“หนังดีเข้าไม่ถึงคนดู หรือคนดูเข้าไม่ถึงหนังดี?” ประโยคปัญหาโลกแตกที่ชวนเราขบคิด เกี่ยวกับสถานการณ์วงการภาพยนตร์ไทย ว่าแท้จริงแล้ว เหตุที่คนไทยนิยมชมชอบเฉพาะแค่หนังตลก หนังผี หรือหนังรัก เพราะคนไทยไม่เปิดใจรับหนังดีๆ ที่ไม่ได้นำเสนอตาม “ท่ามาตรฐาน” หรือเป็นเพราะว่า หนังดีมีคุณภาพเหล่านั้น อาทิ หนังสั้น หนังสารคดี และหนังเล่าเรื่องรูปแบบอื่นๆ ไม่มีช่องทางที่จะเข้าถึงคนดูได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นช่องทางโปรโมท หรือช่องทางเผยแพร่
ปัญหานี้แทบไม่ต่างจากสำนวน “งูกินหาง” เพราะในมุมของผู้กำกับ การจะผลิตผลงานดีๆ ที่ “ไม่แมส” สักชิ้นหนึ่ง เป็นที่รู้กันภายในวงการผู้สร้างสรรค์ว่า งานประเภทนี้ขอทุนยากมากเหลือเกิน นายทุนที่พร้อมสนับสนุนต้องเป็นผู้มีจิตศรัทธาในงานอาร์ตเท่านั้น เพราะการลงทุนในงานประเภทนี้ ไม่ได้กำไรแน่ๆ ได้แต่ใจล้วนๆ
แล้วไหนจะเรื่องโรงฉายอีก โรงภาพยนตร์ใหญ่ ๆ ตามห้างสรรพสินค้า ก็แทบไม่รับเอาหนังประเภทนี้มาเผยแพร่สู่ระดับมวลชนอยู่แล้ว ทั้งยังไม่ต้องกล่าวถึงดราม่าเรื่องการให้พื้นที่ของหนังไทยที่เคยเป็นประเด็นกันไปไม่นาน
แต่คำถามสำคัญคือ ในเมื่อไม่มีการสนับสนุน “หนังนอกกระแส” แบบเป็นหลักเป็นฐาน เช่นนี้แล้ว มวลชนคนไทยจะเข้าถึง หรือเข้าใจหนังแนวนี้ได้อย่างไร จนแล้วจนรอดก็จะมีกลุ่มคนเพียงหยิบมืออยู่เช่นเดิมที่ได้สัมผัสกับงานประเภทนี้ และผลลัพธ์ที่ได้คือ มีหนังไทยดีๆ หลายเรื่องที่ไปได้รางวัลในต่างประเทศ โดยที่คนไทยแทบจะไม่รู้จัก หรือเคยสดับรับชม
ฟังดูแล้วอาจจะน่าเสียดายอยู่ไม่น้อย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในเรื่องที่ชวนหดหู่จิตก็พอจะมีเรื่องให้ชุ่มชื่นใจอยู่บ้าง เมื่อมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการ “ลงมือทำ”
ด้วยความเชื่อที่ว่า มีกลุ่มคนผู้อยากดู ‘หนังดีแต่ไม่ดัง’ กระจายตัวอยู่ทั่วราชอาณาจักร ผนวกกับความมุ่งหมายที่จะสนับสนุนหนังนอกกระแสทั้งไทยและเทศ ในระยะหลังมานี้ เราจึงได้เห็นสถานที่ฉายภาพยนตร์ขนาดไม่ใหญ่ที่ซ่อนตัวตามหัวเมืองต่างๆ มีความเป็นอยู่ที่คึกคักมากขึ้น
ที่น่าจะถูกพูดถึงมากที่สุดก็คงเป็น Doc Club & Pub ใน กรุงเทพฯ แต่ในหัวเมืองอื่นๆ ก็มีอีกมากมายเช่นกัน อย่าง Untitled for Film เชียงใหม่, เมืองทองรามา พะเยา, ดูหนังในห้องนั้น โคราช, lorem Ipsum หาดใหญ่, ลพรามา ลพบุรี ฯลฯ และยังมี Art space อีกมากมายที่มักจะเอาหนังมาฉายอยู่เป็นระยะๆ
ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มองค์กรที่พยายามสนับสนุนโปรเจกต์เล็กๆ ที่อาจเป็นฝันอันยิ่งใหญ่ของใครบางคน ตัวอย่างเช่น เทศกาลหนังสั้น โลกป่วย เราต้องเปลี่ยน หรือ CCCL Film Festival ที่สนับสนุน หนังสั้นเกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ปีละหลายเรื่อง สม่ำเสมอตลอดทั้งปี โดยที่สำคัญคือการกระจายกิจกรรมต่าง ๆ ไปยังจังหวัดห่างไกล ทั้งสงขลา, เชียงราย, น่าน, นครพนม, อุดรธานี และปัตตานี
โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง CCCL Film Festival กับโรงหนังขนาดย่อมตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น กิจกรรมที่ 82 Jabang in R.I.P cafe ในจังหวัดปัตตานี ที่จะจบลงในวันเสาร์ – อาทิตย์นี้ โดยนำผลงานทั้งจากในและนอกประเทศ ทั้งหนังสั้น สารคดี แอนิเมชั่น มาให้รับชม
ใครสนใจกิจกรรมแบบนี้ก็ลองเข้าไปดูโปรแกรมอื่นๆ ได้ที่ : https://www.ccclfilmfestival.com/festival-2024
นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีอีกมากที่จัดกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง โดยชุมชนคนดูหนังตัวจริง ที่ทำเพราะใจรักและอยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้ระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมหนังไทย อย่างไรก็ดี มีเสียงแว่วๆ มาว่า เรื่องนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ กำลังพิจารณากันอย่างสุดความสามารถ
ไม่แน่ว่า ถ้ารัฐบาลสนับสนุนงานสร้างสรรค์เหล่านี้ตั้งแต่รากฐาน หนังไทยดีๆ จะได้กลับมามีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในบ้านเกิดเสียที จริงไหมครับท่านผู้ชม?