Skip links

มงลง “ถือศีลกินผัก ภูเก็ต” สร้างประวัติศาสตร์ คว้า “ที่หนึ่ง” เวทีเทศกาลโลก

ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ – 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี นอกจากจะเป็นช่วงกินเจแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญของชาวภูเก็ตที่จะได้จัดประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า ร้อยปี คือ “ประเพณีถือศีลกินผัก ภูเก็ต” โดยปีนี้จัดตั้งแต่วันที่ 3 – 11 ตุลาคม 2567 

ถือศีลกินผัก ภูเก็ต พิเศษที่หนึ่ง

แต่ในปี 2567 นี้ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” จะพิเศษมากกว่าครั้งไหน ๆ เพราะ จะเป็นการเฉลิมฉลองรางวัลให้ ภูเก็ต ในฐานะ “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” พร้อมด้วย “ประเพณีถือศีลกินผัก” ที่ไปคว้ารางวัล “Grand Pinnacle” ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดจากงานประกาศรางวัล “IFEA/Haas & Wilkerson Pinnacle Award 2024” มาไว้ในมือ 

งานประกาศรางวัล “IFEA/Haas & Wilkerson Pinnacle Award 2024” เป็นงานประกาศรางวัลที่จัดขึ้นโดยสมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (International Festivals & Events Association : IFEA) จัดมอบรางวัลให้แก่งานเทศกาลนานาชาติทั่วโลกกว่า 60 รางวัล

เปิดที่มา ประเพณีถือศีลกินผัก

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เหมืองแร่ดีบุก ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของชาวเมืองภูเก็ต ทำให้มีผู้คนเดินทางมาทำธุรกิจค้าขายมากมาย จนภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคพื้นน้ำอันดามัน

ต่อมา วันหนึ่งมีคณะงิ้วโพ้นทะเลชาวจีนฮกเกี้ยน เดินทางมาแสดงงิ้วให้แก่แรงงานจีนในเหมืองแร่ เมืองกะทู้ จ.ภูเก็ต พร้อมก่อตั้งโรงงิ้วขึ้น แต่เมื่อแสดงไปได้ไม่นาน กลับมีชาวคณะงิ้วและชาวบ้านในพื้นที่ล้มป่วยลง จึงสันนิษฐานกันว่าสาเหตุมาจากการที่คณะงิ้วของตน ไม่ได้ประกอบพิธีประจำปีอย่าง “พิธีเจี๊ยะฉ่าย” หรือ “พิธีถือศีลกินผัก” 

ด้วยเหตุนั้นเอง ทำให้ชาวคณะงิ้วตัดสินใจประกอบ“พิธีเจี๊ยะฉ่าย” แบบง่ายๆ ด้วยการงดเว้นเนื้อสัตว์และสุรา ชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ เป็นเวลา 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 9 ค่ำ เดือน 9 ถวายแด่เง็กเซียนฮ่องเต้และเทพองค์ต่าง ๆ ซึ่งหลังพิธีนี้เสร็จสิ้น ชาวคณะงิ้วและชาวบ้านค่อยๆ ทยอยหายป่วยกัน ชาวภูเก็ตจึงปฏิบัติพิธีนี้สืบอดกันมา จนกลายเป็น “ประเพณีถือศีลกินผัก” ในปัจจุบัน

ยกเสา - แห่พระ - ลุยไฟ ที่ ถือศีลกินผักภูเก็ต

ภายใต้ประเพณีถือศีลกินผัก ยังมีพิธีแห่งศรัทธาของชาวภูเก็ตที่สั่งสมมานานกว่า 200 ปี ตรงจุดนี้เอง ทำให้ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตนั้น โดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น ตัวอย่างเช่น

ตั้งแต่ 1 วันก่อนเริ่มประเพณีถือศีลกินผัก จะมีการทำ พิธียกเสาโกเต้ง หรือ พิธียกเสาเทวดา โดยจะจุดตะเกียงไฟบนยอดเสา 9 ดวง ตลอด 9 วัน สื่อถึงการเริ่มต้นประเพณีถือศีลกินผักอย่างเป็นทางการ

เมื่อประเพณีเริ่มต้นขึ้น เช้าวันถัดมา ศาลเจ้า หรือ อ๊าม ต่างๆ ทั่วภูเก็ต กว่า 40 แห่ง จะเริ่มประกอบ พิธีอิ้วเก้ง หรือ พิธีแห่พระรอบเมือง ด้วยการเชิญองค์เทพกิ๋วอ๋องไต่เต่จากสวรรค์ มาสู่ ตั่วเหลี้ยน ซึ่งเป็นราชรถที่ถูกตกแต่งอย่างสวยงาม รวมถึงเชิญเทพเจ้าต่าง ๆ ลงสู่ ไฉ้เปี๋ย ซึ่งเป็นเสลี่ยงที่จะมีขนาดเล็กกว่าตามลำดับชั้น เพื่อเยี่ยมชาวภูเก็ต โดยจะมี ม้าทรง ทำหน้าที่เป็นผู้รับเคราะห์ผ่านการถูกทิ่มแทงร่างกายด้วยอาวุธ มีด ดาบ หรือเข็ม

ตลอดเส้นทางการแห่พระ ผู้ที่ถือศีลกินผักสามารถออกมารอต้อนรับองค์เทพได้ด้วยการตั้ง ตั๋ว หรือ โต๊ะรับพระ บริเวณหน้าบ้านหรือร้านค้าของตน พร้อมจุดประทัดฉลองการมาเยือนในครั้งนี้ได้

ก่อนที่ในคืนส่งท้าย อ๊ามต่างๆ จะจัด พิธีโก้ยโห้ย หรือ พิธีลุยไฟ เดินข้ามสะพานไฟศักดิ์สิทธิ์ไปหาม้าทรง เพื่อให้ผู้ถือศีลกินผักทุกท่านได้ชำระล้างร่างกายและจิตใจ จนสะอาดหมดจดอย่างแท้จริง และเมื่อพิธีทุกอย่างเสร็จสิ้น แต่ละอ๊ามจะต้องหามตั่วเหลี้ยนและไฉ้เปี๋ยกลับไปยังเสาโกเต้งในพิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ เพื่อส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่และองค์เทพต่าง ๆ กลับขึ้นสู่สวรรค์อีกครั้ง ปิดจบประเพณีประจำปีอย่างยิ่งใหญ่

กินผัก ไม่(จำ)เจ

แค่พูดว่า “ผัก” ภาพแวบแรกก็คงหนีไม่พ้นผักใบเขียวๆ รสชาติขมๆ จืด ๆ ไม่อร่อย จนทำให้ไม่อยากก้าวขาเข้ามาเป็นชาวถือศีลกินผัก แต่ได้ชื่อว่าประเพณีถือศีลกินผัก ภูเก็ตทั้งที เมนูเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นที่นี่ เพราะ ในประเพณีถือศีลกินผักปีนี้ ทั้งเมืองภูเก็ตจะเต็มไปด้วยกลิ่นหอมของเมนูมังสวิรัติที่มีให้เลือกสรรรสชาติที่ถูกใจทุกรูปแบบ ทั้งโรงเจโรงทาน, สตรีทฟู้ดหน้าอ๊ามจากแม่ค้าพ่อค้า หรือจะกินหรูระดับร้านอาหารมิชลินสตาร์ ก็สามารถค้นชิมรสชาติอาหารมังสวิรัติสไลต์ภูเก็ตได้ไม่ซ้ำเมนู

กินกรีน ภูเก็ตคลีน

เทศกาลถือศีลกินผักถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวภูเก็ตที่ในหนึ่งปีจะมีเพียงครั้งเดียว โดยจะจัดยาวนานต่อเนื่องถึง 9 วัน กินพื้นที่ทั่วทั้งเกาะภูเก็ต ดังนั้นแล้ว ระบบการจัดการเมืองที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่การจัดการอาหารไปจนถึงการดูแลเมือง

ในด้านการจัดการอาหารนั้น ถือเป็นเรื่องหลักที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองภูเก็ตโดยตรง จึงจำเป็นต้องดูแลตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ไม่ว่าจะชวนให้คนพกปิ่นโต ตักแต่พอกิน เลือกใช้ภาชนะย่อยสลายง่าย รวมถึงนำเศษอาหารไปทำเป็นปุ๋ยหมักและอาหารสัตว์ เพื่อลดขยะ และใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนในด้านของการดูแลเมือง อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ประเพณีนี้ใช้พื้นที่เมืองทั้งเมือง ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธีสุดท้ายอย่าง พิธีส่งพระ เมืองภูเก็ตจะปรับจากโหมดเฉลิมฉลองสู่โหมดฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว เพื่อทำความสะอาดเมืองให้ภูเก็ตกลับมาเป็นไข่มุกอันดามันที่เปล่งประกายได้ดั่งเดิม

กินผัก ส่งเมือง สร้างเศรษฐกิจสีเขียวให้คึกคัก

ด้วยความที่ประเพณีถือศีลกินผัก เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภูเก็ต ทำให้ในช่วงประเพณีนี้ เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในปี 2566 มีผู้เข้าร่วมกว่า 650,000 คน ซึ่งสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ภูเก็ตอีกกว่า 5,000 ล้านบาท พร้อมเกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ผู้คนในพื้นที่อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว การโรงแรม การค้าขาย และการขนส่ง


นับเป็นเวลาเกือบ 200 ปีแล้วที่ ประเพณีถือศีลกินผัก ยังคงดำเนินเรื่องราวอยู่ภายใต้ประวัติศาสตร์ของภูเก็ต คอยสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายของภูเก็ตที่ถูกหลอมรวมไว้ในเมืองแห่งนี้อย่างลงตัวและไม่ขาดสายมาเป็นระยะเวลานาน 

ดังนั้น การได้รับรางวัลในฐานะ “เมืองแห่งเทศกาลโลก” และ “Grand Pinnacle” ในปีเดียวกันนั้น จึงถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของภูเก็ตให้กลายเป็นเทศกาลระดับสากลที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้ได้มาสัมผัสประสบการณ์

ต้องบอกเลยว่า จองตั๋วตอนนี้ยังทัน แล้วไปร่วมฉลองรางวัล “เมืองแห่งเทศกาลโลก” พร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งของ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” เจ้าของรางวัล Grand Pinnacle สุดยิ่งใหญ่ได้ตั้งแต่วันที่ 3 – 11 ตุลาคม 2567