Skip links

โดนหลอกมาตั้งนาน! เทศกาลฮาโลวีน ไม่ใช่ Soft Power ของอเมริกา?

มีเทศกาลสากลอยู่ไม่มากนักที่หลายแห่งในโลกจะปฏิบัติร่วมกันโดยพร้อมเพรียง ถ้าไม่นับวันขึ้นปีใหม่แล้วล่ะก็ อาจจะมี “วันคริสต์มาส” กับ “วันตรุษจีน” ที่พอจะพบได้ในหลายภูมิภาค แต่เทศกาลสากลไม่ได้มีแค่นี้ เพราะ “วันฮาโลวีน” ยังเป็นหนึ่งในเทศกาลที่คนทั่วโลกพร้อมจอยไปด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ทวีปใดก็ตาม และเผลอๆ วันฮาโลวีน อาจจะเป็นเทศกาลสากลที่ง่ายต่อการเข้าร่วมมากที่สุดในโลกด้วยซ้ำไป

เพราะหากเปรียบเทียบ วันฮาโลวีนมิได้มีความเข้มข้นทางศาสนาเท่ากับวันคริสต์มาส และไม่ได้ขึ้นอยู่กับความผูกพันทางสายเลือดอย่างวันตรุษจีน ทว่าธีมหลักของวันฮาโลวีน ซึ่งเกี่ยวกับผี วิญญาณ ความตาย เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ทุกแห่งหน ธีมดังกล่าวจึงเชื่อมโยงผู้คนได้ทั่วโลก รวมถึงการละเล่นที่เรียบง่าย ทำตามได้แทบจะทุกหมู่ชน อาทิ การแต่งกาย/แต่งหน้าแฟนซี หรือเล่น trick or treat ซึ่งกิจกรรมต่างๆ นอกจากมอบความสนุกแล้ว ยังสามารถเชื่อมสัมพันธ์กับคนรอบตัว เพื่อนบ้าน ชุมชน และสังคมไปในตัวอีกด้วย

ทั้งนี้ ดูเผินๆ ‘วันปล่อยผี’ อาจจะเป็นวัฒนธรรมของชาวอเมริกันสมัยใหม่ หรือจะถือว่าเป็น Soft Power ของอเมริกาก็อาจจะว่าได้ …แต่เดี๋ยวก่อน แท้จริงแล้วเรื่องมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะหากลองย้อนความเป็นมาของวันฮาโลวีน ก่อนจะมาเป็นที่รู้จักผ่านอเมริกา ต้นเรื่องคงต้องย้อนเวลาและย้ายแผ่นดินไปยังถิ่นยุโรป

ว่ากันว่า ต้นกำเนิดของวันฮาโลวีนนั้นมาจากความเชื่อเก่าแก่ของเซลติกโบราณกว่า 2,000 ปีที่แล้ว โดยวันสำคัญนั้นมีชื่อว่า Samhain ซึ่งนับว่าเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อน ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เส้นพรมแดนระหว่างโลกของ “คนเป็น” และ “คนตาย” จะเลือนลางลงในคืนวันที่ 31 ตุลาคม โดยเชื่อกันว่าวิญญาณของคนตายจะกลับคืนสู่โลกในวันนั้น ต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันเข้ามาปกครองอาณาเขตแถบนั้น ส่งผลให้มีการผสานรวมกับประเพณีอื่น จนเกิดเป็นชื่อใหม่ ความหมายใหม่ รวมถึงแนวคิดแบบคริสตจักรที่แผ่ขยายปกคลุมเขตแดนดังกล่าว ก่อให้เกิดพลวัตทางวิถีปฏิบัติและคติความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

ในประเด็นนี้ กําพล จําปาพันธ์ เขียนไว้ในบทความของ The People โดยอ้างอิงถึงผลงานของผู้เชี่ยวชาญสองคนได้แก่ Ruth Edna Kelley และ Ray Bradbury ซึ่งอธิบายว่า ‘Halloween’ มาจากคำว่า ‘All-hallows’ ในคริสตศาสนา หมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล ส่วนชาวเซลติกดั้งเดิมมีคำว่า ‘All Hallows Eve’ หมายถึง ‘วันก่อนฉลองนักบุญทั้งหลาย’ เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงกลายเป็น ‘Hallowe’en’ และ ‘Halloween’ ในที่สุด

อย่างไรก็ดี ในทางทฤษฎีแล้ว นั่นคือเรื่องเมื่อกว่าพันปีที่ก่อน เพราะกว่าที่ฮาโลวีนจะก้าวผ่านกาลเวลามาเป็นอย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ยังมีจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่อีกประการหนึ่ง คือการเดินทางไปยังทวีปใหม่ → แผ่นดินอเมริกา

ในยุคอาณานิคมอเมริกา ฮาโลวีนเป็นที่ยอมรับแค่ในแมรี่แลนด์และอาณานิคมตอนใต้เท่านั้น ทว่าก็ถูกนำมาผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นอีกเช่นกัน ส่วนทางตอนเหนืออย่างนิวอิงแลนด์ แถบนั้นเรียกได้ว่ากีดกันวันฮาโลวีนเสียงแข็ง เนื่องจากความเคร่งในโปรเตสแตนต์ที่มองว่า ‘วันผีหลอก’ เป็นความเชื่อของพวกนอกรีต

ในเวลาถัดมา หลังจากปฏิวัติอเมริกาจนเข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้มีผู้อพยพหน้าใหม่จากยุโรปไหลบ่าเข้าอเมริกามากขึ้น ประกอบไปด้วยชาวไอริชหลายล้านคนที่หลีกหนีภาวะอดอยากจากวิกฤตมันฝรั่ง (The Great Irish Potato Famine) ซึ่งจำนวนมากของชาวไอริชก็สืบเชื้อสายมาจากชาวเซลติก ผู้เป็นต้นตำรับของฮาโลวีนนี่เอง ทำให้การเฉลิมฉลองวันฮาโลวีนแพร่หลายทั่วสหรัฐมากยิ่งขึ้น และมีการผนวกกันจนเกิดประเพณีประดิษฐ์ใหม่ที่ต่อยอดจากประเพณีเก่า

อนึ่ง สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ มิวสิกวีดีโอ ฯลฯ ในยุคที่ ‘ป๊อบคัลเจอร์’ จากอเมริกาก้าวขึ้นมามีอิทธิพล ส่งผลให้วันฮาโลวีนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้ทั่วโลกรับรู้ และสร้างความรู้สึกดีต่ออเมริกามากขึ้น ทั้งยังประสบความสำเร็จในฐานะวัฒนธรรมอเมริกาอันเป็นมิตร เปิดกว้าง และหลากหลาย เห็นได้จากการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวันฮาโลวีนในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งแต่ละแห่งยังผนวกสิ่งสรรค์สร้างของตนเข้าไปอย่างสนุกสนาน

กระนั้นก็ตาม หากจะกล่าวว่าวันฮาโลวีน เป็น Soft Power ของอเมริกา ก็อาจจะยังไม่ตรงตามความหมายเสียทีเดียว แต่ครั้นจะเอ่ยว่าเป็น Soft Power ของชาวเซลติก ก็ไม่น่าจะถูกอีกเหมือนกัน เนื่องจากความหมายของวันฮาโลวีนถูกรื้อถอนจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมแล้ว รวมถึงแต่ละประเทศยังนำสิ่งประดิษฐ์ใหม่แทรกใส่เข้าไปตามวิถีตน กระทั่งฮาโลวีนได้กลายเป็นเทศกาลสากลที่เปิดพื้นที่กว้างสำหรับผู้คนทั้งโลก กล่าวคือ ทุกคนที่ร่วมฉลองวันพิเศษนี้ ล้วนเป็นเจ้าของวันฮาโลวีน และไม่ได้เป็นเจ้าของวันฮาโลวีนในเวลาเดียวกัน

ดังฉะนั้น หากถามว่าวันฮาโลวีนเป็น Soft Power ของใคร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร? …ก็คงตอบได้แบบซื่อๆ ว่า “ขึ้นอยู่กับมุมมอง”  เพราะเมื่อฮาโลวีนเคลื่อนย้ายกลายมาเป็นเทศกาลสากล เมื่อนั้น การจะระบุถึง Soft Power ก็คงคลุมเครือเกินจะนิยามได้อย่างชัดเจน เขียนมาซะยืดยาวเพื่อ “หลอก” ให้อ่านซะอย่างงั้น แฮร่ 👻👻

อ้างอิง:

https://www.pacificcouncil.org/newsroom/halloween-public-diplomacy-boo-st

https://www.history.com/topics/halloween/history-of-halloween

https://www.history.com/topics/holidays/samhain

https://www.countryliving.com/entertaining/a40250/heres-why-we-really-celebrate-halloween/

https://www.thepeople.co/read/history/50582