คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในด่านหน้าของยุทธศาสตร์ Soft Power อันสามารถฉายภาพความเป็นไทยให้ต่างชาติรับรู้ได้ไม่ยาก และห้วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็หมายมั่นปั้นมือกับภารกิจนี้เป็นพิเศษ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้คนจำนวนมากในแวดวงนี้ยังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่ไม่อาจแก้ไขได้ในระดับปัจเจก หรือกล่าวอย่างชัดเจนได้ว่า ระบบนิเวศน์ยังไม่สามารถสนับสนุนคนทำหนังได้อย่างเต็มกำลัง
“มันเป็นอุตสาหกรรมที่โหดร้ายมากครับ ระบบนิเวศน์ยังไม่เอื้อเลยสําหรับคนทําหนัง…คนทำหนังไทยเจอมรสุมจากทุกด้าน…ความย้อนแย้งมันมีหลายอย่างมาก…”
โซ่ตรวนข้อที่ 1. การเซนเซอร์
ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การแตะทุกเรื่องได้อย่างอิสระย่อมเป็นพื้นฐานที่ควรมีในทุกวงการ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยยังก้าวไปไม่ถึงจุดนั้น มีหลายเรื่องที่ยังพูดไม่ได้ ทั้งจากระเบียบบรรทัดฐานทางสังคม ตลอดจนการเลือกเซนเซอร์ตัวเองเพื่อความสบายใจของผู้สร้างสรรค์ ผลที่ออกมาก็คือความเข้มข้น-แหลมคมทางเนื้อหาจึงไม่อาจกระทุ้งเพดานและยกระดับคุณภาพของวงการนั้นๆ ได้อย่างเสรี
และหลายครั้งที่ผ่านมา มักจะมีการเซนเซอร์ฉากบางฉาก หรือซีนบางซีน อันนำมาสู่การตั้งคำถามถึงกฎระเบียบของกองเซนเซอร์ และมาตรฐานของคำว่าศีลธรรมอันดี(ย์) อาทิ พระร้องไห้, เณรชกต่อยกัน, เณรกอดแม่ ฯลฯ ซึ่งถูกบังคับให้ถอดออก
“มันต้องมีระบบที่เป็นธรรมกว่านี้ เปิดกว้างกว่านี้ เราจึงจะได้งานที่หลากหลายกว่านี้…มันยังมีระบบเซนเซอร์ที่แปลกๆ อยู่ แบบว่าการตีความระบบ เฮ้ย! อันนี้ก็ไม่ได้หรอวะ? แล้วทําไมอีกเรื่องทำได้ มันแปลกมากเลย”
โซ่ตรวนข้อที่ 2. หนังเถื่อน
ว่ากันตามตรง การปราบหนังเถื่อนไม่ต่างจากแมวไล่จับหนู เฉพาะยิ่งในยุคออนไลน์ ต่อให้ปิดไปหนึ่งแห่ง แต่เดี๋ยวก็มีขึ้นมาใหม่ไม่จบไม่สิ้น ทว่าวิธีเอาชนะไม่ใช่แค่จับให้ได้หรือไล่ให้ทันเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญกว่าคือมาตรการที่เด็ดขาด เข้มงวด ไล่กวดจริงจัง
ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ ซึ่งกำหนดโทษตามกฎหมายให้หนัก พร้อมด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมสืบสวนและจับกุม อีกทั้งยังมีรางวัลนำจับให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสสำคัญ ด้วยจำนวนเงินสูงสุดถึง 3 พันล้านวอน (ประมาณ 2.2 ล้านดอลลาร์) รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านพันธมิตรระหว่างสถาบันและองค์กรสากล โดยมีความร่วมมือในการบล็อกโดเมนหรือช่องทางการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง
“ประเทศเรานี่เป็นเรื่องธรรมดามากเลย พิมพ์นิดเดียวก็ขึ้นมาแล้ว และก็ไม่มีใครเอาผิดอะไร มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครแคร์เลยด้วยซ้ำ”
.
.
“คุณพูดว่าหนังเป็นเรื่องที่คุณจะผลักดันได้ยังไงในเมื่อเรื่องง่ายๆ คุณยังไม่ทํา…ขนาดเว็บพนันออนไลน์มันยังเกลื่อนประเทศอยู่เลย แล้วลิงก์หนังเถื่อนเขาจะมาทําได้ยังไง ผมนึกไม่ออกเหมือนกัน”
โซ่ตรวนข้อที่ 3. โรงหนังผูกขาด
หากกล่าวถึงหนังไทยที่มาจากผู้ผลิตรายย่อย ไม่ได้มาจากค่ายใหญ่ อาจจะเป็นสตูดิโอหน้าใหม่ที่พึ่งสร้าง ซึ่งหน้าหนังอาจจะดูไม่ฉูดฉาดเร้าใจขนาดนั้น หรือเป็นประเภทหนังอินดี้ หนังทางเลือก ซึ่งไม่ได้ทำตามสูตรสำเร็จที่ผ่านๆ มา
น่าเสียดายที่โอกาสสำหรับหนังเหล่านี้มีน้อยเหลือเกิน ผู้ผลิตบางรายอาจจะไม่เก่งเรื่องการตลาด หรือบางกรณีก็ไม่มีงบโปรโมต แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้บริโภคจะพูดถึงกันปากต่อปากในโลกออนไลน์ แล้วตบเท้าเข้ามาอุดหนุนกันในสัปดาห์ที่สองหรือสาม จนแล้วจนรอด ถ้าตัวหนังไม่สามารถทำงานได้ในสัปดาห์แรกก็เตรียมม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย ต่อให้ใช้เวลาปลุกปั้นโปรเจกต์นั้นมากี่ปีก็ตาม สุดท้ายตัวชี้วัดอยู่ที่ 7 วันอันตรายนี่แหละ แต่พูดก็พูดเถอะ แค่จะเอาหนังประเภทนี้เข้าโรงใหญ่ยังยากเลย แล้วจะพูดได้อย่างไรว่าหนังเหล่านี้ไม่ดี?
“มันไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะมีปาฏิหาริย์ ปากต่อปากใน Tiktok แล้วค่อยมาทํางานในวีคสอง มันไม่มีเลย คือมันเจ๊งง่ายมาก เป็นอุตสาหกรรมที่โหดร้ายมาก”
ในปัจจุบัน แม้จะพบว่ามีโรงหนังขนาดย่อย (Micro Cinema) กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่คนรักหนังทำกันเอง ช่วยเหลือกันเอง ซึ่งในกลุ่มนี้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยด้วยการสนับสนุนหนังไทยผ่านโรงหนังขนาดย่อย หรือให้ส่วนลดหย่อนเหมือนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคง ยั่งยืน และเสริมสร้างความหลากหลายในวงการ อันสามารถยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ถึงแม้วงการนี้จะอยู่ยาก ถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้ แต่สำหรับพี่โต้ง-บรรจง ในฐานะคนทำงานคนหนึ่ง แค่ทำงานดีๆ ออกมาให้ได้ก่อน แค่นั้นก็พอ ส่วนเรื่องระดับโครงสร้างที่ยังมีหลายโจทย์รอแก้ไข เราก็พอจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้างแหละ ของแบบนี้คงต้องให้เวลากันสักหน่อย หวังว่าสักวันคงสำเร็จ
ในวันที่ภาพยนตร์ไทยถูกผลักดันเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเรือธง พร้อมขับเคลื่อนไปสู่ระดับสากล แต่ทว่าคนทำงานยังว่ายน้ำไม่แข็ง พลางจะทำให้เรือล่มปากอ่าวได้ ดังนั้น การสร้างความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำควบคู่กันไป ทั้งการส่งเสริม สนับสนุน สร้างเสรีภาพ และการศึกษา พูดง่ายๆ คือต้องยกระดับกันทั้งองคาพยพ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จึงจะสร้างระบบนิเวศน์ที่เกื้อหนุนคนทำงานได้อย่างครบวงจร ในเมื่อคิดการใหญ่ ก็ต้องท้าทายเป็นธรรมดา
และใช่หรือไม่ว่า ความคิดสร้างสรรค์พร้อมทั้งฝีมือของคนไทยมิได้น้อยไปกว่าใครทั้งนั้น หากแต่คืนวันที่ศักยภาพดังกล่าวถูกจำขังด้วยโซ่ตรวนแห่งบรรทัดฐานของผู้อื่นนั้นนานเหลือเกิน และผลที่เกิดขึ้นคือบุคคลากรเก่งๆ ทั้งหลายจึงเลือกไปไขว่คว้าหาโอกาส ณ ต่างแดน นอกจากเราจะรั้งคนเหล่านี้ไว้ไม่อยู่แล้ว ประชาชนคนไทยเองก็พลาดโอกาสได้เสพผลงานดีๆ ด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าให้พูดอย่างเป็นธรรม เราพอจะเห็นความพยายามจากหลายหน่วยงานที่ร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาข้างต้น ถ้าหากปลายทางคือคำว่า Soft Power แม้วันนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว อย่างที่พี่โต้งกล่าวว่า “10 ปีข้างหน้าก็ไม่แน่”
ฉะนั้นแล้ว การปลดปล่อยศักยภาพ ทลายข้อจำกัดต่างๆ และใช้ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่ ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ ก็ไม่รู้จะเริ่มตอนไหน
เพราะข้อจำกัดต่างๆ อาจเสมือนกำแพงที่รอเราทุบทำลาย และเหยียบย่ำขึ้นไปเป็นบันไดขั้นแรกสู่ความยิ่งใหญ่ ซึ่งนั่นคือวันที่ภาพยนตร์ไทยจะได้เข้าสู่รุ่งอรุณอันสดใสอย่างแท้จริง
ขอบคุณภาพจาก: GDH