ดั๊ม คาราบาว ชายหนุ่มผู้เข้ามาเป็นสมาชิกคณะควายเฒ่าสุดยอดตำนาน ตั้งแต่อายุ 18 ปี หลังจากที่ลือชัย งามสม หรือ ‘ป๋าดุก’ มือคีย์บอร์ดประจำวงคาราบาว จากไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 หลังจากนั้นแฟนๆ ก็ได้รู้จักกับสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี วงเพื่อชีวิตระดับนี้จะเอาใครมาเล่นคีย์บอร์ดตำแหน่งนั้นก็ได้ และเชื่อว่ามีผู้แก่กล้าหลายรายซึ่งพร้อมด้วยฝีมือ แต่คาราบาวกลับเซอร์ไพรส์แฟนๆ อย่างไม่คาดคิด เพราะหวยดันมาออกที่หนุ่มคะนองวัย 18 ปี ผู้ได้รับการขนานนามจาก ‘น้าแอ๊ด’ ว่า “เด็กอัจฉริยะ”
ด้วยความสามารถที่ล้นเหลือ เล่นได้ทุกเครื่องในวง เสียบแทนใครตำแหน่งไหนก็ได้หมดอย่างไม่บกพร่อง หนุ่มดั๊มจึงได้รับความไว้วางใจจากลุงๆ ให้รับผิดชอบในตำแหน่งที่ขาดหาย อย่างล่าสุด คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้ายของเล็ก-คาราบาว ที่จัดขึ้นกับปู-พงษ์สิทธิ์ ดั๊มเองก็ได้มาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงส้นตีน วงแบ็คอัพคอนเสิร์ตใหญ่ตลอด 3 ชั่วโมงที่อิมแพค อารีนา
แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ คงต้องกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ เพราะดั๊มไม่ได้รู้จักใครในวงเป็นการส่วนตัว ไม่ได้เป็นญาติกับใครทั้งนั้น ไม่รู้จะเอาตัวเองไปอยู่ในวงโคจรรอบข้างของสมาชิกคาราบาวได้อย่างไร
ในเมื่อโอกาสไม่ได้วิ่งเข้าหาเรา ก็ต้องเป็นเราที่วิ่งหาโอกาส
ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากความพร้อม โอกาส และจังหวะเวลา ทว่ากว่าจะมาเป็น ‘ดั๊ม คาราบาว’ เราคงต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น
เด็กชายดั๊ม จากพนัสนิคม
เด็กชาย เอกมันต์ พิเศษ เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 เติบโตขึ้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ในครอบครัวที่ชื่นชอบเสียงเพลง และมีเครื่องดนตรีอยู่ใกล้ตัว ทำให้เด็กชายดั๊มเริ่มสนใจดนตรีตั้งแต่ 3 ขวบ และมีความคิดอยากจะเล่นกับวงคาราบาวตั้งแต่ตอนนั้น
“ความคิดที่อยากจะเล่นกับคาราบาว มีมาตั้งแต่ 3 ขวบเลย” ดั๊มย้อนความหลังถึงวัยเด็กให้เราฟัง
จนเมื่ออายุ 6 ขวบ ดั้มจึงได้เริ่มหัดเล่นดนตรี ในตอนแรกดั๊มอยากเป็นมือกลอง แต่ทว่าคุณพ่อดันบังคับให้เล่นกีต้าร์ เด็กน้อยจึงต้องหัดกีต้าร์เป็นอันดับแรก ทั้งฝึกเองบ้าง เรียนรู้จากคนใกล้ตัวบ้าง
ต่อมาเมื่อน้องดั๊มอยู่ ป.4 ก็ได้รับโอกาสได้เล่นดนตรีกับผู้ใหญ่มากขึ้น ได้เล่นร่วมกับวงดนตรีรุ่นพี่ และวงรุ่นพ่อ ได้รับหน้าที่เป็นมือโซโล่ รวมถึงได้แสดงดนตรีตามงานต่างๆ อยู่ตลอด และถึงแม้ว่าต่อมา ดั๊มจะสามารถเล่นเครื่องอื่นได้เยอะ แต่เขาก็ยังเรียกตัวเองว่าเป็นมือกีต้าร์อยู่ เพราะเป็นเครื่องที่ช่ำชองที่สุด
“ผมเป็นมือกีต้าร์นะเอาจริงๆ แล้ว”
และเมื่อถามถึง “มือกีต้าร์ในดวงใจ” ดั๊มก็ตอบกลับมาแบบแทบไม่ต้องคิด
“ลุงเล็กนี่แหละ ไม่ใช่ใครหรอก มีลุงเล็ก กับ พี่ป็อป The Sun”
“ลุงเล็กเขาไม่เหมือนใครในโลกเลยดีกว่า ทั้งสำเนียง ลูกโซโล่ วิธีการคิดงาน มันไม่เหมือนใคร คือฟังอ่ะรู้ แต่คนอื่นทำได้ยาก ผมยังรู้สึกว่าอยากจะเอาอย่าง แต่จะไปซ้ำแกก็ไม่ได้ เพราะแกก็มีสำเนียงแกแล้ว”
“หาตัวเองเนี่ยหายาก ผมก็อาจจะหาเจอบ้าง แต่มันก็คงไม่เหมือนแกอย่างงั้น”
(ภาพจาก facebook: Lek Carabao Solo)
ไขว่คว้า หาโอกาส
ระหว่างนั้น มือกีต้าร์ที่น่าจับตามองที่สุดแห่งพนัสนิคมก็เล่นดนตรีเรื่อยมา และด้วยความชื่นชอบ จึงคอยสังเกตและศึกษาอยู่ตลอด ดูว่าแต่ละท่อน แต่ละเพลงนั้นเล่นอย่างไร ต้องใช้เสียงแบบไหน ไลน์การเล่นเป็นอย่างไร ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ดั๊มสามารถแกะและเล่นดนตรีได้หลายชิ้น เอาเป็นว่าเล่นได้ทั้งวงเลยละกัน
และแน่นอน ถ้าวันไหนคาราบาวมาทำการแสดงที่ชลบุรี หรือละแวกใกล้เคียง ดั๊มและครอบครัวก็จะตามไปดูอยู่ไม่ขาด เพราะไม่อยากพลาดวงโปรด แต่ก็อีกนั่นแหละ เด็กคนหนึ่งจะไปทำความรู้จักกับรุ่นใหญ่อย่างวงคาราบาวได้อย่างไร
“ผมไม่ได้เป็นญาติกับใครทั้งนั้น ผมเป็นเด็กคนหนึ่งจากพนัสนิคม”
“มีโอกาสคุยกับใครได้ก็คุย ติดต่อใครได้ก็ติดต่อ”
คนแรกที่คุยด้วยคือ “ลุงดุก”
“เชื่อไหมว่าคนที่ผมทักไปคุยในเฟซบุ๊คคนแรกตอน ม.1 ก็คือลุงดุกนี่แหละ”
“คือช่วงนั้นผมแข่งดนตรีที่โรงเรียน ก็ทักไปแนะนำตัว สวัสดีครับผมชื่อดั๊ม อยากขอคำแนะนำจากลุงดุก ก็เลยได้คุยกัน แกก็ถามว่าเป็นไงบ้าง เพลงปรับดีขึ้นไหม”
“แล้วทีนี้แกก็ให้เบอร์มา บอกว่า ดั๊ม…โทรมาหาลุง”
ในภาพจำของหลายคน การจะเข้าไปพูดคุยกับวงเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่ระดับคาราบาว คงไม่ใช่เรื่องง่ายเป็นแน่ แต่โชคดีที่ตอนนี้คือยุคโซเชี่ยล ก็ช่วยทำให้การสื่อสารง่ายขึ้น
อนึ่ง ดุก คาราบาว ก็เป็นคนชลบุรีเช่นกัน แต่ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุนี้ด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้ลุงดุกเอ็นดูหลานดั๊มเป็นพิเศษ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่ดั๊มจะได้คุยกับลุงดุก
“เลิกเรียนเสร็จ ผมก็โทรไปตอนเย็นๆ พอได้คุยกับแกก็ตื่นเต้น นี่ผมไม่เคยบอกใครเลยนะเนี่ย”
“คือไม่คิดไม่ฝัน ผมเห็นเขาในคอนเสิร์ต ใน vcd dvd ในโทรทัศน์”
“แล้วอยู่ดีดี อะไรวะ คุยโทรศัพท์กับเราแล้ว”
เมื่อประตูบานแรกถูกเปิดออก หลังจากนั้น ดั๊มก็พยายามทำความรู้จักและเข้าหาคนอื่นๆ ในเฟซบุ๊กมากขึ้น ทั้งพี่ๆ ทีมงาน และคนเบื้องหลังของคาราบาว
“ผมก็พยายามรู้จักกับทีมงานคนอื่นๆ พี่ๆ เบื้องหลังในเฟซฯไปเรื่อย”
“ก็เลยได้มารู้จักอีกคนคือ น้าอ็อด อ่างทอง (ภูวกฤต นนท์ธนธาดา) sound engineer ในห้องอัดของคาราบาว”
“แกเป็นคนเปิดวิดีโอที่ผมเล่นดนตรีให้ลุงแอ๊ดดู แนะนำให้ลุงแอ๊ดรู้จักว่าเด็กคนนี้มันเล่นอย่างงี้ เป็นไงบ้าง”
“ลุงแอ๊ดก็ชอบ แล้วปีที่แล้ว (2566) ลุงแอ๊ดก็เริ่มชวนให้มาเล่น มาแจม ตั้งแต่ตอนที่ลุงดุกยังไม่เสีย”
ในตอนแรก ดั๊มมีโอกาสได้ขึ้นไปตีคองก้าบ้าง เล่นกีต้าร์บ้าง งานไหนที่ใกล้ๆ สามารถไปได้ก็จะไป แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นร่วมวง ร่วมทัวร์เต็มตัวขนาดนั้น ออกเป็นสมาชิกเฉพาะกิจเสียมากกว่า
(ภาพจาก facebook: เอกมันต์ พิเศษ)
ลุงดุกป่วยหนัก
จุดเปลี่ยนสำคัญของเด็ก 18
เข้าสู่ช่วงต้นปี 67 ประมาณเดือนมีนาคม ดั๊มก็ใช้ชีวิตตามประสาเด็กหนุ่มที่พนัสนิคมเหมือนทุกวัน เดิมทีเขามีวงดนตรีของตนเองที่โรงเรียน พยายามไปแข่งขัน ประกวดตามรายการต่างๆ แต่แล้ววันหนึ่ง ดั๊มก็ได้รับโทรศัพท์ที่จะทำให้ชีวิตเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยคนที่อยู่ปลายสายนั้นคือ “แอ๊ด คาราบาว”
“ดั๊ม…ลุงดุกของมึงป่วยเนี่ย บินมาเล่นแทนตอนนี้เลยได้ไหม” ดั๊มกล่าวถึงประโยคที่ลุงแอ๊ดโทรมาพูดกับเขา ซึ่งยังจดจำได้ดี
“แต่ตอนนั้นผมอยู่บ้าน พนัส (นิคม) เนี่ย แล้วคือผมเป็นมือกีต้าร์ (ลุงดุกเล่นคีย์บอร์ดเป็นหลัก) ผมจะเอาอะไรไปเล่น แล้วไฟลท์บินจะหาได้ป่าว ไปทันไหม เพลงจะแกะทันป่าว จะไปถึงดอนเมืองกี่โมง” ดั๊มลงรายละเอียดให้เราเห็นถึงความร้อนรน เมื่อต้องเจอกับงานด่วน งานไฟไหม้
ถึงจะฉุกละหุกขนาดไหน แต่ในเมื่อมีโอกาส ก็ต้องคว้าไว้
เมื่อปลายสายคือลุงแอ๊ด ไหนเลยที่ดั๊มจะปฏิเสธได้ งานนี้นับว่าเป็นงานแรกที่เขาจะได้ขึ้นเล่นกับคาราบาวในฐานะสมากชิกที่มีบทบาทเต็มตัว ด้วยการมาทดแทนตำแหน่งของลุงดุก สมาชิกคาราบาวคนแรกที่ดั๊มได้คุยด้วย ซึ่งล้มป่วยไปในขณะนั้น
“ลุงแอ๊ดแกก็ให้พี่ทีมงานวอร์เนอร์จองเที่ยวบินให้”
“ผมต้องแกะ 24 เพลง แต่ผมมีเวลาแกะแค่ตอน 9 โมงเช้า ถึง 10 โมงครึ่ง”
“แล้วก็ต้องไปยืมคีย์บอร์ดของโรงเรียนมาอีก”
วัยรุ่นคนหนึ่งที่ต้องขึ้นไปเล่นกับคาราบาว 24 เพลง โดยมีเวลาแกะเพียงแค่ชั่วโมงครึ่ง แล้วไลน์คีย์บอร์ดเพลงคาราบาวแต่ละเพลง ล้วนมีบทบาทสำคัญ โดดเด่น และไม่ง่าย ซึ่งภารกิจอันหนักอึ้งนี้ตกมาอยู่บนสิบนิ้วของเด็กหนุ่ม อีกทั้งยังเป็นการวัดใจ ประลองฝีมือไปในตัว
ในแง่หนึ่งลุงแอ๊ดต้องเชื่อใจว่าดั๊มสามารถเล่นได้ แต่หากลองคิดในมุมกลับ ถ้าดั๊มแสดงผลงานออกมาไม่น่าประทับใจ เวทีนี้อาจจะเป็นการปิดตายโอกาสต่อไปก็ได้เช่นกัน
“เรื่องเพลงผมรู้ คือเราฟังอยู่แล้ว”
“ว่าง่ายๆ คือผมพร้อมเล่น” ดั๊มพูดด้วยความมั่นใจ เนื่องจากเฝ้าดูและศึกษางานของคาราบาวมาตั้งแต่จำความได้
กระนั้นก็ตาม คีย์บอร์ดถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ต้องอาศัยความคุ้นเคยอยู่พอสมควร เพราะต้องปรับเสียงเยอะ แต่ละท่อน แต่ละเพลงใช้เสียงไม่เหมือนกัน อีกทั้งยี่ห้อต่างๆ ก็มีปุ่มปรับ วิธีการปรับที่ต่างกันไปอีก ซึ่งนี่แหละคือความยาก หากปรับไม่คล่อง หรือปรับไม่ทัน ก็ไม่ต่างจากการเล่นหลุด
“วันแรกที่ได้เล่น ก็ปรับผิดปรับถูกบ้าง”
“พอวันที่สองก็เริ่มคล่องขึ้น ทีนี้ก็ไม่ยากแล้ว”
“ทุกวันนี้ไลน์คีย์บอร์ดที่ผมเล่น ผมก็พยายามรักษาไลน์ของลุงดุกเอาไว้” ดั๊มพูดด้วยความเคารพในเจ้าของตำแหน่งคนเก่า
(ภาพจาก facebook: เอกมันต์ พิเศษ)
จากป๋าดุก สู่ ป๋าดั๊ม
การจากไปของ ‘ป๋าดุก คาราบาว’ นับว่าสร้างความโศกศัลย์แก่แฟนเพลงเพื่อชีวิตทั่วเมืองไทย แต่หลังจากนั้นไม่นาน หลายคนก็ได้พบกับคลื่นลูกใหม่ และด้วยความที่อายุยังน้อย แต่ทว่าเปี่ยมล้นด้วยศักยภาพ ทำให้เวลาไปไหนมาไหน ดั๊มก็กลายเป็นที่ชื่นชอบ และได้รับความเอ็นดูจากลุงป้าน้าอาแฟนคาราบาวทุกหนแห่ง จนเป็นที่มาให้ลุงๆ ในวงแซวว่าเดี๋ยวนี้เขากลายเป็น “ป๋าดั๊ม” หรือ “เสี่ยดั๊ม” ไปซะแล้ว เนื่องจากเวลาไปทำการแสดงที่ไหนก็ตาม จะเป็นเจ้าดั๊มนี่แหละที่ได้ทิปจากคนดูไปบานเบอะ (ฮ่าๆ)
“ทุกวันนี้อยู่วงคาราบาวเต็มตัว ผมได้ประสบการณ์ และได้เห็นการทำงานของคนเยอะ ทั้งสเตจ ทีมซาวนด์ ทีมไฟ แม้กระทั่งคนที่มาดู”
“สิ่งนี้แหละคือความยิ่งใหญ่สำหรับผม” ดั๊มกล่าวออกมา และเอามือทาบอกด้วยความปลาบปลื้ม
ทั้งนี้ ดั๊มกำลังจะได้ขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้ง ในงานซึ่ง (อาจจะ )เป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้ายของปูชนียบุคคลแห่งวงการเพื่อชีวิต “แอ๊ด บาว อะคูสติก คอนเสิร์ต” ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ สังเกตได้ว่าวงคาราบาวดูจะภูมิอกภูมิใจ และเรียกใช้บริการดั๊มในช่วงบั้นปลายอาชีพของลุงๆ ด้วยความปิติทุกคน ราวกับว่าคลื่นลูกเก่ากำลังจะไป และคลื่นลูกใหม่กำลังจะมา ยังไงยังงั้น
“ผมอยู่ด้วยความรัก รักลุงๆ ทุกคน รักแฟนคลับทุกคนที่มาเชียร์ ทุกวันนี้มาเล่นดนตรีกับคาราบาว แต่ผมก็ยังถือว่าตัวเองเป็นแฟนคลับอยู่”
“ผมไม่ใช่ศิลปินวงคาราบาวที่ยิ่งใหญ่อะไร ผมก็คือแฟนคลับคนนึง”
มาถึงตอนนี้ เรื่องราวของดั๊มก็พาให้เรานึกถึงหลายบทเพลงของคาราบาว แต่หากให้เลือกมาสักหนึ่งท่อน หนึ่งเพลง ก็คงจะต้องเป็นเพลง ‘คนล่าฝัน’ นี่แหละ โดยเฉพาะท่อนนี้
“โอ้ชีวิตมีอะไรตั้งเยอะแยะ
มีเกิดแก่เจ็บตายคล้ายๆ กัน
แต่สิ่งที่มีไม่เหมือนคือความฝัน
อยู่ที่ใครจะล่ามันให้อยู่มือ”
(ภาพจาก facebook: Aekkaman Piset)