นอกจากประเด็นทางชนชั้นที่เข้มข้นจากปัญหาเศรษฐกิจ อีกหนึ่งปัญหาที่ยังคงพบเห็นได้ในสังคมเกาหลีก็คือปัญหาการไม่ยอมรับ LGBTQIA+ โดยโจฮยอนจู ผู้เล่นหมายเลข 120 (รับบทโดย พัคซองฮุน) จาก Squid Game 2 ถือเป็นตัวแทนชีวิต LGBTQIA+ ในเกาหลีที่ต้องเผชิญกับการกีดกันทางสังคม จะเห็นได้ว่าผู้เล่นคนอื่น ๆ ต่างพยายามกีดกันโจฮยอนจู โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เล่นชาย มีเพียงแค่ผู้เล่นไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมรับเธอในฐานะพี่สาว หลานสาว
“ฉันตั้งใจจะไปประเทศไทย ฉันจะเล่นเกมอีกแค่รอบเดียวและนำเงินไปผ่าตัดต่อให้เสร็จที่ไทย ซื้อบ้านเล็กๆ สักหลัง แล้วลองใช้ชีวิตที่นั่นดูค่ะ”
คำพูดจาก โจฮยอนจู พี่สาวคนสวยที่เคยเป็นอดีตทหารกองกำลังพิเศษถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันที่ว่าการพยายามสร้างภาพลักษณ์เรื่อง การเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อ LGBTQIA + ของไทยนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ที่ตอนนี้มียอดผู้ชมในสัปดาห์เปิดตัวสูงที่สุด ทั้งในแง่การแพทย์ที่พร้อมเปิดรับและในแง่การใช้ชีวิตที่เปิดกว้างพร้อมโอบรับผู้คน อีกทั้ง ยังเป็นบทสนทนาที่โจฮยอนจูคุยกับ คุณยายจางกึมจา หรือผู้เล่นหมายเลข 149 (รับบทโดย คังเอชิม) สื่อถึงการพยายามพูดคุยกับสังคมเกาหลีดั้งเดิม
“ผมเคยไปประเทศไทยนะ ที่นั่นมีสาวๆ แบบคุณฮยอนจูเยอะเลย พวกเขาผอมสวยกว่าผู้หญิงทั่วไป เกลื่อนเมืองไปหมดเลย”
มากไปกว่านั้น ในบทสนทนานี้ ผู้เล่นหมายเลข 007 พัคยงชิก (รับบทโดย ยางดงกึน) ยังคอยเสริมย้ำว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เปิดรับ LGBTQIA+ ให้ได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระในเมืองใหญ่แห่งนี้
ทว่า ในมุมหนึ่ง ก็มีผู้ที่มองว่าบทสนทนายังคงคลุมเครือว่าท้ายที่สุดแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้กำลังนำเสนอให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นที่พึ่งพิงสำหรับ LGBTQIA+ ได้ หรือเป็นเพียงพื้นที่ที่รองรับคนที่ไม่ถูกยอมรับในเกาหลี จนทำให้ต้องย้ายมาอยู่ไทยได้ที่เดียวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นเมืองหมุดหมายที่เป็นมิตรต่อ LGBTQIA + นั้นอาจเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักสำคัญที่จะทำให้ไทยมีซอฟต์พาวเวอร์ด้านนี้ที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้ โดยตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2025 เป็นต้นไป ไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดพื้นที่ให้แก่ LGBTQIA + ได้จดทะเบียนและใช้วิตคู่กันตามกฎหมาย ตอกย้ำการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับ LGBTQIA + มากไปอีกขั้น