงความเป็นชาติของตน อาทิ เจ้าของสโมสรจากซาอุฯ จีน ไทย หรือรัสเซียในก่อนหน้านี้ ซึ่งใช้เวทีพรีเมียร์ลีก เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ หรือชื่อเสียง ให้แก่ประเทศของตนในทางอ้อม และนอกจากการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ที่สโมสรในเมืองต่างๆ จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงแล้ว ชื่อเสียงของสโมสรในเมืองนั้นๆ ยังช่วยสร้างโปรไฟล์ หรือภูมิหลังให้แก่เมืองนั้นๆ ในมิติอื่นๆ อีกด้วย

ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ส่งผลให้พรีเมียร์ลีก กลายเป็น Soft Power ที่สำคัญของอังกฤษ และหากมองย้อนกลับมายังบ้านเราที่มีมวยไทย หรือ Fighting อันเป็นหนึ่งใน 5F ที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุน แต่เรื่องแบบนี้จำเป็นต้องใช้เวลา คงต้องมองกันในระยะยาว และเอาใจช่วยต่อไป