Skip links

Perfect Days – จำเจ แต่ไม่จำใจ …ซอฟต์ พาวเวอร์ สไตล์ญี่ปุ่น

** เสียงกวาดถนนจากเพื่อนบ้านที่ปลุกให้ตื่น / ต้นไม้ในกระถาง / กาแฟกระป๋องยามเช้า / เพลงยุค 70s จากเทปคาสเซ็ทที่วนซ้ำเป็นเพลงประจำวัน / แซนด์วิช นม รูปถ่ายเงาต้นไม้ / อาหารเย็นและบาร์ร้านประจำ / หนังสือสักเล่มก่อนนอน และการทำงาน ทำความสะอาดห้องน้ำ ที่พึงใจในทุกวัน 

(ซ้ำ **) 

Perfect Days – ภาพยนตร์ว่าด้วยชีวิตประจำวันของ “ฮิรายามะ” (รับบทโดย โคจิ ยาคุโช) ลุงพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ตั้งแต่ตื่นนอน จนหลับฝัน วนซ้ำเดิมอยู่อย่างนั้นตลอดกว่า 2 ชั่วโมง ชวนให้สงสัยว่า สุดท้ายแล้ว วันที่สมบูรณ์แบบ (Perfect Days) ที่หนังเรื่องนี้พยายามจะฉายให้เห็นนั้น หน้าตาเป็นยังไง

Komorebi (木漏れ日) 

คำในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า แสงระยิบระยับและเงาที่เกิดจากใบไม้ที่พลิ้วไหวตามลม 

มันเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว ในชั่วขณะหนึ่ง

ตลอดกว่า 2 ชั่วโมง เราได้รู้จักกับลุงฮิรายามะผ่านกิจวัตรประจำวันที่เขาทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินไปดังเช่นเดิมในทุกวัน แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่า ชีวิตในแต่ละวันของลุงฮิรายามะจะ “เหมือนเดิม”

เพราะมีบ้างบางวัน บางชั่วขณะที่เขาได้เจอต้นไม้ต้นใหม่ ได้รอยยิ้มแทนคำขอบคุณจากเด็กหลงทาง ได้เห็นคนไร้บ้านมีความสุข ได้ฟังเพลงจากเจ้าของบาร์คนสวย ได้เล่นเกม OX กับคนแปลกหน้า ได้คุยเล่นสนุกแบบเด็กกับคุณลุงวัยเดียวกัน ได้ใช้เวลาอยู่กับหลานสาวสุดน่ารัก และก็ใช่ว่า จะไม่มีเรื่องกวนใจ เพื่อนร่วมงานวัยรุ่นรักสนุก ทำความสะอาดห้องแบบขอไปที แถมยังยืมเงินแล้วไม่คืน ประกอบกับด้วยอาชีพพนักงานทำความสะอาด ทำให้บางครั้งเขาจำต้องถูกสายตารังเกียจจากคนรอบข้าง แต่นั่นก็ไม่ได้ลบล้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาได้รับมา

“วันหลังก็คือวันหลัง วันนี้ก็คือวันนี้”

หากในสมัยเด็ก หลังฟังนิทานจบ มีประโยคที่ว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… 

หลังดูหนังเรื่องนี้จบ คงจะมีประโยคที่ว่า หนังเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… เข้ามาแทนที่ไม่ต่างกัน 

สังคมในทุกวันนี้ บังคับให้ผู้คนต้องทำเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมาไม่ต่างชีวิตของลุงฮิรายามะ จนท้ายที่สุดความเบื่อหน่ายเข้ากัดกินชีวิต รู้สึกชีวิตไม่ความหมาย เฝ้ารอวันสมบูรณ์แบบที่จะมาถึง ทำให้มองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้มีความสุข ในขณะที่ลุงนักทำความสะอาดห้องน้ำคนนี้เพียงแค่ รับรู้ ถึงความรู้สึกในตอนนี้ ไม่คำนึงถึงอนาคตและไม่โหยหาอดีต (อย่างน้อยก็ตอนตื่น และยกเว้นในห้วงความฝัน) 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลุงฮิรายามะกำลังเป็นตัวแทนของชาวญี่ปุ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามใช้ชีวิตโดยให้คุณค่ากับการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง โดยห้องน้ำทุกแห่งที่เขาทำความสะอาดจะต้องได้รับการดูแลอย่างหมดจด แม้เพื่อนร่วมงานของเขาจะมองว่าขึ้นชื่อว่าห้องน้ำสาธารณะ ยังไงก็กลับมาสกปรกอยู่ดี แต่ลุงคนนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ตอกย้ำทัศนคติการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นที่ให้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ พาให้ Perfect Days ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2024 และ ส่งให้ โคจิ ยาคุโช ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2023

ซอฟต์พาวเวอร์ญี่ปุ่น - ทัชใจจนต้องทำหนัง

ทว่า “หนังญี่ปุ่น” ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายและจิตวิญาณความเป็นญี่ปุ่นทุกวินาทีขนาดนี้ หาใช่ฝีมือการกำกับของผู้กำกับชาวญี่ปุ่น แต่เป็นผลงานการกำกับของ Wim Wenders ผู้กำกับชาวเยอรมันที่น้อมรับและถ่ายทอดจิตวิญญาณ ญี่ปุ่น ได้อย่างละเมียดละไม หรือที่อาจเรียกได้ว่า รับซอฟต์พาวเวอร์แบบเต็มเปา ดังนั้น หากใครยังคงสงสัยว่ากระบวนการทำงานซอฟต์ พาวเวอร์เป็นยังไง แรงบันดาลใจในการกำกับ Perfect Days ของ Wim Wenders อาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่อธิบายเรื่องนี้ได้ 

จุดเริ่มต้นในการซึมซับความเป็นญี่ปุ่นของ Wim Wenders เริ่มต้นจากในปี 1977 เขาเป็นตัวแทนผู้กำกับจากเยอรมนีไปชมภาพยนตร์ของ Yasujiro Ozu ที่ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในผู้กำกับที่คนในวงการต่างลงความเห็นกันว่าอยู่ในระดับ “ปรมาจารย์นักทำหนัง” หลังจากนั้น ความเป็นญี่ปุ่นก็เริ่มปรากฏให้เห็นในผลงานของเขาเรื่อยมา โดยเฉพาะ Tokyo-ga (1985) ซึ่งเป็นสารคดีสั้นย้อนรอยชีวิต Yasujiro Ozu รวมถึงชื่อ ฮิรายามะ ตัวเอกของ Perfect Days ก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ชื่อ ฮิรายามะ ซึ่งเป็นตัวเอกของหนังเรื่อง Tokyo Story (1953) ผลงานคลาสสิกของ Yasujiro Ozu ด้วยเช่นกัน

กระทั่งในปี 2022 เขามีโอกาสกลับมาญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยเขาได้รับเกียรติเชิญให้มาทำสารคดีสั้นให้แก่โปรเจ็กต์เกี่ยวกับห้องน้ำสาธารณะในญี่ปุ่นที่ถูกสร้างโดยสถาปนิกชื่อดัง 15 คน แต่ตลอดระยะเวลาที่อยู่ญี่ปุ่น เขาพบว่าเขาไม่สามารถทำเรื่องนี้เป็นสารคดีสั้นได้ เพราะ เขาประทับใจมากกับวัฒนธรรมที่ชาวญี่ปุ่นปฏิบัติต่อห้องน้ำ ซึ่งต่างจากเบอร์ลินและยุโรปที่เต็มไปด้วยขยะ แม้จะอยู่ในช่วงล็อคดาวน์จากการระบาด โควิด-19 เหมือนกัน เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนโปรเจ็คต์นี้ให้กลายเป็นหนังเรื่องนี้แทน 

ห้องน้ำ - รูปธรรมแห่งจิตวิญญาณญี่ปุ่น

ในทุก ๆ วันหลังกดกาแฟกระป๋องยามเช้า พร้อมเปิดเทปคาสเซ็ทเสร็จแล้ว ลุงฮิรายามะ จะเดินทางไปยังห้องน้ำสาธารณะต่าง ๆ ทั่วโตเกียว ทำให้ตลอดระยเวลาการทำงานของลุงในหนังเรื่องนี้ เราจะได้สำรวจและพบเจอห้องน้ำดีไซน์แปลกตาหลากหลายแห่ง  

ห้องน้ำเหล่านั้นล้วนเป็นห้องน้ำที่อยู่ในโปรเจ็กต์ “Tokyo Toilet” ที่ Wim Wenders ได้รับมอบหมายให้ทำเป็นสารคดีสั้นก่อนหน้านี้ โดยโปรเจ็กต์นี้ได้รับการสนับสนุนจาก Nippon Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่สนับสนุน เรื่องการพัฒนาสาธารณสุข สวัสดิการทางสังคม และการพัฒนาทางทะเล พร้อมด้วยสำนักงานเขตชิบูย่า (Shibuya City Government) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชิบูย่า (Shibuya Tourism Association) ที่เชิญสถาปนิกชื่อดังกว่า 17 คน มาเปลี่ยนห้องน้ำสาธารณะ 17 แห่งกลางกรุงโตเกียวให้เข้าถึงง่าย ตอบโจทย์ทุกเพศทุกวัย และยังทำให้ห้องน้ำเหล่านี้กลายเป็นแลนด์มาร์คย่านชิบูย่าที่เชิญชวนผู้คนให้ได้ลองเข้ามาใช้งานสักครั้ง

หาก “ค่านิยมและวัฒนธรรม” คือหนึ่งในทรัพยากรสำคัญในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของผู้กำกับ Wim Wenders ถูกหล่อหลอมจากอิทธิพลของความเป็นญี่ปุ่นผ่านผลงานของ Yasujiro Ozu ที่ชัดเจนและลึกซึ้ง จนทำให้ภาพยนตร์ของเขาอย่าง Perfect Days กลายเป็นผลงานที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ชนิดที่ว่าเราดูหนังเรื่องนี้โดยไม่ทราบที่มาของผู้กำกับ ยังไงก็ต้องคิดว่าเป็นฝีมือของผู้กำกับชาวญี่ปุ่นแน่ๆ กลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้อาจกลายเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญในการส่งต่อจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่น และส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น (จากฝีมือการกำกับของผู้กำกับชาวเยอรมัน)

เพราะ แม้เราจะวาดหวังรอให้มีสักวันที่เป็นวันที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีเรื่องร้าย ๆ อะไรกวนใจ แต่แท้จริงแล้ววันที่สมบูรณ์แบบ อาจเป็นเพียงวันที่เราได้ค่อย ๆ ลิ้มรสชีวิตที่กำลังดำเนินไปอยู่ทุกขณะ แล้วรับซอฟต์ พาวเวอร์ญี่ปุ่นจากหนังเรื่องนี้ ลองหันมาใส่ใจกับสิ่งที่สร้างรอยยิ้มเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง 

เราอาจจะเจอวันที่สมบูรณ์แบบของเราในทุกวันก็ได้ 🙂