ปาล์มน้ำมัน – อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจไทยที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาลและยังคงเติบโตต่อเนื่องอย่างไม่หยุดหย่อน จนไทยกลายเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุด โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตปาล์มน้ำมันได้มากกว่า 18 ล้านตัน ซึ่งในปี 2024 นี้ ให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน ซึ่งหากมองดูมูลค่าทางเศรษฐกิจและการส่งออกแล้ว ก็อาจนับได้ว่ามีศักยภาพมากพอจะเติบโตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างชื่อเสียงที่ดีและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้แก่ไทยได้
ทว่า แม้ผลผลิตส่วนใหญ่ล้วนได้มาตรฐาน แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการรับรองคุณภาพระดับโลก อีกทั้ง ในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมนี้จะต้องเจอกับความท้าทายอันรุนแรงไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ทำให้จำเป็นต้องเร่งหาทางรับมือและแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยยังคงยั่งยืนต่อไป เนื่องจาก กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความต้องการน้ำมันปาล์มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตจะกลับมาส่งผลกระทบโดยตรงแก่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์มเอง
วันนี้ The Attraction มีโอกาสได้สัมภาษณ์ Joseph D’Cruz ซีอีโอของ RSPO เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมันไทยในตอนนี้
การประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยน้ำมันปาล์มยั่งยืน (RSPO)
การประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) เป็นความร่วมมือระดับโลกจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่-ราย่อย ผู้ค้าปลีก องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหาแนวทางที่จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งดำเนินกิจกรรมและวางมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยั่งยืนจนประสบความสำเร็จมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว โดยจะจัดการประชุมประจำปีขึ้นใน 3 ประเทศที่มีอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ ได้แก่ อินโดนนีเซีย มาเลยเซียและไทย
การประชุมโต๊ะกลมประจำปีของ RSPO ในปีนี้ หรือ RT2024 จัดขึ้นที่ประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดตั้งหลักการและเกณฑ์ประจำปี 2024 (Principles & Criteria หรือ P&C) รวมถึงมาตรฐานเกษตรกรรายย่อยอิสระประจำปี (Independent Smallholder หรือ ISH Standard 2024) เพื่อจัดการปัญหาตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำสวนปาล์ม พร้อมกับหาแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate changes) และเพิ่มการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อยให้เข้ารับกระบวนการยืนยันมาตราฐานจาก RSPO
Joseph D’Cruz ให้สัมภาษณ์กับ The Attraction เพิ่มเติมถึงสถานการณ์ในไทยเพิ่มเติมอีกว่า ในปัจจุบัน ไทย เป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก แต่เกษตรกรผู้ผลิตปาล์มส่วนใหญ่ของไทยนั้นเป็นผู้ผลิตรายย่อย ต่างจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มักจะรวมตัวกันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ผลิตในไทยจะเป็นรายย่อย แต่ก็มีกระบวนการผลิตและผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้คุณภาพ และยังไม่ถูกรับรู้ในคนหมู่มาก ทำให้การได้รับการรับรองจาก RSPO นั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยการันตีคุณภาพและเพิ่มชื่อเสียงให้แก่น้ำมันปาล์มของประเทศไทยได้
อีกทั้ง Joseph D’Cruz ยังเล่าให้ฟังอีกว่าขณะนี้ RSPO กำลังสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะให้บริการเก็บและรวบรวมข้อมูลปาล์มน้ำมันที่ได้รับมาตรฐาน RSPO ทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปาล์มน้ำมันนั้นมาจากที่ใด ไปจนถึงเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต่อไปในอนาคต และส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยในตลาดโลก
“คนปารีสซื้อน้ำมันปาล์ม ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าซื้อมาจากที่ไหน เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่”
ปาล์มน้ำมันยั่งยืน - ซอฟต์พาวเวอร์ยั่งยืน
ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรง ทำให้การใส่ใจเรื่องความยั่งยืนถือเป็นพันธะหน้าที่ที่ทุกภาคส่วนทั่วทั้งโลกต่างร่วมแรงกัน ซึ่ง Brand Finance – บริษัทที่ปรึกษาด้านการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก ผู้จัดตั้งดัชนีชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์ ชี้ให้เห็นว่า ความยั่งยืน (Sustainability) มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องซอฟต์ พาวเวอร์ด้วยเช่นกัน หากประเทศใดมีมาตรการการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพชีวิตและวิถีชีวิตด้านอื่นของผู้คนในประเทศได้มาตรฐาน ก็จะช่วยเพิ่มซอฟต์ พาวเวอร์ให้แก่ประเทศนั้นได้เป็นอย่างดี
ในปีที่ผ่านมา คะแนนด้าน ความยั่งยืน ตามดัชนีซอฟต์ พาวเวอร์ของไทยอยู่ที่ 3.6 คะแนน การผลักดันเพื่อเพิ่มความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศจึงน่าจะช่วยเพิ่มคะแนนในส่วนนี้ให้แก่ประเทศได้ไม่น้อย โดย Joseph บอกกับ The Attraction ว่าในขณะนี้ภาครัฐในไทยมีความสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างมาก RSPO จึงทำงานร่วมกันกับทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจนถึงระดับจังหวัด
Joseph D’Cruz มองว่า “ความยั่งยืนไม่ได้หมายถึงแค่การปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการปกป้องผู้คนด้วย”
ดังนั้น การวางแผนให้น้ำมันปาล์มยั่งยืนนั้น จึงไม่ได้หมายถึงแค่การลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำสวนปาล์มหรือหาแนวทางลดมลภาวะจากการอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใส่ใจคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยในอุตสาหกรรมอีกด้วย
นอกจากนี้ Joseph D’Cruz ยังมุ่งหวังให้ในอีก 20 ปีข้างหน้า อาชีพเกษตรกรน้ำมันปาล์มจะกลายเป็นอาชีพของคนรุ่นใหม่ที่สร้างรายได้ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน