Squid Game 2 เปิดตัวมาแค่ 4 วันก็มีคนดูปาไปแล้วถึง 68 ล้านวิว ทุบสถิติซีรีส์ที่มียอดผู้ชมสูงที่สุดในสัปดาห์แรกของการเปิดตัวบน Netflix สานต่อเรื่องราวการละเล่นถึงตายอีกครั้ง
สเน่ห์ของเกมที่พึงมี แต่กลับเล่นไม่ถึง
หลัง Squid Game 1 สร้างปรากฏการณ์ส่งการละเล่นพื้นบ้านของเกาหลี ทั้งโกโกวา เกมแกะน้ำตาล เกมลูกแก้ว เป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งออกวัฒนธรรมการละเล่นของเกาหลีไปทั่วโลก ผ่านซีรีส์สีสันสดใสแต่แท้จริงซ่อนประเด็นทางสังคมเข้มข้นไว้ภายใน ทำให้ในซีซันนี้เราตั้งตารอคอยคาดหวังอีกครั้งว่าจะได้เห็นเกมเด็กเล่นของเกาหลีในสนามเดือดถึงแก่ชีวิตเกมไหนอีกบ้าง เพราะซองกีฮุน หรือหมายเลข 456 (แสดงโดย อีจองแจ) กำลังจะกลับมาเล่น (หรือยุติ?) เกมนี้อีกครั้ง
ทว่า หากนับในแง่ความเข้มข้นของเกมก็อาจจะไม่ได้ว้าวขนาดนั้น เพราะไอเดียการนำการละเล่นถึงชีวิตถูกขายจนชนะใจคนตั้งแต่ซีซั่นหนึ่งไปแล้ว หากไม่นับเกมโกโกวาที่ติดตลาดไปแล้ว เกมใหม่ที่เปลี่ยนไปเล่นอย่างเกม 5 คน 6 ขา หรือจับคู่เข้าห้องก็ ไม่ได้มีเกมอะไรใหม่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ทั้งเกมตั๊กจี-พลิกกระดาษที่เคยเห็นมาแล้ว รวมไปถึง หมากเก็บ ลูกข่าง ที่ไทยก็เคยเล่น ซึ่งอาจเป็นเพราะพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันทำให้ไทยมี จะมีแต่เกมหินลอยฟ้าและเดาะเชกีชากี – ลูกขนไก่ของเกาหลีที่หน้าตาดูแปลกตาไปเล็กน้อย แต่คล้ายกับการเดาะตะกร้อของไทย
เล่นเป็นฮีโร่สนุกพอหรือยัง
อย่างไรก็ตาม ความสนุกของเกมปลาหมึกในครั้งนี้ คือการกลับมาพร้อมกับกติกาใหม่ที่ดูจะยุติธรรมมากกว่าเดิม โดยหลังจบเกมทุกครั้ง จะมีการเปิดโหวตให้ยุติเกม
ฟังแล้วอาจจะดูดี แต่เมื่อเกิดการโหวต นั่นหมายความว่าผู้คนจะถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน ทำให้มีทั้งคนที่เห็นด้วย/ให้เล่นต่อ เพื่อเงินรางวัลที่มากขึ้น และคนที่ไม่เห็นด้วย/ไม่เล่นต่อ เพื่อรักษาชีวิต จนท้ายที่สุด เกิดภาวะประชาธิปไตยจอมปลอมที่คนข้างบนเสแสร้งว่าให้โหวต เพื่อประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับหยิบยื่นอาวุธให้ทั้ง 2 ฝั่งทำร้ายกันเอง โมเดลคุ้น ๆ เหมือนประเทศแถบนี้ที่ปล่อยให้สองฝั่งตีกัน ก่อนจะมีฮีโร่สักคนลุกขึ้นมา แล้วใช้อำนาจสูงกว่าเข้าควบคุมสถานการณ์ ซึ่งยังคงสะท้อนการให้เห็นว่าท้ายที่สุดผู้เล่นก็ยังคงอยู่ใต้อำนาจทางสังคมอยู่ดี และยังคงไม่อาจปิดจบเกมนรกนี้ได้