จากความสนุกที่ได้ดูหนังผี บังเอิญจับพลัดจับผลูมีหนังเรื่องแรกในชีวิตเป็น ‘หนังผี’ ประจวบเหมาะกับช่วงหนังผีเอเชียเติบโต พาคนผวาทุกครั้งที่ปวดคอ เพราะ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) จากนั้นยังสานต่อเส้นทางชีวิตนักทำหนังเกินกว่าครึ่งไปกับหนังผี ไม่ว่าจะ แฝด (2007) หรือ พี่มาก พระโขนง (2013) ก่อนจะพักมือไปทำแนวอื่นบ้างและกลับมาพร้อมร่างทอง จับมือร่วมทำหนังกับโปรดิวเซอร์ชื่อดังของเกาหลี ออกมาเป็น ร่างทรง (2021) สร้างภาพจำให้ “พี่โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล” กลายเป็นนักทำหนัง (ผี) เบอร์ต้นของประเทศไทย
และหากมองไปที่โปรแกรมฉายของหน้าหนังไทยทั้งปีในตอนนี้ จะพบว่าเกินว่าครึ่งล้วนเป็น ‘หนังผี’ ไม่ส่วนใดก็เสี้ยวหนึ่ง ไม่ว่าจะรักโรแมนติก ตลก หรือดรามา ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า หนังผีไทยยังคงมีพลังบางอย่างซ่อนอยู่ก็เป็นได้ ลองมาหาคำตอบจากนักทำหนัง (ผี) คนนี้กัน
หนังผี ทำให้สังคมงมงาย หรือ สังคมงมงาย ทำให้มีหนังผี ?
หนึ่งในคำถามไก่กับไข่ที่มองได้สองแง่มุม ชวนให้สงสัยว่า ภายใต้การมาถึงของยุค AI ในศตวรรษที่ 21 สังคมไทยและสังคมโลกนั้น ‘หนังผี’ ยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะในแง่หนึ่ง การมีอยู่ของหนังผี ส่งผลต่อสังคม แต่ในอีกมุม สังคมต่างหากที่ส่งผลต่อการมีอยู่ของหนังผี
“หนังผีไม่ได้ทำให้คนงมงาย หนังผีทำให้เราได้สำรวจความเป็นมนุษย์ สำรวจเรื่องราวความเชื่อต่างๆ ของโลก ของประเทศนั้น”
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสังคมไทยตอนนี้ก็ยังคงมีข่าวคราวของเจ้าลัทธิ 4G นักเชื่อมจิต น้ำประหลาดรักษาทุกโรค ไปจนถึงขั้นขโมยดวงให้ได้เห็นกันอยู่เป็นระยะ และไม่อาจคาดคะเนได้ว่า จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ‘หนังผี’ จึงอาจเป็นภาพสะท้อนเศษเสี้ยวหนึ่งของสังคมที่ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยความเชื่อ
ผี ไทย จ๋าาา ?
ในช่วงค.ศ. 2000 ต้นๆ ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของหนังผีเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น หรือเกาหลี ก็ต่างฝากความสยองไว้อย่างงดงาม และช่วงนั้นไทยเองก็ไม่ตกขบวน ผลิตหนังผีที่ประสบความสำเร็จออกมาสู่สายตาชาวโลกมากมาย ซึ่งพี่โต้งเองมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ถ้าจะให้นิยามว่า ‘Thai Horror’ คืออะไร? พี่โต้งเองก็ยังตอบไม่ได้แน่ชัด
“อย่าง ชัตเตอร์ฯ ต่างชาติดู บางทีเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือหนังผีไทย มันอยู่ในสังคมเมือง ไม่มีชุดไทย ถ้าเราให้ตัวละครพูดภาษาจีน มันก็เป็นหนังไต้หวัน ฮ่องกงได้เลย แค่ว่ามีบางส่วนที่เป็นความเชื่อไทยเท่านั้น”
แม้กระทั่งเรื่องที่ดูไทยจ๋าอย่าง พี่มาก พระโขนง ก็ยังไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ของไทยแต่เพียงผู้เดียวขนาดนั้น เพราะพี่โต้งเล่าให้เราฟังว่าหลายชาติก็มีความเชื่อและตำนานคล้ายกัน จำพวกผู้หญิงท้อง สามีไปรบแล้วไม่รู้ว่าเมียตาย
“แต่ที่แปลกคือพี่มากฯ มันเป็นอะไรที่ไทยมาก มุกตลกหลายอย่างถูกคิดเป็นมุกคำพูด แต่กลายเป็นว่าประสบความสำเร็จในระดับโลก ซึ่งผมก็งงว่าเขาก็เก็ตเนอะ”
เอกลักษณ์ของ Thai Horror ในมุมของพี่โต้งนั้น จึงไม่ได้อยู่ที่การยัดเยียดใส่ชฎา ใส่สไบลงไปเพื่อให้ดูไทยโดยไม่จำเป็น แต่เป็นเรื่องราวการใช้ชีวิต ความตลก วิธีคิด หรือวิธีแก้ปัญหาตอนเจอผีแบบไทยๆ ที่คนไทยคิดและใส่ลงไปในตัวหนัง พลอยส่งให้จิตวิญญาณแบบไทยๆ ลอยไปโดนเส้นผู้ชมทั่วโลก
รวมไปถึงผลงานล่าสุดของพี่โต้งอย่าง ซองแดงแต่งผี ที่ถึงแม้ไทยจะไม่ได้มีวัฒนธรรมซองแดงแต่งผีแบบไต้หวัน แต่เรื่องตลกและ Boy’s Love (BL) ไทยเองก็ถือว่าเป็นมือหนึ่งไม่น้อยหน้ากัน แต่สิ่งเหล่านั้นกลับยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทย
ซองแดงแต่งผี
“มันเป็นหนังไต้หวันมาก่อน คือมันเป็น BL ด้วย แล้วมันมีผี ถึงแม้มันจะไม่ใช่หนังผีหรอก มันเป็นหนังตลกมากกว่า คือมันเป็นอาวุธลับของไทยเลยนะ เพียงแต่ว่าทําไมเราคิดไม่ได้ ไอเดียนี้มันโดนมาก”
ซองแดงแต่งผี ผลงานเรื่องใหม่จากค่าย GDH ร่วมมือกับ Billkin Entertainment และ PP Krit Entertainment นำเรื่องราวของคู่หูไต้หวันมาสืบสวนสอบสวนกันในบริบทแบบไทย ๆ ซึ่งผลงานครั้งนี้ แม้พี่โต้ง-บรรจง จะไม่ได้เป็นคนลงมือเป็นผู้กำกับด้วยตนเอง แต่ก็ได้ขึ้นแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ พร้อมด้วย ‘พี่หมู-ชยนพ บุญประกอบ’ ผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จจาก ซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ, เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ, Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน มาร่วมด้วยช่วยกันแต่งตัวแต่งผี
พี่โต้ง มองว่า “หนังตลกของพี่หมู-ชยนพมีสเน่ห์มาก ถ้ามาผสมกับเคมีของบิวกิ้น-พีพี คงจะน่าดูไม่น้อย” อีกทั้งยังมีการปรับแต่งเนื้อหาบางส่วนให้สอดรับกับสังคมไทยมากยิ่งขึ้น และพี่โต้งยังทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า ไม่ลืมที่จะเตรียมเซอร์ไพรส์ไว้ให้ชาวไทยแน่นอน
หนังไทย จะมาแล้… อ้าว! ไปไหนแล้วอะ?
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา วงการหนังบ้านเรามีผลงานระดับมาสเตอร์พีซอย่าง ‘หลานม่า’ ที่เรียกน้ำตาและกวาดทิชชู่ผู้คนมานับไม่ถ้วน ก่อนจะตามมาด้วย ‘วิมานหนาม’ หนังจากความไม่เท่าเทียมที่เล่าเรื่องได้อย่างเฉียบคม จนคนไทยอยากส่งชื่อเข้าชิงออสการ์ แต่หากจะเรียกว่าวงการหนังไทยประสบความสำเร็จแล้ว ก็ยังอาจจะเร็วเกินไป
“หนัง 90% มันเจ๊ง
แปลว่าไม่มีความเสถียรใดๆ เลย
มันน่ากลัวมาก”
หากนับดูแล้ว ในแต่ละปีมีจำนวนหนังไทยเข้าโรงหลายสิบเรื่อง แต่จำนวนหนังที่ทำเงินได้ หรือพอคุ้มทุนนั้นกลับหาได้ยากนัก จนกระทั่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีหนังไทยคุณภาพดี การันตีรายได้ พ่วงรางวัลทั้งในและนอกประเทศมากมาย แต่ในแง่ของจำนวนที่ประสบความสำเร็จนั้น ยังคงอยู่ในจำนวนที่นับนิ้วได้ แถมนานทีปีหนจะมีมาสักครั้ง พี่โต้งจึงมองว่าวงการหนังในตอนนี้ยังไม่แข็งแรงพอ
“ผมมองว่า Thai Horror สำหรับต่างชาติเป็นอะไรที่โด่งดังมากประมาณ 20 ปีแล้ว แต่ยังขาดความต่อเนื่องและไม่ได้มีจำนวนมากพอที่ทำให้กลายเป็นพลังอันแรงกล้า”
โดยเฉพาะในปีนี้ หนังไทยทำเงินมากขึ้น แตะ 100 ล้านไปก็หลายเรื่อง ไม่ว่าจะ หลานม่า, วิมานหนาม, อนงค์, เทอม 3 และล่าสุด ธี่หยด 2 ที่กวาดรายได้ไปหลายร้อยล้าน แต่หากมองภาพรวมดูแล้ว เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับ ‘ผี’ และยังคงเติบโตอยู่ในบ้านเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี พี่โต้งมองว่าในปัจจุบัน หนังไทยมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ยึดติดอยู่แค่หนังผีกับหนังตลก รวมถึงมีหนังที่เปิดตลาด genre ใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะไซไฟ หรือ สัตว์ประหลาด แต่ทว่าหนังเหล่านั้นกลับไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่รายได้และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้กว่าหนัง genre ใหม่จะเกิดมาทำเงิน ยิ่งยากมากขึ้นไปอีกขั้น พี่โต้งจึงเห็นว่าการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและหลากหลายในอุตสาหกรรมนี้
“ถ้าตลาดกว้างขึ้น ต้นทุนมากขึ้น ข้อจำกัดน้อยลง มันก็จะเปิดโอกาสไปสู่ความหลากหลาย รัฐบาลสนับสนุนมากขึ้น ยังไงมันก็ดีขึ้น”
“มันต้องมีหนังที่บาลานซ์ทั้งสองด้าน ทั้ง Art house และ Box office ในจำนวนที่มากพอและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี สมมติว่ามีหลานม่า, วิมานหนาม, สัปเหร่อ, 4 kings ติดต่อกันสัก 5 ปี มีทั้งดรามา แอ็คชัน ผี หรือแนวอื่นๆอีก มันจะแฮปปี้มากเลย 🙂 ”
กระนั้นก็ตาม ในระยะนี้เป็นเพียงช่วงกำลังเริ่มต้นเท่านั้น แต่ในเมื่อองก์ 1 เปิดมาดีขนาดนี้แล้ว องก์ต่อไปก็ต้องสานต่ออย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อต่อยอดเรื่องราวนี้ให้สมบูรณ์ไปอีกขั้น แม้จะต้องทำต่อไปอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ก็ล้วนมีผลลัพธ์ที่คุ้มค่ารอคอยอยู่