มาแล้วลูกจ๋า ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้!
Squid Game – เล่นลุ้นตาย ซีซัน 2 – กำลังจะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2024 นี้ แต่ก่อนหน้าที่จะไปถึงวันนั้น อยากจะพาย้อนกลับไปดูความสำเร็จที่ Squid Game ซีซัน 1 เคยทำไว้ จนกลายเป็นอีกตัวอย่างที่ถูกพูดถึงทุกครั้ง เมื่อนึกถึงซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลี
แม้ก่อนหน้านี้ซีรีส์เกาหลีจะมีชื่อเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด้วยมาตราการเดินหน้าซอฟต์ พาวเวอร์หนุนการส่งออกสื่อบันเทิงที่จริงจังมาตั้งแต่สมัยปลายศตวรรษที่ 20 ทำให้ซีรีส์เกาหลีกลายเป็นสื่อบันเทิงหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ โดยเฉพาะแนวรักโรแมนติก ส่งผลให้ซีรีส์เกาหลียังคงมีฐานผู้ชมเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ก็มีศักยภาพพอจะดึงนักท่องเที่ยวมาในประเทศและส่งออกวัฒนธรรมไปมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อิมแพ็คที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นมาของซีรีส์เกาหลี ณ ตอนนี้นั้น ก็คงหนีไม่พ้นการมาถึงของ Squid Game ที่เข้ามาฉีกกฎ ทำลายภาพจำ และสร้างภาพใหม่ให้แก่คำว่า ซีรีส์เกาหลี
หวานนอก ขมใน
Squid Game เป็นซีรีส์เกาหลีที่หยิบประเด็นความเหลื่อล้ำทางสังคม ชนชั้นและเงินตราสุดเข้มข้น มาเล่าเรื่องผ่าน การละเล่น ของเด็กเกาหลี แต่การกลับมาเล่นเกมในฐานะผู้ใหญ่ครั้งนี้ ต้องแบกรับภาระที่มากกว่าแค่แพ้แล้วกลับบ้าน เพราะ การแพ้ในเกมนั้น หมายถึง การต้องทิ้งชีวิตไว้ที่นี่ ซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ต่างจากการฉายด้านน้ำตาลหวาน หลอกตาด้วยสีสันสดใส เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้ลองเข้าใกล้ แต่ภายในกลับเคลือบรสชาติขมเฝื่อนของสังคมไว้ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นใครในสากลโลกนี้ต่างต่างโอบรสชาติแปลกใหม่ที่ซีรีส์เรื่องนี้มอบให้อย่างพร้อมเพรียง จนกวาดรายได้สร้างมูลค่าให้บริษัทไปเกือบ 900 ล้านดอลลาร์ พร้อมกลายเป็นซีรีส์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดตลอดกาลของ Netflix
ติดเล่น จนเป็นเรื่อง
การเล่าเรื่องประเด็นทางสังคมผ่าน การละเล่น ของเด็กเกาหลี นับได้ว่าเป็นการเล่าเรื่องที่ชาญฉลาดมาก ทั้งในแง่ของการนำขัดแย้งความเป็น-ความตาย มาเล่นสนุก รวมถึงในแง่ของการนำเสนอ วัฒนธรรมการละเล่นของเกาหลีไปสู่ 190 ประเทศทั่วโลก
ตั้งแต่เกมแรก โกโกวา เอ้ย ไม่ใช่ เกมดอกมูกุงฮวาบานแล้ว หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ เกม AEIOU – หยุด ที่ก็เพิ่งรู้ตอนดูเหมือนกันว่าเกาหลีก็มีเกมแบบนี้ด้วยหรอ ? แถมเพลงที่ร้องก็ยังติดหู ตุ๊กตาผู้หญิงใส่ชุดเอี๊ยมสีเหลืองส้มก็ยังติดตา มาพรร้อมกับการปรากฏตัวครั้งแรกของผู้คุมสีชมพู จนกลายเป็นไอคอนิคหนึ่งประจำเรื่องที่หยิบไปเล่นเป็นมีม แปลงเพลงเป็นเวอร์ชันไทย และกลายเป็นลายเสื้อเด็กเต็มตลาด
รวมถึง เกมต่อมา เกมขนมทัลโกนา – ขนมน้ำตาลแผ่น ที่ต้องใช้ความพยายามแกะรูปออกมาไม่ให้หัก ก็ทำให้ขนมนี้กลับมา ฮิต อีกครั้งหลังซีรีส์เรื่องนี้ออกฉาย โดย ขนมทัลโกนา เป็นขนมพื้นบ้านข้างทางของเด็กเกาหลีอยู่แล้ว แต่ตามธรรมเนียมเมืองเติบโต ทำให้ขนมเหล่านี้กำลังค่อย ๆ หายไปและกำลังจะเป็นขนมในความทรงจำ แต่หลังจากซีรีส์เรื่องนี้ออกฉาย ทำให้ขนมน้ำตาลแผ่นได้กลับมายืนบนสตรีทฟู้ดอีกครั้ง อีกทั้ง ด้วยความที่ขนมนี้ทำง่าย เพียงแค่มีน้ำตาล ผงฟูและแม่พิมพ์ก็สามารถเล่นได้ ประกอบกับยังอยู่ในช่วงโควิด ไม่สามารถเดินทางไปเกาหลีได้ ทำให้ในโซเชียลมีเดียต่างช่วยกันแชร์สูตร และพยายามทดลองทำขนมนี้กันเป็นว่าเล่น
หรือจะเกมกันบู – เกมลูกแก้วที่มีกฎมากกว่าการเล่นดีดลูกแก้วแบบไทยนิดหน่อย ตรงที่ว่าถ้าใครสะสมลูกแก้วได้มากว่า แต่ตกลงว่าจะเป็น กันบู หรือเพื่อนบ้านกัน ก็จะสามารถแบ่งลูกแก้วให้กันได้ หรือเกมสะพานหินที่อิงมาจากเกมกระโดดข้ามสะพานหินในแม่น้ำที่เด็กเกาหลีชอบเล่นเกม และเกมสุดท้าย เกมปลาหมึกที่ต้องอาศัยพละกำลังแย่งชิงพื้นที่ไปสู่หัวปลาหมึก
Right Time, Right Series
คงจะไม่เกินจริง ถ้าพูดว่าการมาถึงของ Squid Game เป็นการประกาศศักดาของยุคซีรีส์เกาหลีอย่างจริงจัง ตามหลัง K-pop และ Parasite ที่ไปทักทายชาวโลกมาก่อนแล้ว ประจวบเหมาะกับการติดอยู่ในยุคโควิด ยิ่งเปิดโอกาสให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้ทำความรู้จักกับคนเหงา คนเบื่อติดบ้านได้เป็นอย่างดี
นอกจากจะประสบความสำเร็จในด้านรายได้และพื้นที่สื่ออย่างล้นหลามแล้ว ยังสามารถนำเสนอวัฒนธรรมและการละเล่นของ เกาหลี ได้อย่างแยบยล เผลออีกทีคนทั่วโลกก็ได้รู้จัก ได้ลองเล่น ลองทำขนมน้ำตาลกันทั้งโลก อย่างพร้อมใจกันภายในเวลากี่สัปดาห์ จึงทำให้ซีรีส์เรื่อง Squid Game กลายเป็นตัวอย่างที่ดีของทำงานสอดประสานกัน ระหว่างเนื้อเรื่องวิพาษ์สังคมตรงใจ พร้อมนำเสนอวัฒนธรรมการละเล่นของเกาหลีควบคู่ในเวลาเดียวกันได้เป็นอย่างดี
การกลับมาในซีซัน 2 จะมีอะไรแปลกใหม่ หรือจะยังคงหยิบเกมเดิมมาเล่น ก็คงต้องรอลุ้นกันในวันที่ 26 ธันวาคม 2024 นี้
…
อ้างอิง
https://www.moneybuffalo.in.th/business/summarize-the-success-of-squid-game
…
ตัวอย่าง สควิดเกม เล่นลุ้นตาย (Squid Game) ซีซั่น 2 | Netflix