นอกจากสยามเมืองยิ้มแล้ว ‘ไทยแลนด์แดนคอนเสิร์ต’ ยังเป็น a.k.a.ใหม่ของประเทศไทยที่ได้ยินบ่อยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะในแต่ละปีมีคอนเสิร์ตกว่าหลายร้อยครั้ง ด้วยระบบแสง สี เสียงก็เป็นแถวหน้าในระดับโลก ศิลปินมาจัดคอนเสิร์ตแต่ละทีก็มีที่เที่ยว พร้อมด้วยอาหารมากมายรอต้อนรับ แถมวัฒนธรรมการดูคอนเสิร์ตที่ไม่ได้ซื้อบัตรมานั่งเฉย ๆ แต่ซื้อบัตรมาร้องเพลงแทนศิลปิน ยังสร้างความประทับใจ ชวนให้ศิลปินกลับมาซ้ำ โดยเฉพาะฝั่ง K-pop ที่ไม่ว่าจะประกาศเวิล์ดทัวร์กี่ครั้งก็ต้องมีประเทศไทย
แต่ทว่า…
ทั้งๆ ที่ไทยมีคอนเสิร์ตเกาหลีให้ผู้จัดและเว็บกดบัตรได้ซ้อมมือปีละหลายสิบคอน แต่แฟนคลับก็ยังต้องเจอกับปัญหาแปดล้านสิ่งที่ยังแก้ไม่ได้สักที แต่จะไปบอกศิลปินว่าอย่าเพิ่งมา มันก็ยังไงอยู่ ก็เลยรวบรวมปัญหาต่างๆ มาไว้ให้ได้ลองอ่านกันดู
กลยุทธ์การตลาด เล่นกับใจแฟนคลับ
ศิลปินวงโปรดมาหาถึงที่ทั้งที แต่กลับประกาศว่าจะจัดคอนแค่วันเดียวให้แฟนคลับทุกสารทิศมาเป็นผู้ท้าชิงบัตรกัน ทำเอานอนไม่หลับกันเป็นวันว่าจะได้บัตรไหม แต่หลังศึกชิงบัตรจบลงได้ไม่นาน ก็จะมีผู้จัดบางเจ้าทำทีท่าว่าแอ๊บแอ้มาสะไพร้ส์ประกาศ ‘เพิ่มรอบ’ หวังเอาใจแฟนคลับ ซึ่งในครั้งแรกกลยุทธ์นี้อาจได้ผล อาจทำให้ผู้จัดได้รับเสียงชื่นชมและหยิบกลยุทธ์นี้มาใช้อีกในครั้งถัดๆ ไป จนเมื่อแฟนคลับเริ่มจับทางได้ เมื่อนั้นเสียงชื่นชมจะเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจว่าทำไมไม่ประกาศว่ามีสองรอบตั้งแต่แรก!
ถึงจะบอกว่าเป็นกลยุทธ์ที่ทั้งผู้จัดและค่ายตกลงกันแล้ว แต่นี่อาจเป็นกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายที่กำลังทำลายยอดขายในเวลาเดียวกัน เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ที่ผู้จัดและค่ายจะจับมือเพิ่มดีลกะทันหันกันตรงนั้น การจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งต้องเป็นข้อตกลงกันมาก่อนอยู่แล้วว่าจะจัดทั้งหมดกี่วัน
ในฐานะคนที่ติดอยู่ในวงจรกลยุทธ์นี้ ก็แอบรู้สึกว่าหรือนี่ตัวเองกำลังอยู่ในการทดลองทางจิตวิทยาบางงอย่าง เพราะ พอคอนเสิร์ตครั้งถัดไป ผู้จัดประกาศว่าจะมีคอนเสิร์ตรอบเดียวแฟนคลับก็ต้องกลับเข้าวังวนศึกชิงบัตร พอบัตรหมดก็ต้องมานั่งลุ้นว่าจะมีเพิ่มรอบหรือไม่ หรือจะหมดเพียงเท่านี้จริงๆ สูญเสียทั้งเวลา และสุขภาพใจที่ต้องมารอหวังลม ๆ แล้ง ๆ หมดความน่าเชื่อถือของผู้จัดไปอีก
ร้านกดบัตรสีเทา
‘ร้านกดบัตร’ ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่รุ่งโรจน์ตามไปกับจำนวนคอนเสิร์ตที่เพิ่มมากขึ้น เพราะบางครั้งสงครามดุเดือดเกินกว่าจะสู้คนเดียว ชวนเพื่อนแล้วหนึ่ง ยังต้องจ้างร้านกดบัตรมาช่วยอีกหนึ่ง แถมบางครั้งยังกดบัตรคอนเสิร์ตวันธรรมดา งานก็ต้องทำ คอนเสิร์ตก็ต้องไป ร้านรับจ้างกดบัตรจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ยังคงอยู่กับทุกคอนเสิร์ต
ร้านกดบัตรแต่ละร้านก็จะบวกราคาเพิ่มแตกต่างกันไปตามาความดุเดือด ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน อีกทั้งยังมีมิจที่จริงใจมีบัตรจริงฉวยโอกาสใช้ความรักของแฟนคลับกดบัตรมาอัพราคา และมิจแท้แบบ100% ที่ไม่มีบัตร แต่ใช้แคปชันเดียวกันว่า “รอใส่ชื่อ บวกค่ากด 500” ให้แฟนคลับเจ็บใจเล่น ตั้งคำถามว่าเมื่อเช้าลืมทำบุญหรือเปล่า ทำไมคนที่กดได้ดันไม่ใช่แฟนคลับแต่เป็นร้าน(หลอก)รับกดบัตร
ฉันอยากให้เว็บกดบัตรสู้ "บอท" แต่คนแรกที่เว็บกดบัตรสู้กลับคือ "ฉัน"
กว่าจะเข้าคิวได้ ต้องเสียเวลา รับคิวกว่า 1 ชั่วโมง แล้วยังต้องรอคิวให้น้องเขียววิ่งต่ออีกตั้งแต่ 10 นาทีไปจนถึงครึ่งชม. กว่าจะถึงหน้ากดบัตร เวลาชีวิตก็เหลือแค่ 23 ชม./วัน และใช่ว่าถึงหน้ากดบัตรแล้วจะดีใจได้ เพราะบางทีมองจากหน้าปากซอยบ้านยังเห็นว่าที่นั่งที่หายวับไปต่อต่อตา แถมมันยังเรียงคิว เรียงแถวแบบผิดสังเกต จนต้องอุทานกับตัวเองว่า ‘บอทลงอีกแล้วหรอวะะะ’
“บอท” พวกนี้ก็ไม่ได้กำเนิดขึ้นตามช่องทางธรรมชาติ มีทั้งฝีมือของแฟนคลับและร้านรับกดบัตร (ข้างบนนั่น) ที่ให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการใช้วิชาแฮ็คระบบ 101 คว้าบัตรไปไว้ในมือทีละ 10-20 ใบ จนอยากชมว่ากดบัตรกันเก่งจังครับเพ่
แล้วอาการบอทลงแบบนี้ แฟนคลับที่มีเพียงใจรักและสองมืออย่างเรา จะสู้ด้วยยังไงไหว แต่นั่นก็ไม่ใช่หน้าที่ที่แฟนคลับจะต้องมาสู้กับบอท แต่เว็บกดบัตรที่ควรจะทำ อย่างล่าสุดในคอนเสิร์ต Best of Fujii Kaze 2020-2024 ASIA TOUR in Bangkok ทาง Avalon Live ก็แก้ปัญหานี้ด้วยการดักทาง ‘ตอบให้ถูก ถึงให้กดบัตร’ ซึ่งก็ถือว่าช่วยคัดกรองได้เป็นอย่างดี
แต่ถ้าเว็บกดบัตรอัปเดตแพทช์มาสู้บอทได้ นั่นก็หมายความว่า บอทก็อัปเดตตัวเองเข้ามาในเว็บกดบัตรได้อยู่ดี ต่อให้จะมีการอัปแพทช์อีกกี่ครั้ง ปัญหานี้ก็จะยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังไก่กับไข่ที่ยากจะแก้
แต่ในเมื่อปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก็มีทางออกให้ปัญหาไก่กับไข่ เราก็หวังว่า ปัญหาบอทลงก็ควรจะมีข้อยุติได้เช่นกัน
ไม่เอาผู้จัดเจ้านี้ ไม่เอาผู้จัดเจ้านี้ ไม่เอาผู้จัดเจ้านี้
แฮร์รี่ไม่อยากได้บ้านสลิธิรินฉันใด แฟนคลับศิลปินเกาหลีก็ไม่ได้อยากได้ผู้จัดเจ้าหนึ่งฉันนั้น เพราะด้วยการตั้งราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ระบบการจัดการหลายอย่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ยังทำได้ดีกว่านี้ (มาก) ทำให้ผู้จัดบางเจ้าที่ดูมีชื่อ มีฝีมือ มากประสบการณ์ ติด 1 ในท็อปลิสต์ของผู้จัดยอดแย่ที่แฟนคลับไม่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม ผู้จัด-เว็บกดบัตรคอนเสิร์ตในไทย ก็ผูกขาดกันอยู่ไม่กี่เจ้า นับนิ้วได้ไม่ยาก แต่เจ้าเก่าก็มีประวัติ (หรือเรียกอีกอย่างว่า วีรกรรม) เจ้าใหม่ก็ไม่มีประวัติอะไรเลย ทำให้มีคอนเสิร์ตแต่ละครั้งก็ต้องมาสุ่มกันเป็นกล่องจุ่ม รอลุ้นว่าการจัดการจะผีขนาดไหน เป็นบทเรียนให้แฟนคลับพร้อมใจกันสวดภาวนาทุกครั้งว่าจะต้องไม่ใช่คอนเสิร์ตของศิลปินคนโปรดของฉัน
…
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างปัญหาส่วนหนึ่งที่ได้รับในฐานะคน(อยาก)ไปคอนเสิร์ตเท่านั้น ยังไม่นับราคาบัตรที่แพงจนเป็นปกติ / การโปรโมทงานแบบไม่มีใครรู้ / ฮอลล์จัดคอนเสิร์ตที่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานและการเดินทาง / พส.จีนที่ไม่น่ารัก และปัญหาอีกล้านข้อที่ผู้จัดต้องแก้ไข
แม้ตอนนี้ก็เริ่มเห็นการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องบอกว่ายังมีจุดที่ทำได้ดีกว่านี้ และใช่ว่าผู้จัดทุกเจ้าจะอยู่บ้านสลิธิรินเสมอไป เพราะ ก่อนหน้านี้ก็มีผู้จัดยอมรับฟังความคิดเห็นและนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อจนกลายเป็นผู้จัดที่ใครต่างเรียกร้องไปแล้ว
เพราะ เหล่าผู้จัดและเว็บกดบัตรต่างๆ ถือเป็นด่านแรกในกระบวนการสร้างชื่อนี้ หากทั้งสองส่วนนี้ยังไม่พร้อม ภาพฝันที่จะหากจะดึงดูดคนไทยและนักท่องเที่ยวด้วยคอนเสิร์ตให้เกิดเงินสะพัดในประเทศมากมาย มันก็เกิดขึ้นได้แหละ แต่ก็มันจะเกิดขึ้นพร้อมเสียงบ่นของ ‘ผู้บริโภค’ ที่ควรจะได้รับริการที่ดีกว่านี้ คุ้มค่ากับเงินและสุขภาพใจที่เสียไปทุกครั้งกับการกดบัตร พาเข้าสำนวนไม่ตบไม่ตีจะไม่ดีขึ้นเลยหรือ
แต่มันจะไม่ดีกว่าหรือหากภาพฝันนั้นเกิดขึ้นได้จริงและทำดีกว่านี้