Skip links

ชัยชนะของ PSG ใต้เงาสงคราม : “Visit Rwanda” ฟอกขาวหรือซอฟต์พาวเวอร์

ท่ามกลางเสียงเฮระหว่างการเถลิงแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครั้งแรกของสโมสรฟุตบอล Paris Saint-Germain FC ด้วยชัยชนะที่รอคอยมานานสำหรับการเป็น ‘เจ้ายุโรป’ ในค่ำคืนแห่งความทรงจำนี้ ไม่เพียงแค่โลโก้ของผู้สนับสนุนรายใหญ่จากยุโรปที่เฉิดฉายเท่านั้น ยังมีชื่อของประเทศเล็กๆ อย่าง “รวันดา” ปรากฎบนแบนเนอร์ และเสื้อวอร์มของบรรดานักเตะ เป็นส่วนหนึ่งในชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย 

แม้ชื่อดังกล่าวจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงจากผู้บรรยาย แต่คำว่า “Visit Rwanda” ก็ตระหง่านอยู่ตรงนั้น ชวนให้ผู้คนจดจำและไปเยี่ยมเยือนสักครั้งหนึ่ง ส่วนใครจะจำในทางที่ดี หรือจดจำในทางที่แย่ อันนี้ก็ตามสมควร

เหตุที่ต้องเอ่ยเช่นนั้นเนื่องเพราะสปอนเซอร์จากแดนแอฟริกาเจ้านี้ เป็นหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของคณะกรรมการพัฒนารวันดา (RDB) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นสปอนเซอร์ให้สโมสรชื่อดังอย่าง PSG, Bayern Munich, Arsenal และอื่นๆ

แต่เรื่องของเรื่องคือ ความตึงเครียดระหว่างรวันดาและคองโกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รวันดามีส่วนในการทำให้เกิดวิกฤตในภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 

รวมถึงการสนับสนุนกลุ่ม M23 ที่มีส่วนรู้เห็นและรับผิดชอบต่อการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง สร้างสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวมถึงการสังหารและทำร้ายร่างกาย ใช้ความรุนแรงทางเพศ ก่ออาชญากรรม บังคับอพยพ ฯลฯ และนั่นแหละปัญหา

เพราะความโหดร้ายเหล่านี้ ทางการรวันดาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็น หรือเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง รวมถึงความรุนแรงภายใน อาทิ การปราบปรามผู้เห็นต่าง การข่มขู่และละเมิดสิทธิมนุษยชน การจับกุมโดยพลการ การขาดเสรีภาพ และความยุติธรรม แม้ฝ่ายรวันดาจะปฏิเสธข้อกล่าวหาร้ายแรงมาตลอด แต่องค์กรระหว่างประเทศก็ยืนยันเสียงแข็งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันไม่ชอบมาพากล

ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่าง Visit Rwanda กับ PSG มีมูลค่าระหว่าง 8 ล้านยูโรถึง 10 ล้านยูโรต่อปี และเพิ่งจะขยายสัญญาไปจนถึงปี 2028 ซึ่งโลโก้ Visit Rwanda จะได้สิทธิ์ปรากฎอยู่ในชุดฝึกซ้อมและชุดวอร์มของทีม PSG รวมถึงบนอาร์มแขนเสื้อชุดแข่งในรายการสำคัญ ตลอดจนรังเหย้าของทีมอย่าง Parc des Princes ก็มีป้ายโฆษณา Visit Rwanda เด่นอยู่ข้างสนาม กระทั่งชา-กาแฟที่เสิร์ฟใน Parc des Princes ก็อิมพอร์ตมาจากรวันดา

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า PSG Academy Rwanda ศูนย์พัฒนาเยาวชน ที่จัดให้มีการพัฒนาทักษะฟุตบอล การศึกษา และการให้คำปรึกษาแก่เยาวชนชาวรวันดา ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมผ่านการเล่าเรื่องและประสบการณ์ที่พิเศษ

กลยุทธ์ของรวันดากับ PSG เป็นกรณีที่น่าสนใจของความพยายามในการสร้าง Soft Power ผ่านโลกกีฬา และการสร้างภาพจำใหม่ให้กับประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล อีกทั้งยังมีบาดแผลจากโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 

เป้าหมายหลักของ “Visit Rwanda” จึงเป็นการกำหนดภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศ ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนที่คึกคัก ทันสมัย น่าดึงดูด ดังนั้น การสนับสนุนสโมสรชั้นนำจากเมืองน้ำหอม จึงช่วยให้รวันดาเชื่อมโยงกับความเป็นเลิศ ความทันสมัย และความทะเยอทะยานระดับโลกได้

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มขึ้นและมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และรวันดายังรายงานว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากบรรลุข้อตกลงกับบิ๊กทีมจากอังกฤษอย่าง อาร์เซนอล จึงกล่าวได้ว่า รวันดาใช้การทูตด้านวัฒนธรรมผ่านสนามหญ้า เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ระหว่างประเทศ และวางตำแหน่งตนเองในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในทวีปแอฟริกา

แต่ก็นั่นแหละ เมื่อกลิ่นตุๆ มันคละคลุ้งไปทั้งสนาม สุดท้ายก็หนีไม่พ้นคำว่า “Sportswashing” หรือการฟอกตัวด้วยกีฬา เสมือนการพยายามกลบเกลื่อนความผิดของตัวเอง พลางเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติออกจากข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนและการแทรกแซงทางการเมืองด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นบวกและทะเยอทะยานผ่านการสนับสนุนทีมฟุตบอลแถวหน้าของโลก

รวมไปถึงที่มาของเงินที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นเงินสีเทาหรือเปล่า? เนื่องจากรวันดาเป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจน มี GDP ต่อหัวต่ำ และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างมาก การใช้เงินหลายล้านยูโรไปกับการสนับสนุนสโมสรฟุตบอลชั้นนำ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศ ว่าเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อสร้างการรับรู้ภายนอก ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่ประชาชนชาวรวันดาจำนวนมากต้องเผชิญ

อย่างไรก็ดี รวันดาไม่ใช่ประเทศเดียวที่ถูกวิจารณ์เรื่องการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือฟอกขาว ซาอุดีอาระเบียเองก็เผชิญแรงกดดันไม่ต่างกัน นับตั้งแต่กรณีการสังหารนักข่าว จามาล คาช็อกกี เมื่อปี 2018 เป็นต้นมา รัฐบาลซาอุฯ ทุ่มเงินมหาศาลกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเข้ามามีบทบาทในวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ ฟอร์มูล่าวัน ไปจนถึงฟุตบอล 

ส่วนกาตาร์ พันธมิตรทางเศรษฐกิจของรวันดาก็ทุ่มงบกว่า 230,000 ล้านดอลลาร์ในการจัดฟุตบอลโลก 2022 เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศตัวเอง

กลุ่มทุนจากซาอุฯ และกาตาร์ยังเข้าไปเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลระดับโลกอย่าง PSG, Manchester City, Newcastle United และอีกหลายทีม ท่ามกลางเสียงปรบมือจากบางฝ่ายที่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมความเร้าใจในฟลอร์หญ้า กับเสียงคัดค้านที่ชี้ชัดว่านี่คือ “sportswashing” ในรูปแบบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

คำถามคือ การฟอกตัวผ่านกีฬาได้ผลจริงหรือ?

เพราะในแง่หนึ่ง แน่นอนว่ามันทำให้ชื่อเสียงของประเทศเหล่านี้เป็นที่จดจำมากยิ่งขึ้น พร้อมเชื่อมโยงกับความสำเร็จ ความทันสมัยในระดับโลกเข้ากับชาตินั้นๆ แต่อีกแง่หนึ่ง มันกลับร้องเรียกให้เกิดการตรวจสอบที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม จนบางครั้งภาพลักษณ์ที่พยายามจะสื่อออกไป ก็ถูกตีกลับไม่เหลือชิ้นดี 

กรณีของรวันดา คือบทเรียนร่วมสมัยที่ชัดเจน แม้จะพยายามสื่อสารผ่านความปราถนาดี แต่อีกฟากของโลกก็ยังมีคนจ้องจับผิด พร้อมขุดเอาสิ่งที่ซุกอยู่ใต้พรมมาเปิดโปงต่อสาธารณะ ในท้ายที่สุด คำค่อนขอดย่อมตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเสียงคัดค้านก็เริ่มดังขึ้นจากทั่วสารทิศ ล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาชิกสภาฝรั่งเศสจากพรรค La France Insoumise (LFI) ออกมาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยกล่าวว่า

“เราไม่อาจยอมรับได้ ที่สโมสรฟุตบอลฝรั่งเศสกลายเป็นเวทีโฆษณาให้กับรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารผู้คนหลายพันคน...”

และถ้าจะถามว่าสโมสร PSG วางตัวอย่างไรต่อเสียงวิจารณ์เหล่านี้? ก็คงต้องบอกว่า “เงียบกริบ” เต็มที่ก็ได้แต่บ่ายเบี่ยงไปยังเรื่องอื่น

แต่พูดก็พูดเถอะ ประเด็นนี้เจ้าของทีมชาวกาตาร์เองก็ถูกกล่าวหา และยังดิ้นไม่หลุดเหมือนกัน

บทสรุปของเรื่องนี้จึงยังไม่มีข้อสรุป แต่ทว่า หากเรายอมรับให้เกมกีฬากลายเป็นเวทีของการฟอกขาวทางการเมือง แล้วล่ะก็ “แฟนบอล” ที่สนับสนุนทีมจะเหลือความภาคภูมิใจอะไรอยู่บ้าง นอกเสียจากเป็นเพียงผู้ชมที่ยอมกลืนความขมขื่นที่คลุ้งคาวไปทั่วสนาม ในกีฬาที่ควรจะเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ

อ้างอิง : 

https://www.si.com/onsi/soccer/psg/matchday/psg-vs-arsenal-odds-and-prediction

https://www.newtimes.co.rw/article/26874/opinions/psg-when-african-soft-power-disturbs

https://www.aljazeera.com/opinions/2025/6/3/the-rwanda-drc-peace-deal-must-include-the-voices-of-the-voiceless

https://www.dw.com/en/bayern-munich-silent-on-rwanda-as-pressure-grows/a-72319528

https://rdb.rw/visit-rwanda-and-paris-saint-germain-psg-renew-groundbreaking-partnership-through-2028/#:~:text=Visit%20Rwanda%20and%20Paris%20Saint,Rwanda%20Development%20Board%20(RDB)%20Website

https://euobserver.com/eu-and-the-world/ar740fce63#:~:text=Like%20Qatar%2C%20Rwanda%20is%20accused,home%20(Photo%3A%20EUobserver%20composite)