มีการเปิดเผยว่าทางการไทยและจีน กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ ที่จะถูกส่งมอบให้ไทยดูแลภายในปีนี้ เนื่องในวาระครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปีของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ มีการคาดว่าเจ้าหมีขนปุยขาวดำทั้งสองตัว น่าจะเข้ามาอาศัยสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นที่พํานักเหมือนกับตัวก่อนๆ ที่เราเคยดูแล
และเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่คนไทยไม่ได้มีโอกาสเติมหมีมานาน นับตั้งแต่ ‘หลินฮุ่ย’ จากไปเมื่อเดือนเมษายน 2566 ถือว่าเป็นการปิดตำนาน ‘ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย’ รวมถึง ‘หลินปิง’ ที่เคยฟีเวอร์ถึงขั้นมีช่องทีวีเป็นของตัวเองและถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมงมาแล้ว
ส่วนชื่อของเจ้าคู่ใหม่สองตัวที่คาดว่าจะมานี้ นายกฯ กล่าวทำนองว่าให้ช่วยกันคิดหน่อย… แต่พูดก็พูดเถอะ เรื่องความครีเอท คนไทยไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ต้องห่วง สบายมาก
แต่เรื่องที่เป็นประเด็นมากกว่า คือความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่เราต้องพิจารณา เพราะสัตว์ที่เข้าใกล้คำว่าสูญพันธ์ุอย่างหมีแพนด้าที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ต้องบอกว่า เราไม่ได้มาฟรีๆ หากแต่เป็นการาจ่ายเงินตามสัญญาเช่า มีประกันค่าเสียหาย และค่าชดเชยไม่น้อยเลยทีเดียว
เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 ครั้งที่เราได้รับ ‘ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย’ มาเลี้ยงดู จนเป็นดั่งมาสคอตประจำเมืองเชียงใหม่ในตอนนั้น ไทยต้องจ่ายเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แพนด้าของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าจีน (CWCA) ปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลา 10 ปี (2546 – 2556)
6 ปีต่อมา เมื่อ ‘หลินปิง’ ถือกำเนิดในปี 2552 เราต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลา 4 ปี ก่อนที่หลินปิงจะถูกส่งกลับจีน
หลังจากครบสัญญา 10 ปี ก็ได้มีสัญญาฉบับที่สอง (2556 – 2566) โดยเพิ่มเงินสนับสนุนเป็นปีละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจาก ‘ช่วงช่วง’ ตายไปในปี 2562 ไทยจึงลดเงินสนับสนุนเหลือ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จนสิ้นสุดสัญญาในปี 2566
รวมงบประมาณที่ไทยใช้ไปกับการทูตแพนด้า ทั้งงบสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แพนด้าให้จีน รวม 6.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 230 ล้านบาท) และงบพัฒนาโครงการแพนด้าในไทย (ประมาณ 130 ล้านบาท)
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแพนด้าตลอด 19 ปี คิดเป็นเงินอย่างน้อย 360 ล้านบาท
นอกเหนือจากงบประมาณที่ใช้ไปแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นค่าดูแลเลี้ยงดู ค่าอาหาร ค่าบำรุงสถานที่ และข้อผูกพันตามสัญญา เช่น กรณีที่แพนด้าเสียชีวิตในไทยด้วยความประมาท ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากเป็นลูกแพนด้าที่อายุเกิน 12 เดือน ค่าชดเชยจะเพิ่มเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัว นอกจากนี้ หากมีการขนย้ายแพนด้ากลับจีน ไทยยังต้องรับผิดชอบค่าประกันภัยอีกตัวละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อสอดส่องไปยังต้นทุนและเงื่อนไขต่างๆ การต้อนรับแพนด้าคู่ใหม่จึงเป็นมากกว่าความน่ารักและความผูกพันทางใจ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ทั้งในแง่การท่องเที่ยว การวิจัย และความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ทั้งยังไม่ต้องกล่าวว่า ปัจจุบันเราก็มีสัตว์เซเลบชื่อดังอย่าง ‘หมูเด้ง’ อยู่แล้วด้วย
ประเด็นสำคัญจึงย้อนกลับไปได้ว่า ในยุคที่งบประมาณต้องถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทูตแพนด้ายังคงเป็นการลงทุนที่สอดรับกับประเทศไทยอยู่หรือเปล่า?
แต่เอาเถอะ เรื่องนั้นก็ว่ากันไป อย่างน้อยๆ หมีแพนด้าก็คงสร้างสีสันให้สวนสัตว์ไทยได้อยู่แหละเนอะ เรามาช่วยกันตั้งชื่อดีกว่า ‘เพื่อนอาโป’ ตัวนี้ ควรชื่ออะไรดี คอมเมนต์กันมาได้เลย
…
อ้างอิง :
https://news.ch7.com/detail/782852
https://mgronline.com/daily/detail/9680000012356https://www.thaipbs.or.th/news/content/319881
https://www.thaipbs.or.th/news/content/319881