กุ้งตัวโตหลังงอสวยลอยในน้ำซุปสีส้มสดจากพริกเผาหอมกลิ่นตะไคร้ ใบมะกรูด รสชาติจัดจ้านทั้งหวาน เปรี้ยว เผ็ดปรุงรสผสมผสานกันอย่างลงตัว เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของ “ต้มยำกุ้ง” เมนูอาหารไทยล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็ยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ที่กรุงอาซุนซิออน สาธารณรัฐปารากวัย ในวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (ตามเวลาไทย) ยูเนสโกยก ต้มยำกุ้ง ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับได้ว่าเป็นมรดกไทยชิ้นที่ 5 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามหลังโขน, การนวดไทย, โนรา และเทศกาลสงกรานต์ที่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้ พร้อมเป็นตัวแทนเมนูเด็ดที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทยตั้งแต่อดีตที่ผูกพันกับธรรมชาติ สมุนไพรใกล้ตัว กุ้งน้ำจืดในแม่น้ำริมคลอง รวมถึงกระบวนการปรุงที่ประณีต ใส่ใจในเรื่องอาหาร ตลอดจนปัจจุบันที่ถึงแม้จะไม่ต้องลงไปจับกุ้งเองแล้ว แต่ความพรีเมียมของกุ้งก็บ่งบอกจึงความใส่ใจได้ดี
การที่ต้มยำกุ้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ในเวลานี้ ต้องบอกเลยว่าคงจะไม่มีจังหวะไหนถูกกาละและเทศะไปมากกว่านี้ เพราะถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สานต่อซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารไปอีกขั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายประเทศว่า อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนซอฟต์ พาวเวอร์ของประเทศได้เป็นอย่างดี อาทิ เกาหลี ใช้อาหารในซีรีส์เกาหลีเป็นวัตถุดิบหลักเชิญชวนให้คนดูอยากกินตาม ไม่ว่าจะ กิมจิ รามยอนในหม้อทองเหลือง ไก่ทอดกับเบียร์ หรืออย่างที่จีนเสิร์ฟเหมาไถ – เหล้าไป๋จิ่วขึ้นชื่อบนโต๊ะประชุมนานาชาติให้ผู้มาเยือนได้ดื่มด่ำวัฒนธรรมการร่ำสุราแบบจีนที่ไม่เหมือนใคร
พอลองหาข่าวอ่านดู ก็พบว่าทางกระทรวงวัฒนธรรม ก็มีแนวทางการส่งเสริมและต่อยอดตามนโยบายของรัฐบาลไว้บ้างแล้ว เช่น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงสอดแทรกเนื้อหา ต้มยำกุ้ง เพื่อสร้างกระแสความนิยมในวงกว้าง รวมถึงยังวางแผนเพิ่มให้ ต้มยำกุ้ง เป็นเมนูอาหารจานเด็ดจานหลักที่ต้องกินเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย อีกทั้งยังเพิ่ม ต้มยำกุ้ง ให้เป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ พร้อมชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวร่วมจัดแคมเปญพิเศษกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง “เพื่อสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของต้มยำกุ้ง”
แต่ถ้ามาถึงจุดนี้มันก็ดูจะย้อนแย้งหน่อย ๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้านอกจาก “ส้มตำ” แล้ว ก็มี “ต้มยำกุ้ง” นี่แหละที่เป็นเมนูประจำชาติไทยที่ชาวต่างชาติคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะด้วยความที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูเผ็ดร้อน รสชาติจัดจ้านที่ต้องลองมากินที่ไทยจริง ๆ สักครั้ง โด่งดังไปจนถึงขั้นในบางประเทศมักมีขนมรสต้มยำกุ้งอยู่บนชั้นอยู่แล้ว ตลอดจนในพจนานุกรม Oxford English Dictionary (OED) เองก็ยังมีคำนี้อยู่แล้ว
และอีกส่วนก็คงเป็นเพราะภาพยนตร์เจ้าของประโยคเด็ด ช้างกูอยู่ไหน อย่างเรื่องต้มยำกุ้งที่พี่จาพนมออกเดินทางตามหาช้างไปจนถึงร้านอาหารในต่างประเทศที่ชื่อว่าร้าน ต้มยำกุ้ง จนกวาดรายได้ทั่วโลกไปมากกว่า 1,000 ล้านบาท ส่งออกภาพจำความเป็นไทยผ่านการให้ความสำคัญกับช้าง พร้อมสอดแทรกศิลปะการต่อสู้ไทยอย่างมวยคชสาร และแอบใส่กิมมิคเล็ก ๆ ผ่านชื่อร้านอาหารด้วย ต้มยำกุ้ง ทำให้เป็นกระแสต้มยำกุ้งฟีเวอร์กันอยู่พักหนึ่ง
กล่าวโดยสรุป การได้รับการขึ้นทะเบียนนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่สงสัยในวิธีการเท่านั้น เพราะหากมอง ต้มยำกุ้ง เทียบเคียงไปกับ 3 เสาหลักที่ใช้พิจารณาซอฟต์ พาวเวอร์ที่ใช้พิจารณาประเทศต่าง ๆ มามองอาหารจานนี้จะพบได้ว่า ต้มยำกุ้งมีทั้งความคุ้นเคยในมุมมองของประเทศอื่น (Familiarity) มีชื่อเสียงและปัจจัยดึงดูด (Reputation) ให้ชาวต่างชาติได้มาลองสัมผัสของแทร่ ไปจนถึงมีอิทธิพลต่อประเทศอื่น (Influence) อยู่แล้วดังที่กล่าวมาข้างต้น การจะปลุกกระแสการรับรู้ให้เมนูต้มยำกุ้งอาจจะยังไม่ใช่โจทย์สำคัญ แต่เป็นการบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ไทยถึงมูลค่าของเมนูนี้ที่เกิดขึ้นมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีวัตถุดิบมาอยู่ในมือแล้ว จะไม่ปรุงต่อก็กะไรอยู่ ถึงจะดูแล้วเหมือนไปลอกการบ้านเพื่อนข้างห้องมา แต่หากปรุงแล้วไม่ถึงเครื่อง มีรสชาติโดด จนคนดูออกว่าพยายาม ต้มยำกุ้งจานนั้นก็อาจเสียรสชาติได้ อย่างที่เคยประกาศทำเดือนมหาสงกรานต์มาแล้ว