“Tomorrowland” – เทศกาลดนตรี EDM สุดยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่รวบรวมศิลปินชื่อดังนับร้อยชีวิตมาแสดงบนเวทีที่ประดับประดาด้วยธีมแฟนตาซีสุดอลังการกว่า 16 เวที
พร้อมเฉลิมฉลองด้วยพลุหลากสีสุดตื่นตาที่จะมาแต่งเติมท้องฟ้ายามกลางคืนให้สดใส แถมผู้เข้าร่วมงานยังได้พบเจอคนคอดนตรีเดียวกันอีกนับหมื่น จนคว้ารางวัล “งานดนตรีที่ดีที่สุดแห่งปี” 5 ครั้งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2012-2016 ในงาน International Dance Music Awards
จุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่นี้ต้องย้อนไปในปี 2005 สองพี่น้อง Manu และ Michiel Beers ร่วมกับบริษัท ID&T เนรมิตลานกว้างในสวนสาธารณะ De Schorre ที่เมือง Boom ประเทศเบลเยียมให้กลายเป็นงานเทศกาลดนตรี EDM ที่ผู้คนนับล้านอยากไปเยือนสักครั้งในชีวิต แม้จะต้องแย่งชิงและจ่ายค่าบัตรราคาแพงขนาดไหน ทำให้ในปีที่แล้ว Tomorrowland มีผู้เข้าร่วมกว่า 400,000 คน
เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ใช้งาน Reddit รายหนึ่งที่ชื่อ “ilcowy” ทดลองคำนวณขนาดพื้นที่การจัดงานเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงกว่า 13 แห่ง โดยใช้ Google Earth Pro บันทึกภาพเทศกาลต่างๆ จากนั้นนำไปร่างในโปรแกรมออกแบบที่ชื่อว่า “CAD” เพื่อเปรียบเทียบขนาดของแต่ละเทศกาล
ผลปรากฏว่า Tomorrowland มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 โดยมีพื้นที่ประมาณ 537 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,358 ไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของเมืองบูม
หรือถ้าใครนึกภาพไม่ออก ก็เหมือนเอางาน Big moutain มาต่อกัน 2.5 งาน หรือเอางาน Maya มาต่อกันถึง 4 งานเลยทีเดียว !
แน่นอนว่าเมื่อจัดงานใหญ่ขนาดนี้ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจย่อมมากขึ้นตามไปด้วย
แม้ในช่วงแรกของการจัดงานย่อมเป็นธรรมดาที่จะไม่ได้กำไร แถมยังขาดทุนบ้างในบางครั้ง แต่ในปี 2013 มีการเปิดเผยว่า Tomorrowland สามารถสร้างรายได้กว่า 70 ล้านยูโร ให้แก่เบลเยียมได้ โดยกว่า 19 ล้านยูโร เป็นการใช้จ่ายจากผู้คนที่อาศัยอยู่นอกเบลเยียม
อีกทั้ง ในปี 2016 Tomorrowland ยังสร้างรายได้ให้เบลเยียมเพิ่มมากขึ้นเป็น 100 ล้านยูโร และนำเงินมาสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นอีก 100 ล้านยูโร ทั้งยังเกิดการจ้างงานผู้คนอีกกว่า 12,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คน ในปี 2018 และ 2019 พาให้ Tomorrowland ทำกำไรไปกว่า 20 ล้านยูโร
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ ตั้งแต่ปี 2012 Tomorrowland จับมือกับ “บรัสเซลส์ แอร์ไลน์ส” ออกแพ็คเกจเที่ยวบินสุดพิเศษ พร้อมทริปเที่ยวรอบยุโรป “Tomorrowland’s Global Journey” พร้อมบรรทุกผู้โดยสารกว่า 2,000 คน จาก 15 เมืองทั่วโลกมาเยือนยังเมืองบูม
แพ็คเกจนี้ได้รับการตอบรับค่อนข้างดีไปพร้อมกับชื่อเสียงของงานที่เติบโตมากขึ้น ทำให้มีผู้มาใช้งานเที่ยวบินนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2023 มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 40,000 คน จาก 200 ประเทศ
จากตัวเลขทั้งหลายนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า Tomorrowland ย่อมส่งเสริมให้เงินสะพัดในท้องถิ่นสูงมาก ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเตรียมพื้นที่ ไปจนถึงหลังจบงาน
เดิม Tomorrowland ถูกสร้างขึ้นจากบ่อดินเก่าที่ไม่ได้ใช้ ทางออร์แกไนเซอร์จึงจ่ายค่าเช่าที่จัดงานจากชาวบ้านท้องถิ่นที่ดูแลพื้นที่จัดงานทุกๆ ปีถึง 20 ราย ซึ่งในช่วงอื่นที่ไม่ได้มีการจัดงานก็สามารถใช้สวนสาธารณะได้ตามปกติ อีกทั้ง รอบๆ สวนยังมีผลงานศิลปะจำนวนหนึ่ง และประติมากรรมจำนวนมาก ทำให้สามารถเพิ่มบรรยากาศได้ทั้งตอนที่จัดงานและตอนที่ไม่ได้จัดงาน
นอกจากนี้ Tomorrowland ยังมีพื้นที่ DreamVille เป็นสถานที่ตั้งแคมป์อย่างเป็นทางการให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งภายในงานยังมีร้านค้าและร้านอาหารท้องถิ่นของประเทศเบลเยียม สนับสนุนให้ร้านอาหารท้องถิ่นทั้งในงานและในเมืองเติบโตขึ้นจากการเข้าพักตลอด 3 วัน
รวมถึง เวทีที่เป็นพ้อยต์หลักของดินแดนแฟนตาซีแห่งนี้ยังถูกผลิตขึ้นในท้องถิ่นแบบ 100% โดยใช้เวลาในการสร้างกว่า 50 วัน โดยจะเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เดือนมกราคม แม้เทศกาลจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการส่งเสริมช่างฝีมือในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ในตอนนี้ Tomorowland เคยขยายพื้นที่จัดงานไปนอกเบลเยียมมาแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บราซิล และฝรั่งเศส แม้ตัวงานอาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่เท่างานแม่ที่เมืองบูม แต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่เมืองนั้นอย่างมหาศาล
มีรายงานว่า TomorrowWorld 2013 ที่จัดขึ้นในเมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา สร้างรายได้ให้รัฐจอร์เจียกว่า 85.1 ล้านดอลลาร์ โดยเงินกว่า 70 ล้านดอลลาร์เข้าเมืองแอตแลนต้าโดยตรง และเงินกว่า 28.7 ล้านดอลลาร์เป็นรายได้ที่มาจากค่าใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงานที่จับจ่ายใช้สอยกับสิ่งต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น ที่พัก ร้านอาหาร และการเที่ยวชมสถานที่
ส่วนในด้านการจัดงาน พื้นที่จัดงานต่างๆ เหล่านี้ล้วนอยู่ใกล้หรือเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงของเมืองนั้นๆ ทั้งสิ้น รวมถึงงานแม่ที่เมืองบูมเองก็ตั้งอยู่ห่างจากกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ไปทางเหนือเพียง 16 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองแอนต์เวิร์ป ซึ่งเมืองใหญ่อีกเมืองไปทางใต้ราว 16 กิโลเมตร
การจัดในไทยจึงจำเป็นต้องหาพื้นที่ที่เป็นไปได้ โดยในปี 2019-2020 เคยมีข่าวลือมาแล้วครั้งหนึ่งว่ากำลังมีการตกลงหารือกันถึงโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ Tomorrowland ที่จะจัดขึ้นในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 2-3 พันล้านบาท จากนักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมทั่วโลก และ Big Spender อย่างจีน
แต่แล้วข่าวคราวก็เงียบลง จนเมื่อไม่นานมานี้ งานนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ซึ่งหากจะต้องจัดงานในไทย อาจจะต้องกลับมาดูเรื่องพื้นที่กันอีกครั้ง เพราะจำเป็นจะต้องหาพื้นที่ที่กว้างมากพอ ไม่ไกลจากเมืองใหญ่ และยังต้องอยู่ในพื้นที่ที่สามารถดึงดูดผู้คนได้เป็นอย่างดี
เมื่อบ่อดินเก่าๆ ใน “เมืองบูม” ทำให้เมือง “บูม” ได้ขนาดนี้
ปทุมธานี อยุธยา สวนผึ้งราชบุรี เชียงใหม่ หรือภูเก็ต ก็อาจจะเป็นไปได้ทั้งสิ้น
แต่หากลองจินตนาการดูว่าเราสามารถยกเทศกาลดนตรี EDM ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาจัดในเมืองไทยได้ล่ะ อืมมม…นะ แค่คิดก็หัวจะปวดแล้วคุณน้า เพราะการเนรมิตสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวหลักหลายแสนได้นั้น ไม่ต่างจากการสังคายนาเมืองนั้นเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง ขนส่งสาธารณะ ประปา ไฟฟ้า โรงพยาบาลหรืออนามัยชุมชน รวมถึงหน่วยงานดูแลรักษาความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งทั้งหมดยังมีคุณภาพและปริมาณไม่เพียงพอจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งยังไม่ต้องเอ่ยถึงปัญหาหน้างานที่เทศกาลดนตรีในไทยยังแก้ไม่ตก อาทิ ควันบุหรี่ / กัญชา ที่ฟุ้งกระจายข่มขืนระบบหายใจของผู้ร่วมงานคนอื่น การจัดการขยะที่ไม่เป็นระเบียบ การควบคุมจัดการฝูงชน หรือแม้แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘การปล่อยคาร์บอน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่งานระดับโลกให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความอลังการงานสร้าง
แต่แน่นอนล่ะ ถ้าหาก Tomorrowland มาจัดที่ประเทศไทยได้จริงๆ ก็คงเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้เป็นแน่ รวมถึงการยกระดับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งถึงแม้เรื่องนี้จะไม่ทำเงินโดยตรง แต่ก็เป็นคุณูปการแก่ประชาชนพื้นที่นั้นๆ ในระยะยาว
อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความเป็นไทยสู่สากลไปพร้อมๆ กันได้ด้วย เพราะในงานเทศกาลดนตรีแบบนี้ ย่อมไม่ได้มีแค่สุนทรียะทางดนตรีให้เสพสมเพียงอย่างเดียว แต่ทว่ายังเป็นศูนย์รวมของสินค้า อาหาร และวัฒนธรรมที่ต่างชาติจะได้มาสัมผัสถึงอรรถรสความเป็นไทยในทุกมิติ
หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ธีมของ Tomorrowland ที่เป็นเทพนิยาย แฟนตาซี อันเป็นปกรณัมทางฝั่งตะวันตก หากนำมาผสานกับบ้านเรา ซึ่งก็มีความรุ่มรวยในปกรณัมที่ไม่แพ้กัน ในไตรภูมิของเราก็มีสวรรค์ตั้ง 6 ชั้น มีนรกตั้ง 8 ขุม และตัวละครในวรรณคดีอีกมากมาย รวมถึงความเป็นไทยในรูปแบบใหม่ๆ หากเราผสานเข้าไปในฉากเวทีหรืองานโปรดักชั่นได้ ก็เป็นการแสดงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และ soft power ของไทยไปในตัว
อย่างไรก็ดี ล่าสุดทาง Tomorrowland ออกมาเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของก็การเจรจา ดูสถานที่ และประเมินความพร้อมอยู่ ยังเหลืออีกหลายขั้นตอนก่อนจะสรุปได้ว่าจะมาจัดที่ประเทศไทยหรือไม่ แต่ก็มิวายนำมาสู่การตั้งคำถามจากสาธารณชนว่า เวลาในการเตรียมตัวแค่สองปีจะเพียงพอต่อการเนรมิตสิ่งต่างๆ ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เหรอ? หรือจะคุ้มหรือไม่กับสิ่งที่ลงทุนไป?
กระทั่งตั้งคำถามว่า ควรผลักดัน สนับสนุนเทศกาลดนตรีในเมืองไทยก่อนดีกว่าไหม ก่อนจะไปนำเข้ามาจากเมืองนอก เพราะอย่าง Tomorrowland เองก็เซ็นสัญญากับเมืองเบลเยียมไปถึงปี 2090 โน้น แต่ว่างานในเมืองไทยแค่จะจัดครั้งหนึ่งยังต้องวิ่งวุ่นไปประสานหน่วยงานรัฐเป็นสิบหน่วยงาน มิพักต้องเอ่ยถึงการใช้เส้นสาย หรือจ่ายส่วยเพื่อลัดขั้นตอนความยุ่งยากทางราชการ ถ้ามองในระยะยาวก็ควรสนับสนุนเทศกาลดนตรีในบ้านเราให้มั่นคงแข็งแรงก่อนหรือเปล่า ประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่บางฝ่ายชวนขบคิด
แต่ถึงอย่างไรก็เถอะ ในเมื่อรัฐบาลคิดการใหญ่เช่นนี้แล้ว ก็คงหนีไม่พ้นคำวิจารณ์และปัญหาประดามี ทว่ามหากาพย์เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ ในเร็ววัน คงต้องให้เวลาและรอดูกันว่า Tomorrowland จะมาไทยหรือไม่ และเทศกาลดนตรีไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะ Festival ก็เป็นหนึ่งใน 5F ที่รัฐบาลสนับนุน มารอลุ้นกันว่าคนไทยอย่างเราท่าน จะมีเทศกาลดนตรีระดับโลกให้ได้ชื่นมื่นเหมือนกับเขาบ้างหรือเปล่า ระหว่างนี้ก็กำเงินรอซื้อตั๋ว เตรียมปูเสื่อรอเต้นหน้าฮ้านกันไปก่อนนะแฟนๆ ทั้งหลาย
อ้างอิง
https://www.reddit.com/r/Tomorrowland/comments/15d0sym/size_of_tomorrowland_versus_other_festivals/
https://www.tomorrowland.com/home/
https://en.wikipedia.org/wiki/Tomorrowland_(festival)