เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ bangkok design week ปีนี้ ดำเนินมาเป็นปีที่ 8 ด้วยแนวคิด “Design Up+Rising: ออกแบบพร้อมบวก+” เพื่อสร้างพลังบวกผ่านงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดศักยภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเมืองและเปิดโอกาสใหม่ๆ แด่คุณภาพชีวิตของผู้คนในย่านต่างๆ
ทั้งนี้ จากเส้นทางที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้นำชมในช่วงเปิดตัว บนเส้นทางเยาวราช-ทรงวาด และหัวลำโพง ซึ่งมีงานออกแบบจัดแสดงเรียงรายตามจุดต่างๆ โดยประสานมุมมองในชุมชนนั้นๆ ไว้อย่างน่าสนใจ
1. เริ่มต้นกันที่ย่าน เยาวราช-ทรงวาด
พื้นที่ชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงเสน่ห์แห่งอดีตเอาไว้ตามที่อยู่อาศัย ซอกมุมอาคาร รวมไปถึงวิถีชีวิตที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น แม้บางอย่างจะเลือนจางไปตามเวลา แต่หลายอย่างยังเข้มข้นอยู่ในบรรยากาศระหว่างสองข้างทาง โดยแต่เก่าก่อน ย่านเยาวราช-ทรงวาด ถือเป็นพื้นที่ค้าขายอันหลอมรวมวัฒนธรรมทั้งชาวไทย จีน และอินเดีย อยู่ร่วมกัน โดยเรายังสามารถพบเห็นสิ่งหลงเหลือทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตตลอดเส้นทางชุมชนแห่งนี้
โดยไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดในย่านเยาวราช-ทรงวาด ได้แก่
1.1 ตู้โทรสุข by V&FS & Heartsell & Do Itt Now
ตู้โทรศัพท์ที่ให้เราเลือกยกหูหาคนอายุตั้งแต่ 1-100 ปี โดยปลายสายจะบอกเล่าถึง “เคล็ดลับคิดบวก” ในช่วงอายุของตนให้เราฟัง เพื่อส่งต่อพลังบวกแก่กันและกัน นับว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดีทีเดียว ซึ่งตู้สีเหลืองเด่นนี้ ตั้งอยู่ระแวกตึกเก่าของถนนทรงวาดพอดี บรรยากาศให้สุดๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2025/program/105321
1.2 Spice Road by vice versa
ที่นี่ไม่ได้มีแค่ตึกเก่า ไม่ได้มีแค่โกดังสินค้า แต่ยังมีกลิ่นที่ลอยมาแตะปลายจมูกอยู่เนืองๆ เป็นกลิ่นที่บอกเล่าว่า ณ จุดนี้ เคยเป็นศูนย์กลางการค้าของกรุงเทพฯ มาก่อน โดยเฉพาะกลิ่นเครื่องเทศที่อบอวลตามร้านค้า ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนถึงชุมชนชาวอินเดียเคยมาตั้งรกรากค้าขายที่นี่
และกลิ่นที่เคยอบอวลในตลาดหรือในโกดังสินค้า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน ทว่ามันซึมลึกอยู่ในอิฐเก่าๆ ตามซอกซอย อยู่ในจานอาหาร และบางทีอาจอยู่ในความทรงจำของใครบางคน
นิทรรศการ Spice Road คือการปลุกกลิ่นเก่าให้กลับมามีชีวิต ผ่านเรื่องราวของสามยุคตั้งแต่ยุคที่เครื่องเทศเดินทางข้ามแผ่นดินมาสู่ย่านนี้ ยุคที่กลิ่นเหล่านั้นหลอมรวมเข้ากับอาหารไทย และยุคที่กลิ่นต่างๆ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นน้ำมันหอมระเหย พร้อมส่งผ่านความผ่อนคลายไปสู่วันพรุ่งนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2025/program/105296
1.3 สารพัดสำเพ็ง by Trawell Thailand + J Fabric
ในอดีต ถนนทรงวาดเคยเป็นส่วนหนึ่งของย่านสำเพ็งมาก่อน ที่นี่จึงเปรียบเสมือนโกดังป้อนสินค้าสู่สำเพ็ง ก่อนที่จะถูกแยกส่วนและลดบทบาทในเวลาต่อมา โดยเครือข่ายเส้นทางการค้าดังกล่าวยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทางผู้ออกแบบได้ประสานความเป็นมาเช่นนี้ เข้ากับการค้าของจีนยุคใหม่ที่เราเห็นพบเห็นกันมากในช่วงหลังคือ หม่าล่าสายพาน
ผลงานชิ้นนี้จึงถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นสำเพ็งที่มีทั้งงานคราฟต์ และสินค้านานาชนิด โดยเสิร์ฟถึงผู้บริโภคผ่านจานสีแดงสดแบบหม่าล่าสายพาน พร้อมให้ผู้มาเยือนร่วม workshop กันได้ง่ายๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2025/program/106421
2. ย่านหัวลำโพง
2.1 in the red light, WE THRIVE by GUMPOONG X FIRST ARCHITA X BOSS PISIDTHUN
ครั้งหนึ่ง ‘ตรอกสลักหิน’ เคยถูกมองว่าเป็น ‘red zone’ หรือเขตอันตรายที่ใครๆ ก็อยากเลี่ยง ทั้งปัญหายาเสพติด การพนัน ค้าประเวณี ภาพจำประเภทนี้เคยเป็นเงาปกคลุมชุมชนโดยรอบไว้ยาวนาน ราวกับถูกมายาคติจากคนภายนอกสลักติดเหมือนชื่อตรอก
แต่วันนี้ ตรอกสลักหินได้เปลี่ยนไป โดยกลุ่มศิลปินที่คลุกคลีมองว่าชุมชนแห่งนี้ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปในทางทีดีขึ้น
นิทรรศการ in the red light, WE THRIVE จึงเป็นเสียงของชุมชนที่อยากให้โลกได้ยิน และพื้นที่สีแดงที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความอันตราย ถูกตีความใหม่ให้เป็นความงาม ผ่านศิลปะที่สัมผัสได้ทั้งด้วยตา กลิ่น ความรู้สึก และความเข้าใจ
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2025/program/110177
2.2 Octave Maze by วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์
ตึกเก่า เพลงเก่า ของเก่า เหล่านี้เป็นบันทึกอันทรงคุณค่าในพื้นที่จัดแสดงของตึกอัศวิน ถ.นาคราช โดยผู้ออกแบบงาน วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ได้เล่าถึงความสำคัญของอาคารแห่งนี้ ในการเป็นบริษัทภาพยนตร์ และผลิตเพลงประกอบ รวมถึงสถานที่ฝึกการแสดงในตึก ซึ่งในอดีตนับว่าล้ำสมัยที่สุดในประเทศ และเป็นสถานที่บุกเบิกภาพยนตร์ไทยในยุคเริ่มต้น
ในความสำคัญของสถานที่ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ได้ต่อยอดเทคนิคการสร้างเขาวงกตที่เคยใช้ในงาน “Planetary Seed“ มานำเสนอต้นธารวงการบันเทิงไทยด้วยเทคโนโลยยีสมัยใหม่คือคีย์เปียโนที่ซิงค์กับความเคลื่อนไหวของแผ่นกระจกไฟเคลื่อนที่ ซึ่งถูกบรรเลงด้วยเพลงประวัติศาสตร์ในยุคเก่าไว้อย่างเพลิดเพลิน
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.bangkokdesignweek.com/en/bkkdw2025/program/110997
สามารถติดตามโปรแกรมอื่นๆ อีกกว่า 350 โปรแกรมได้ที่
Website: www.bangkokdesignweek.com
Facebook/Instagram: bangkokdesignweek
Twitter: @BKKDesignWeek
Line: @bangkokdesignweek