คำว่า “Soft Power” ต่อให้จะถอดความเป็นภาษาไทยด้วยคำพูดสวยหรูเพียงใดก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้ว แก่นสำคัญสุดท้ายก็คือ “อำนาจ” หากแต่เป็นรูปแบบอำนาจที่ปราศจากการบังคับขู่เข็ญด้วยพละกำลัง ทั้งนี้ สถานะแห่งอำนาจย่อมไม่ได้ตั้งอยู่อย่างโดดๆ เพราะจำต้องมีอย่างน้อยสองฝ่ายขึ้นไป ถึงจะปรากฏพบอำนาจ เช่นนี้แล้ว Soft Power ของประเทศหนึ่งๆ จึงมิใช่สิ่งอื่นใด นอกเสียจาก “อำนาจระหว่างประเทศ” ในความหมายของการโน้มน้าวประเทศปลายทางเพื่อหวังผลลัพธ์ที่ต้องการ
โดยปีที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทย จะเรียกว่าเป็นปีแห่ง Soft Power ก็คงไม่ผิดนัก เพราะน่าจะมีการพูดถึงคำนี้มากกว่าปีไหนๆ พร้อมด้วยฝ่ายบริหารที่มุ่งมั่นในนโยบายนี้กันอย่างแข็งขัน กระนั้นก็ตาม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า นัยสำคัญของ “Soft Power” ก็คือ “อำนาจระหว่างประเทศ” ซึ่งปีที่ผ่านมาคงต้องกล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญความท้าทายจากรอบทิศ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องคดีตากใบ, เกาะกูด / MOU44, ลูกเรือประมงไทยถูกจับในเมียนมา ตลอดจนความท้าทายทางภาษีจากสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ 2.0 และอิทธิพลจากจีน
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พูดคุยกับ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารและโฆษกคณะก้าวหน้า ว่าด้วยเรื่องประเทศไทยจะสามารถรับมือความท้าทายจากปี 67 และปีต่อๆ ไป ด้วยพลังอำนาจที่พูดกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่าง Soft Power ได้อย่างไร?
“จริงๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นหัวใจของคำว่า Soft Power
มันคือความหมายที่เขายอมรับกันในสากลโลก”
พรรณิการ์ตอบกลับอย่างตรงประเด็น ก่อนจะขยายความโดยการยกตัวอย่างถึง อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่กำลังจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการคว้าธงเป็นผู้นำด้านการสร้างสันติภาพในอาเซียน ทั้งในเมียนมา และชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยท่าทีดังกล่าวเป็นบทบาทของประเทศที่เจริญแล้ว หรือประเทศที่กำลังไต่เต้าขึ้นมา ซึ่งอันวาร์ อิบราฮิมกำลังใช้สิ่งนี้เป็น Soft Power ให้ประเทศตัวเองมีอำนาจมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ หรือก็คือการเป็น Peace Promoter บทบาทผู้ส่งเสริมสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เช่นนี้แล้ว พอย้อนกลับมามองยังประเทศไทยที่เผชิญความท้าทายจากรอบทิศในปีที่ผ่านมา พรรณิการ์ได้กล่าวเสริมต่อไปว่า
“ประเทศไทยพูดเรื่อง soft power ทุกวันมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว คำถามคือลำพังแค่ลูกเรือไทยถูกจับที่เมียนมา ผ่านไป 2 อาทิตย์แล้วตอนนี้ คุณยังไม่สามารถเอากลับมาได้เลย
.
อย่าไปพูดถึงอำนาจในการเจรจาต่อรองกับจีน หรืออำนาจในการเจรจาต่อรองกับทรัมป์
.
เพราะเราโดนสินค้าจีนทะลักเข้ามา เราโดนเขื่อนจีนปล่อยน้ำลงมาท่วม หรือเขื่อนจีนกักน้ำไว้เราก็แล้ง หรือว่าเราถูกทรัมป์ขึ้นอัตราภาษี นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมหลายประเทศจึงต้องพยายามเสริมสร้าง soft power
.
คือต่อให้คุณไม่ใช่มหาอำนาจ แต่คุณก็ต้องมีดีอะไรสักอย่าง ที่ประเทศอื่นเขาจะเคารพในตัวคุณ แล้วคุณก็จะพอมีปากมีเสียงที่จะไปต่อกรกับประเทศใหญ่ๆ ในเวทีโลกได้ ซึ่งตอนนี้เราไม่มี
.
คุณจะไปเจรจากับทรัมป์ ไปเจรจากับสี จิ้นผิงได้ยังไง ในเมื่อจะเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา คุณยังทำไม่ได้เลย”
แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะใช้คำว่า Soft Power ได้สิ้นเปลืองไปบ้าง แต่ในมุมมองของพรรณิการ์ โจทย์ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ การดำเนินนโยบายที่สะเปะสะปะ และอาจรวมถึงนิยามการตีความที่ไม่ชัดเจน และเป็นการมองที่ปลายเหตุ หรือไม่?
“อย่างเกาหลีใต้ คนก็พูดถึง K-pop ใช่ไหม แล้วคุณก็เลยบอกว่านี่ไง K-pop เป็น Soft Power ของเกาหลีใต้ ซึ่งไม่ใช่ มันคือเครื่องมือในการทำให้คนจดจำหรือยกย่องเกาหลีใต้ คือเขาใช้ K-pop เป็นเครื่องมือ
.
แต่พอเราไปมองที่จุดที่มันเด่นที่สุดที่เขาใช้เป็นเครื่องมือว่าอันนี้คือ Soft Power มันนำมาสู่การสร้างความเข้าใจว่า เราต้องหา OTOP 5 ดาว เช่น มวยไทย อาหารไทย นวดไทย แฟชั่น ผ้าไทย แล้วเราก็บอกว่า เนี่ยเรามี Soft Power มากมาย ซึ่งไม่ใช่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ Soft Power”
พรรณิการ์ อธิบายว่าสิ่งต่างๆ ข้างต้นมีความสำคัญมากในการประกอบสร้าง Soft Power แต่ในตัวของมันเองไม่ใช่ Soft Power หรือว่าพลังอำนาจในการยกระดับประเทศในเวทีโลกให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อที่เราจะสามารถมีพลังต่อรองกับประเทศอื่นๆ ได้
“ปัญหาคือ พอเราเข้าใจเรื่อง Soft Power ว่าเป็นหมูเด้ง หมีเนย หมูกระทะ ฯลฯ มันทำให้เราสะเปะสะปะ
และเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเดินทางมาสู่ความสะเปะสะปะ
สิ่งนี้คือศัตรูที่อันตรายที่สุดของการสร้าง Soft Power”
อย่างที่ทราบกันดีว่ายุทธศาสตร์ Soft Power ไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นผลภายในเร็ววัน หากแต่ใช้เวลาเป็นทศวรรษ และที่สำคัญ ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ 10 ปี? 20 ปี? 30 ปี?… ไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ คือ “ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้” เพราะอย่าลืมว่าเราสามารถกำหนดอนาคตได้จากสิ่งที่เราทำในปัจจุบัน, ใช่แล้ว ประเด็นนี้กำลังหมายถึง “อนาคตของประเทศ”
อย่างไรเสีย ในทางตรงกันข้าม หากเราติดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่วันนี้แล้วล่ะก็ อีก 10 ปีข้างหน้าก็ไม่มีทางที่จะแต่งองค์ทรงเครื่องกันแล้วเสร็จ ดังนั้น นอกจากต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้แล้ว ทิศทางที่ชัดเจนก็สำคัญไม่แพ้กัน
พรรณิการ์มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการสร้าง Soft Power คือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ต้องปักหมุด ตั้งเป้าให้ชัดว่าเราจะผลักดันเรื่องอะไรเป็นหลัก เพื่อใช้สิ่งนั้นเป็นเครื่องมือยกระดับพลังอำนาจของประเทศต่อไป กล่าวคือ ต้องมี Action Plan ที่ชัดเจน เพราะไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็น Soft Power ได้
กระนั้นก็ตาม แม้ว่าในปีที่ผ่านมา จะมีเรื่องที่เป็นอุปสรรคในการสร้าง Soft Power ให้บ้านเราอยู่ไม่น้อย แต่ในสายตาของผู้ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พรรณิการ์เห็นว่ายังมีโอกาสที่เราสามารถสานต่อจากปีที่ผ่านมาได้เช่นกัน
“จริงๆ ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่น่าสนใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชนมาก เพราะว่าเราได้เก้าอี้ของ UNHRC หรือคณะกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชนใน UN แล้วในปีเดียวกัน กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน เราควรจะหยิบฉวยโอกาสแบบนี้ เรามีศักยภาพที่จะทำประเทศ LGBT Friendly
.
ส่งเสริม คาเฟ่ โรงแรม LGBT friendly แพ็กเกจแต่งงาน-ท่องเที่ยว สำหรับคู่รักทุกเพศ อีกทั้งเรายังสามารถพูดถึงเรื่องการเป็นประเทศผู้ให้ความสำคัญกับสิทธิความเสมอภาคทางเพศได้ อันนี้มันก็จะเป็นการสร้าง National Brand ที่มีคุณค่า มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ซึ่งอาจจะนำมาสู่การมีกิน มีใช้ได้ด้วย ถ้าเราผลักดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง”
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ในภาพรวมการดำเนินนโยบาย Soft Power ไทยในปี 67 อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเท่าไหร่ แต่น่าสนใจว่า หลังจากนี้รูปธรรมของคำว่า Soft Power ไทย จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะตามที่รัฐบาลได้แถลงเอาไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องงบประมาณ กฎหมาย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญหลายอย่างกำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า และหากในระยะยาวทำสำเร็จ สิ่งนี้จะส่งผลเป็นสำคัญต่อภาพลักษณ์ประเทศ บทบาทในเวทีโลก กระทั่งเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนไทยในอนาคตอีกหลายปี
แต่ก็อีกนั่นแหละ ของแบบนี้ต้องใช้เวลาและวิสัยทัศน์ระยะยาว ประกอบกับยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้เรามี Soft Power ได้สมดั่งหวัง
และคงต้องกล่าวว่า ประเทศไทยขาดหายจากบทบาทที่น่าจับตาในเวทีโลกมานานหลายปี ไม่แน่ว่า Soft Power อาจจะเป็นคันเร่งนำพาประเทศขึ้นทางยกระดับไปสู่สถานะของการเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย อย่างที่เคยพูดๆ กัน เมื่อหลายสิบปีก่อน ไว้ปีหน้าเรามาประเมินกันใหม่ ว่าบทสรุป Soft Power ไทย จะเป็นอย่างไร? น่าจะมีอะไรให้พูดถึงกันอีกเยอะ คอยดูเลย