Skip links

ไทย = ศูนย์กลางโรงเรียนนานาชาติในอาเซียน?

แม้เด็กไทยจะเกิดน้อยลง ทำให้จำนวนนักเรียนไทยลดน้อยลงและโรงเรียนหลักสูตรไทยกำลังทยอยปิดตัว แต่จำนวนนักเรียนต่างชาติและจำนวนโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มมากขึ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยให้เห็นว่า ในปีการศึกษา 2555-2567 ที่ผ่านมา โรงเรียนรัฐบาลและเอกชนหลักสูตรไทยทยอยปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก โดยโรงเรียนรัฐบาลมีจำนวนลดลงเฉลี่ย 0.6% ต่อปี ส่วนโรงเรียนเอกชนมีจำนวนลดลงเฉลี่ย 0.7% ต่อปี อีกทั้ง ในปี 2568 จำนวนนักเรียนไทย ทั้งในโรงเรียนรัฐบาลและเอกชนยังมีแนวโน้มลดลง 1.1%-1.2% ซึ่งทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากวิกฤตเด็กเกิดใหม่ของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ทว่า โรงเรียนนานาชาติ กลับเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5.0% ต่อปี โดยในปี 2568 ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติจะยังคงเติบโต 9.7% แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 13.1% เนื่องจาก จำนวนโรงเรียนนานาชาติที่เปิดใหม่ในปีนี้มีเพียง 8 โรงเรียน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่เปิดใหม่ในปี 2567 ที่มีถึง 13 โรงเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนนานาชาติยังมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นถึง 8.3% ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 นี้ ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติอาจทำรายได้สูงถึง 9.5 หมื่นล้าน

ส่อง 3 ปัจจัยส่งโรงเรียนนานาชาติโต

ปัจจัยที่ 1 : โรงเรียนนานาชาติกลายเป็นแลนด์มาร์ค

ในปัจจุบัน มีจำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2564 – 2567 มีชาวจีนตำแหน่งสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20.8% ต่อปี ทำให้มีนักเรียนจีนที่ติดตามผู้ปกครองมาอยู่ในไทยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกเข้าศึกษาในโรงเรียน นานาชาติ

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ปกครองชาวจีนตัดสินใจเลือกโรงเรียนนานาชาติในไทยให้แก่บุตรหลานของตนเอง โดยขณะนี้ค่าใช้จ่ายในการเรียนหลักสูตรนานาชาติในจีนสูงขึ้น เนื่องจาก รัฐบาลจีนปรับนโยบายส่งเสริมการใช้ภาษาจีนกลาง 

ประกอบกับ จากผลสำรวจ พบว่า ในภูมิภาคเอเชีย โรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับผู้ปกครองชาวจีน เนื่องจาก มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และยังคงคุณภาพไว้ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 448,171 บาทต่อปี

ในขณะที่ โรงเรียนนานาชาติต่อปีในเมืองอื่นค่อนข้างสูง โดยปักกิ่ง เป็นเมืองที่ค่าใช้จ่ายในโรงเรียนนานาชาติสูงที่สุดถึง 1,241,230 บาท รองลงมา คือ สิงคโปร์ 748,334 บาท, โซล 728,619 บาท, ฮ่องกง 544,571 บาท และกรุงเทพฯ ตามลำดับ    

ปัจจัยที่ 2 : โรงเรียนนานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น 

ในปี 2566 – 2571 จะมีคนไทยที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 24% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ปกครองจะมีศักยภาพในการลงทุนกับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหลักสูตรนานาชาติที่ทันสมัยและได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติยังคงได้รับความนิยม

ปัจจัยที่ 3 : โรงเรียนนานาชาติโตกระจาย ไม่กระจุก 

ในช่วง 4 ปี มานี้ ตั้งแต่ปี 2564 – 2568 มีจำนวนโรงเรียนนานาชาติเติบโตในพื้นที่นอกกรุงเทพเฉลี่ย 9.1% ต่อปี ในขณะที่ในกรุงเทพฯ มีจำนวนลดลง 1.7 % ต่อปี โดยอัตราการเติบโตของนักเรียนนานาชาติในภูมิภาคอื่น ยังสูงกว่ากรุงเทพฯราว 3.7% โดยเฉพาะในภาคกลางและตะวันออกที่มีครัวเรือนรายได้สูงรองจากกรุงเทพฯ รวมถึงเชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต ที่มีการเติบโตเป็นพิเศษ

โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์กลางซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่ไม่อาจมองข้าม

โรงเรียนนานาชาติ = ศูนย์กลางส่งต่อวัฒนธรรมไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อนักเรียนต่างชาติเดินทางมาศึกษาในไทย นอกจากจะได้รับความรู้วิชาการแล้ว ยังซึมซับคุณค่า ค่านิยม ไลฟ์สไตล์ความเป็นไทยไปพร้อมกันด้วย อีกทั้งธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเมืองรองเติบโตมากขึ้น ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต ซึ่งล้วนแต่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้โรงเรียนนานาชาติ สามารถกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่จะช่วยช่วยขับเคลื่อนซอฟต์ พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมไทยได้

โรงเรียนนานาชาติ = ศูนย์กลางดึงดูดแรงงานทักษะสูง

การมีโรงเรียนนานาชาติชั้นนำที่ได้รับมาตราฐานระดับโลก นอกจากจะดึงดูดให้ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นแรงงานทักษะสูงที่มีศักยภาพเดินทางเข้ามาในไทยด้วยแล้ว  ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดผู้บริหาร นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานภายในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้มีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โรงเรียนนานาชาติ = ศูนย์กลางการลงทุน

คำกล่าวที่ว่า การลงทุนเรื่องการศึกษา คือ การลงทุนที่ดีที่สุด อาจใช้ได้กับกรณีนี้ โดยจะเห็นได้ว่า โรงเรียนนานาชาติในไทย ทั้งพื้นที่ในและนอกกรุงเทพต่างกลายเป็นธุรกิจด้านการศึกษาที่น่าสนใจ และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด การขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบริการต่าง ๆ เศรษฐกิจไทย เติบโตมากขึ้น

โรงเรียนนานาชาติ = ศูนย์กลางสถานศึกษามาตรฐานระดับโลก 

ส่วนใหญ่แล้ว โรงเรียนนานาชาติที่เปิดในไทยมักเป็นโรงเรียนนานาชาติที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานโรงเรียนแม่ ซึ่งเป็นต้นแบบ พาให้แคมปัสในไทยได้รับมาตรฐานระดับโลกตามไปด้วย ช่วยให้โรงเรียนนานาชาติไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับมหาวิทยาลัยและองค์กรระดับโลกต่าง ๆ ได้ 

Dulwich College Bangkok: โรงเรียนใหม่ที่น่าจับตามอง

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติอยู่ประมาณ 257 แห่ง ซึ่งในปีหน้ากำลังจะมีโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ที่น่าสนใจเปิดสอน คือ โรงเรียนนานาชาติ Dulwich College Bangkok เพิ่งประกาศเปิดตัวแคมปัสใหม่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเตรียมจะเปิดสอนในเดือนสิงหาคม ในปี 2569 ที่ย่านบางนา

Dulwich College Bangkok เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนนานาชาติเครือ Dulwich College International ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก การันตีด้วยโรงเรียนในเครือที่ตั้งอยู่ใน 5 เมืองสำคัญทั่วเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ โซล เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ซูโจว และกำลังจะเตรียมเปิดในกรุงเทพ โดยนำมรดกทางการศึกษาที่ตกทอดมายาวนานกว่า 400 ปี ในฐานะโรงเรียนแห่งแรกในลอนดอน มาผสานกับความเป็นเลิศด้านการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติทั่วเอเชียมากว่า 20 ปี เพื่อมอบประสบการณ์การศึกษาอันดีเยี่ยมให้แก่นักเรียนและครอบครัวที่ตามหาการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติระดับเวิลด์คลาส สำหรับบุตรหลานอายุ 3 – 18 ปี

เอดูเคชัน อิน โมชัน (Education in Motion หรือ EiM) กลุ่มการศึกษาชั้นแนวหน้าระดับโลก ประกาศแต่งตั้ง อดัม กิบสัน ให้เป็นครูใหญ่ผู้ก่อตั้ง ผู้ซึ่งจะกำหนดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของโรงเรียน ตลอดจนออกแบบวัฒนธรรมการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมสีเขียวให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ โดยอาศัยประสบการณ์มากความสามารถในการดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนระดับประถมศึกษา (Preparatory School) ชั้นนำแห่งหนึ่งในเดวอนทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ก่อนที่จะย้ายไปร่วมงานกับโรงเรียนเวลลิงตัน (Wellington School) ในซัมเมอร์เซต โดยดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของแผนกประถมศึกษา (Head of Prep) เป็นเวลา 10 ปี จากนั้น อดัมได้รับตำแหน่งครูใหญ่แผนกประถมศึกษา และรักษาการครูใหญ่แผนกเตรียมประถมศึกษา (Acting Head of Pre-Prep) ที่โรงเรียนแครนลีห์ อาบูดาบี (Cranleigh Abu Dhabi)

อดัม กิบสัน (Adam Gibson)

หลักสูตร STEAM จะเป็นหลักที่ Dulwich College Bangkok มุ่งเน้น โดยนำแนวทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี(Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) ศิลปะ (Arts) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) มาบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างครอบคลุม เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ ทักษะ ความสามารถไปแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างรอบด้าน ด้วยห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเฉพาะทาง ห้องดนตรีและศิลปะ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาระดับชั้นนำ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสสำรวจความสนใจและพัฒนาตนเอง

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงเรียนนานาชาติดัลลิช คอลเลจ กรุงเทพฯ สามารถเข้าชมได้ที่ https://bangkok.dulwich.org/

อ้างอิง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2567). แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ. Industry Outlook Analysis No.02.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2568). แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ. Industry Outlook Analysis No.20.