เป็นกระแสในวงการนักจุ่มมาสักพักแล้ว สำหรับอาร์ตทอย Amitofo ผลงานของศิลปินชาวจีนนามว่า Shu Pi ผู้สร้างสรรค์ผลงานรูปพระอมิตภะพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในนิกายมหายานและวัชรยาน ซึ่งถูกดัดแปลงออกมาเป็นปางต่างๆ มากมาย อาทิ ปางถือทิชชู่นั่งปลดทุกข์, ปาง Work From Home, ปาง It’s OK, ปางนอนเล่นโทรศัพท์ และอื่นๆ
ส่วนที่เป็นไฮไลท์คือตัว Secret ที่ชื่อ Beautiful alone. #ปางมาส์กหน้าทำสวยด้วยชุดคลุมสีจมปูววว~ ปางนี้นี่แหละที่ถูกตั้งชื่อเล่นว่า “หลวงเจ๊” ซึ่งยั่วกิเลสนักจุ่มให้สั่นระรัวจนไม่อาจจะต้านทานไหว จำต้องจุ่มมาประทับชั้นวางกันสักองค์ อีกทั้งยังมีคอลเลกชันที่เป็นพวงกุญแจและสร้อยคอ เหมาะแก่การพกติดตัวไว้ให้สบายใจ
ส่วนเรื่องพุทธคุณ คงเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ต้องเตือนก่อนว่า คนมีของอย่าลองดี เพราะเรื่องแบบนี้ “คนเล่นเขารู้กัน” …ว่าไปนั่น🤣🤣
เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรอยู่แล้วเชียว แต่แล้วก็เป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อ บุญเชิด กิตติธรางกูร รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า
“อยากให้แม่ค้าพินิจพิเคราะห์ให้ดี ก่อนที่จะนำสินค้าใดๆ ก็ตามที่สื่อถึงพระศาสดา มาจัดจำหน่าย ไม่ว่าศาสดาของศาสนาไหนก็ตาม เช่นสินค้าชุดนี้เป็นสินค้าที่สื่อถึงพระเศียรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาห้อยกระเป๋าหรือพวงกุญแจ ไม่เหมาะโดยประการทั้งปวง กรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่ง ที่ผ่านมา พศ. ทำได้เพียงขอความร่วมมือ”
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้อาร์ตทอย “หลวงเจ๊” เป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น และเป็นที่ตามหาของบรรดานักล่ากล่องจุ่มกันแบบฉ่ำๆ โดย Shu Pi ผู้ออกแบบ Amitofo เคยอธิบายไว้ว่า ผลงานดังกล่าวมิได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นของขลัง แต่เป็นไปเพื่อความผ่อนคลายเสียมากกว่า ซึ่งได้การตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักจุ่มชาวไทยเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า Amitofo จะเป็นอาร์ตทอยสัญชาติจีน แต่ก็มีจุดร่วมบางอย่างที่เชื่อมถึงคนไทย ไม่ต่างจากอาร์ตทอยตัวอื่นๆ ที่มาจากต่างแดน และหากกล่าวถึงวงการอาร์ตทอย ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นกระแสถึงขนาดที่รัฐบาลไทยยังต้องเอ่ยปากชม พลางถอดกลยุทธ์ความสำเร็จ และไหลตามน้ำลำเลียงอาร์ตทอยขึ้นขบวน Soft Power ไปกะเขาด้วย
ถึงที่สุดแล้ว วงการอาร์ตทอยก็นับว่าเป็นแขนงหนึ่งของศิลปะและการออกแบบ ทั้งนี้ อาร์ตทอย “หลวงเจ๊” ก็เป็นตัวอย่างของการเชื่อมร้อยสัญลักษณ์ดั้งเดิมเข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของสังคมไทยในยุคดิจิทัลที่พยายามปรับตัวเพื่อสอดรับกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่โดยไม่ทิ้งรากเหง้าทางวัฒนธรรม กระแสของ Amitofo จึงเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างวิถีการแสดงออกร่วมสมัยผ่านมุมมองที่สร้างสรรค์และเข้าถึงง่าย
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสอันดีที่สังคมจะได้เผชิญต่อความเปลี่ยนแปลง ความสร้างสรรค์ และพลวัตทางสังคมที่ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ปรากฏการณ์นี้ได้เปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงและแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้อย่างมีวุฒิภาวะ ว่าจะสามารถจัดสมดุลระหว่างการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่ทางศิลปะได้อย่างไร
ในท้ายที่สุด เราอาจต้องย้อนกลับไปพิจารณาหลักธรรมพื้นฐานที่ว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา วัตถุสิ่งของย่อมไม่เที่ยง แม้แต่รูปแบบการแสดงออกซึ่งความศรัทธาก็ล้วนแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หากแต่สิ่งสำคัญคือการวางใจเป็นกลาง รักษาอุเบกขา พร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ
สาธุ