Skip links

สมรภูมิ ‘สอบซูนึง’ พิษร้ายต่อ Soft Power เกาหลี?

หากย้อนดูคะแนน Global Soft Power Index 2024 ที่ทาง Brand Financial – บริษัทที่ปรึกษาด้านการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลกให้แก่ ระบบการศึกษา และวิทยาศาสตร์ของเกาหลีไว้นั้น อยู่ที่ 5.6 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางสูง เพราะถ้าหากพิจารณาตามผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการศึกษาของเกาหลีถือว่าอยู่ในระดับแข็งแรง

ส่วนเกณฑ์ในการให้คะแนนจากที่ดูคร่าว ๆ ก็จะมีทั้งเรื่องความน่าดึงดูดในการไปเรียนแลกเปลี่ยนที่จะสามารถใช้โอกาสนั้นในการสอดแทรกวิธีคิดของประเทศต่างๆ ไปได้อย่างแนบเนียน ไปจนถึงความแข็งแรงของระบบการศึกษา ซึ่งหากมองในด้านความดึงดูดในการไปเรียนของเกาหลีตอนนี้นั้น อาจจะอยู่ในประเภทคะแนนเต็มหนึ่งร้อยอย่างน้อยต้องได้ 99 เพราะมีทั้งK-Pop ซีรีส์เกาหลี วัฒนธรรม อาหารการกินที่พร้อมรอต้อนรับนักเรียนจำนวนมาก แต่ถ้าจะให้พูดถึงภาพรวมของระบบการศึกษาก็อาจเป็นสิ่งที่ต้องคิดอีกทีว่าหรือนี่อาจจะเป็นตัวชุดรั้งคะแนนซอฟต์พาวเวอร์ด้านการศึกษาของเกาหลี โดยเฉพาะ การสอบหนึ่งที่น่าจะเป็นแกนหลักของระบบการศึกษาในตอนนี้ของเกาหลี คงจะหนีไม่พ้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่รู้จักกันในชื่อ ซูนึง ที่กำลังทำร้ายอนาคตของชาติ รวมไปถึงอาจจะส่งผลต่อคะแนนซอฟต์พาวเวอร์ในอนาคตของเกาหลีเองด้วย

ยุทธการแห่งชาติ

ในวันพฤหัสบดีวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนของเกาหลี จะถูกกำหนดให้เป็นวันสอบ ซูนึง ย่อมาจาก แทฮักซูฮักนึงนย็อกชีฮอม (대학수학능력시험) หรือ College Scholastic Ability Test; CSAT ซึ่งเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดมากที่สุด โดยจะแบ่งออกเป็น 5 วิชาหลัก ได้แก่ วิชาบังคับ 4 วิชา คือ ภาษาเกาหลี, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ประวัติศาสตร์เกาหลี, และวิชาเลือก 1 วิชา คือ สังคมศึกษาหรือวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี วิชาภาษาต่างประเทศที่สามารถเลือกสอบได้เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งการสอบทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายในวันเดียว และผลคะแนนที่ออกมาจะเป็นตัวตัดสินชี้วัดอนาคตของชาวเกาหลี ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยไปจนถึงเส้นทางอาชีพการงานในอนาคต ทำให้ไม่ใช่แค่นักเรียนที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้นที่จริงจังกับการสอบนี้ แต่ ชาวเกาหลี ทุกคนล้วนต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยิ่งกว่าต้องเข้าไปสอบด้วยตัวเอง

ในวันสอบซูนึงทุกคนจะร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้การสอบซูนึงผ่านพ้นไปได้อย่างราบลื่น โดยตั้งแต่ตอนเช้า รถขนส่งสาธารณะจะเปิดเร็วกว่าปกติ  พร้อมกันนั้นเอง ทางฝั่งบริษัทและห้างร้านต่าง ๆ จะเปิดทำการช้ากว่าปกติ เพื่อลดความแออัดในการเดินทาง หรือถ้าใครไปไม่ทันจริง ๆ และมีปัญหาระหว่างการเดินทาง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ รถฉุกเฉิน คอยอำนวยความสะดวกไปส่งนักเรียนเข้าสอบอย่างทันท่วงที

อีกทั้ง การก่อสร้างและฝึกทหารต่าง ๆ ที่ส่งเสียงดังจะต้องหยุดหนึ่งวัน รวมถึงหากอยู่ในคาบสอบการฟังภาษาอังกฤษ จะไม่มีการนำเครื่องบินลงจอด เป็นเวลา 25 นาที นอกจากนี้ คุณครูคุมสอบจะสวมได้แค่รองเท้าผ้าใบที่ไม่ส่งเสียงรบกวนระหว่างเดินเท่านั้น มากไปกว่านั้น การสอบนี้จะไม่ได้ถูกจัดอยู่ที่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่ในโรงพยาบาลและสถานคุมประพฤติก็มีการจัดสอบซูนึงด้วยเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนทุกคนจะสามารถเข้าสอบได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะป่วยกาย หรืออยู่ในระหว่างถูกลงโทษ ก็สามารถเข้าสอบเพื่ออนาคตของตัวเองได้ 

ส่วนเหตุที่จะต้องจัดขึ้นเฉพาะในวันพฤหัสนั้น เป็นเพราะว่าในวันอาทิตย์การจราจรติดขัด จึงไม่เหมาะแก่การขนส่งข้อสอบ ทำให้ข้อสอบทั้งหมดจะถูกจัดส่งในวันจันทร์และจะเดินทางถึงสนามสอบทุกแห่งภายในวันพุธ เพื่อทำการสอบในวันพฤหัสบดี และในวันศุกร์ นักเรียนจะยังมีเวลาตรวจคำตอบกับเพื่อน และแนะแนวอนาคตกับครูได้อีก เพราะจะมีการเฉลยคำตอบของซูนึงภายหลัง ทำให้สามารถตรวจคะแนนได้คร่าว ๆ ก่อนผลคะแนนจริงจะออก

อนาคตของเด็ก = อนาคตของชาติ

ในแง่หนึ่ง การรวมใจเพื่อการสอบซูนึงของทุกคนในเกาหลีสะท้อนให้เห็นถึง ความใส่ใจ ของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเกาหลีทุกคนที่ต้องการสนับสนุนให้อนาคตของนักเรียนสว่างสดใส ตามคำโบราณว่าไว้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เด็ก คือ อนาคตของชาติ นั่นหมายความว่า หากเหล่านักเรียนขยันขันแข็งกับการสอบซูนึง เพื่ออนาคตที่ดีของตัวเองแล้ว อนาคตของประเทศก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

เพราะอย่างที่ทราบกันดี เกาหลีใต้เป็นประเทศใหม่ที่เพิ่งเข้ามามีอำนาจบทบาทในเวทีโลกได้ไม่นานด้วยการผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์อย่างจริงจัง แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อช่วงหลายสิบปีก่อน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ทำให้เกาหลีตกอยู่ภายใต้การศึกษาแบบญี่ปุ่นด้วย เพื่อทำหน้าที่รองรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่และการกลายเป็นพลเมืองผู้ภักดี แต่หลังจากหลุดพ้นได้ไม่นาน เกิดสงครามการแบ่งแยกประเทศ ทำให้อเมริกาเข้ามามีส่วนในการเมืองเกาหลีใต้ จนเกาหลีใต้ได้รับอิทธิพลทางการศึกษามาจากอเมริกา ต่อมาเกาหลีใต้ก็ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในช่วง 90 ทำให้เกาหลีใต้ต้องเร่งพัฒนาประเทศ ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ การลงทุนกับ การศึกษา 

ประกอบกับแนวคิดขงจื๊อแบบสังคมเกาหลีที่สืบทอดต่อกันมานาน โดยมองว่า การศึกษาเป็นเครื่องวัดคุณค่าของบุคคล และลูกจำเป็นต้องกตัญญูรู้คูรพ่อแม่ ทำให้ การศึกษา การเป็นหัวใจหลักในการใช้ชีวิตของเกาหลีใต้ เพราะถ้าหากลูกมีการศึกษาดี มีเส้นทางอนาคตชีวิตสดใส มีเงินทองร่ำรวย ก็จะสามารถตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ไม่ต่างจากแนวคิดเรื่องความตัญญูในไทย แต่จะต่างกันตรงที่ทั้งพ่อแม่ และนักเรียนเกาหลีจึงต่างกดดันตัวเองเอง เพื่ออนาคตที่ดีของทุกคนอย่างเข้มข้น

ไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่อาจเป็นจุดจบ

แม้การสอบซูนึงจะไม่ใช่หนทางเดียวในการใช้ชีวิตต่อไปของชาวเกาหลี แต่จากการเก็บสถิติที่ผ่านมา มีผู้ใช้คะแนนสอบซูนึงเข้ามหาวิทยาลัยประมาณ 70% เท่านั้น และมีเพียงไม่ถึง 2% เท่านั้นที่จะเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปอย่าง SKY – 3 มหาวิทยาลัยอันดับสูงสุดในเกาหลี ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University), มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) และ มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) – ได้เพียงไม่ถึง 2% ทำให้เป็นที่รู้กันดีว่าถ้าใครเข้าหนึ่งในมหาวิทยาลัย SKY ได้ ถือว่ามีโอกาสเลื่อนระดับหน้าที่การงานและสถานะทางสังคมไปอีกขึ้น เพราะจะสามารถยื่นเข้าบริษัทชั้นนำแชโบล อย่าง Samsung, SK Group, Hyundai, LG Corporation และ Lotte ได้ เพิ่มความหฤโหดให้แก่การสอบซูนึงไปอีกระดับ

ด้วยความยากของข้อสอบนั้นเอง ทำให้มีการร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง เพราะในทางหนึ่งยิ่งซูนึงยากมากขึ้น ระบบการเรียนและความกดดันก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา ข้อมูลเบื้องต้นจาก statista เว็บไซต์รวบรวมสถิติเว็บหนึ่ง พบว่า มีเคสที่เกี่ยวข้องกับอัตราการจบชีวิตของนักเรียนมัธยมปลายสูงถึง 4,000 เคส สอดค้องกับการรายงานข่าว TheKoreanTimes ที่พบว่านักเรียนมัธยมต้นและปลายมีอัตราการจบชีวิตแตะ 200 คน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากเทียบกับ 8 ปีที่แล้ว 

การสอบซูนึงจึงเป็นเพียงกิ่งก้านเดียวของระบบการศึกษาเกาหลีที่จะว่าแข็งแกร่งก็ไม่ผิด แต่ในมุมหนึ่งกิ่งก้านนี้ก็กำลังเป็นดั่งยาพิษที่กำลังทำร้าย ชีวิตวัยเด็ก ซึ่งหากติดตามซีรีส์หรือหน้าข่าวสังคมเกาหลี ก็จะเห็นได้ถึงบาดแผลที่ระบบการศึกษาและการสอบนี้ฝากไว้ให้มากมายที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้สังคมได้รับรู้ 

ทั้งชีวิตหลังเลิกเรียนที่ต้องไปเรียนพิเศษกวดวิชา การฝึกซ้อมสอบและซ้อมใช้ชีวิตให้เหมือนตอนสอบกันวันแล้ววันเล่า อีกทั้งยังไม่สามารถไปใช้ชีวิตกับเพื่อนได้อย่างเต็มที่ เพราะมิตรทุกคนคือศัตรู ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือใคร ทุกคนต่างก็คือคู่แข่งที่จะทำคะแนนตกอันดับ รวมถึงการกดดันจากพ่อแม่ที่ต้องฝากสถานะทางสังคมในอนาคตของตัวเองไว้กับลูก ล้วนเพิ่มความเครียดและอัตราการจบชีวิตในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ และหักลบคะแนนซอฟต์พาวเวอร์ด้านการศึกษาของเกาหลีใต้ให้ลดน้อยถอยลง

มากไปกว่านั้น ในปัจจุบัน เกาหลีถือว่าเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยขั้นรุนแรงแล้ว ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ประชากรเกิดใหม่น้อยลง เพราะความกดดันของสังคม ยิ่งเป็นสัดส่วนให้ซูนึงกดดันมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ แต่ยิ่งกดดันมากขึ้นเท่าไหร่ ผลลัพธ์ที่ได้อาจยิ่งแย่ลงมากไปกว่านั้น หากถึงวันที่ไม่มีเด็กรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนประเทศเป็นไอดอล นักแสดง นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการรุ่นใหม่มาเดินหน้าประเทศต่อไป