Skip links

มหากาพย์ NewJeans เมื่อเจ้ากรรมนายเวรมาในรูปแบบค่ายเพลง

จากเรื่องราวความขัดแย้งระหว่าง บังชีฮยอก ผู้ก่อตั้งและโปรดิวเซอร์จากค่าย Hybe Corporation กับ มินฮีจิน อดีต CEO ของค่าย Ador (ซึ่งเป็นค่ายลูกในเครือ Hybe) ได้ปะทุขึ้นกลายเป็นสงครามการเมืองในวงการ K-pop ที่ร้อนแรงมาตั้งแต่ต้นปี การปะทะครั้งนี้ลุกลามจนนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายแรงงานสำหรับไอดอลและแรงงานทุกประเภท และยังคงไม่มีทีท่าจบลงง่าย ๆ ด้วยพลังของเด็กสาว 5 คน 

จุดเริ่มต้นของความไม่เป็นธรรม

หากจะสรุปให้สั้น เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มจากในเดือนเมษายน บังชีฮยอกอ้างว่าฝั่ง Hybe ตรวจออดิทบริษัท ador แล้วพบหลักฐานว่ามินฮีจิน ขายความลับบริษัทและส่อแววดังแล้วจะแยกค่าย ador ออกมาตั้งตัวเป็นอิสระ เพราะในตอนแรก ador เป็นค่ายลูกที่ Hybe ถือหุ้น 100% และพอ NewJeans ประสบความสำเร็จ Hybe จึงปล่อยให้มินฮีจินซื้อหุ้น 18% และรายอื่นอีก 2% แต่มินฮีจินก็ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวโต้กลับว่าไม่เป็นความจริง พร้อมเปิดประเด็นโต้เถียงใหม่ขึ้นมาอีก 

บังชีฮยอก - ผู้บริหาร Hybe
มินฮีจิน
NewJeans

ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ในระหว่างนี้ ฝั่ง Hybe พยายามปลด มินฮีจิน ออกจากตำแหน่ง CEO ทั้งการยื่นเรื่องไปยังชั้นศาล ไล่คนสนิทของเธออก ก่อนเธอจะลาออกด้วยความไม่เต็มใจในเวลาต่อมา และเป็นจุดเริ่มต้นให้ NewJeans เริ่มรู้สึกว่าพวกเธอกำลังถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน

หลังจากมินฮีจินลงจากตำแหน่งได้เพียงสองสัปดาห์ ในวันที่ 11 กันยายน NewJeans เปิดช่องยูทูบใหม่เพื่อมาไลฟ์ชี้แจงว่าพวกเธอได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ วิดีโอตอนที่พวกเธอเป็นเด็กฝึกก็ถูกเปิดเผยโดยพละการ พร้อมเรียกร้องให้ค่าย Hybe เลิกกดดันมินฮีจินและให้เธอกลับมาเป็น CEO อีกครั้ง ซึ่งโดยปกติแล้ว หากค่ายเพลงประสบปัญหา ศิลปินมักจะถูกสั่งให้เก็บตัวเงียบ การไลฟ์ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงความกล้าหาญอย่างมากสำหรับเด็กสาวอายุเพียง 20 ปี ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาล แต่ยังลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิ่งที่พวกเธอรัก 

หากนับว่า Attention เพลงเดบิวต์ในปี 2022 ของ NewJeans เป็นคลื่นลูกใหม่ของ K-pop เจน 4  การไลฟ์ครั้งนี้ ถือว่าเป็นเป็นก้าวแรกของวงการ K-pop ที่ศิลปินลุกขึ้นมาส่งเสียงของตัวเอง แม้ในครั้งนี้จะไม่ใช่เสียงเพลงไพเราะดั่งที่เคยได้ยิน แต่เป็นเสียงแห่งความเจ็บปวดที่พวกเธอต้องเจอ 

หลังจากไลฟ์นี้จบลงไม่นาน ในวันที่ 15 ตุลาคม 2024 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและแรงงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรุงโซล ได้เชิญ ฮันนิ หนึ่งในสมาชิก NewJeans มาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเธอต้องเจอในประเด็นการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน โดยเธอเล่าว่า พวกเธอถูกผู้จัดการวงอื่นสั่งให้ศิลปินของตัวเองเมินพวกเธอ ซึ่ง CEO คนใหม่ที่มาแทนมินฮีจิน ไม่ได้ใส่ใจแก้ปัญหา หากเป็นมินฮีจิน แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มินฮีจินจะปกป้องเธอ ทำให้ท้ายที่สุดไม่กี่วันต่อมา มินฮีจินกลับมาเยือน Hybe อีกครั้งในฐานะกรรมการบริษัท 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ขณะที่ทางรัฐสภากำลังสืบสวน Hybe อยู่นั้นก็ไปพบกับ “รายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมเพลงประจำสัปดาห์” ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำเหยียดหยามศิลปิน K-pop เกินครึ่งวงการ ทั้งศิลปินนอกค่ายและในค่าย กว่า 10,000 หน้า โดยมีส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นว่า Hybe มีแผนจะยุบวง NewJeans อย่างไรก็ตาม กระทั่งเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา มีคำตัดสินออกมาในกรณีการบูลลี่ในที่ทำงานครั้งนั้นอยู่ดีว่า ฮันนิ จะยังคงไม่มีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจาก ไอดอล ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นแรงงานรูปแบบหนึ่งตามกฎหมายเกาหลี แม้เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นภายในเวลาที่พวกเธอ ทำงาน อยู่ก็ตาม 

ถ้าไอดอลไม่ใช่แรงงาน แล้ว คือใครในอุตสาหกรรม K-pop

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่แม้ไอดอลจะเป็นบุคลากรคนสำคัญของวงการ K-pop ส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์มานานหลายสิบปี แต่พวกเขากลับไม่ได้รับสิทธิในฐานะ แรงงาน เพราะ ตามกฎหมายมาตรฐานแรงงาน (Labor Standards Act.) วางหลักเรื่องการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในที่ทำงานไว้ให้เป็นเรื่องของ นายจ้าง-ลูกจ้าง (Employer-Employee) เท่านั้น โดยห้ามนายจ้าง ปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม แต่หากเกิดเหตุขึ้นไม่ว่าจะพนักงานประจำ พนักงานที่เสมือนว่าเป็นพนักงานประจำ หรือแรงงานข้ามประเทศสามารถยื่นข้อเรียกร้องได้

ฮันนิขึ้นให้การกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและแรงงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรุงโซล Cr.Newsis (뉴시스)

ในขณะที่กรณีที่ NewJeans เจอนั้น อาจเป็นเพียงการกลั่นแกล้งในที่ทำงานในระดับ พนักงาน-พนักงานเท่านั้น แม้จะแจ้งเรื่องไปยัง CEO คนใหม่ที่น่าจะเปรียบเสมือนนายจ้างแล้ว แต่ ณ ขณะนั้นฝั่ง CEO คนใหม่ก็อ้างว่าแก้ปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว อีกทั้ง การเป็น ไอดอลเกาหลี นั้นยังอยู่ในรูปแบบสัญญาจ้างตามตกลง แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 7 ปี หากหมดสัญญาจึงจะต่อสัญญากันเป็นรอบ ๆ ไป จึงอาจเป็นเหตุผลให้ข้อเรียกร้องของ NewJeans ถูกปัดตก

พนักงานทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพในที่ทำงาน

กระทั่งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกาที่ผ่านมา สมาชิกผู้แทนราษฎร จอง ฮเยคยอง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานและตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้าน เสนอร่างแก้ไขกฎหมายแรงงานใหม่ โดยจะใช้ชื่อว่า NewJeans Hanni Act. เพื่อขยายให้เรื่องการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในที่ทำงานครอบคลุมถึงแรงงานทุกคน 

“ไม่เพียงแต่ฮานิ NewJeans เท่านั้น แต่ยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันห้ามการล่วงละเมิดในที่ทำงานเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและคนงานเท่านั้น”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรม K-pop ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อ ซอฟต์ พาวเวอร์เกาหลี แต่รัฐบาลยังไม่เห็นถึงความใส่ใจในการแก้ปัญหานี้ แถมยังตัดสินว่า ไอดอลไม่ใช่แรงงานตามกฎหมายเกาหลี ทั้ง ๆ ที่พวกเขาใช้ความฝัน แรงกาย แรงใจไปกับการเป็นไอดอล ทำให้ทั่วโลกได้เข้ามาทำความรู้จักกับประเทศเกาหลี อยากกิน อยากเที่ยว อยากใช้สินค้าแบบคนเกาหลี แต่แค่การตัดสินอย่างยุติธรรมพวกเขากลับยังไม่ได้รับ 

แต่การลุกขึ้นสู้ยืนหยัดเพื่อความฝันของ NewJeans ในครั้งนี้ จะถูกบันทึกและจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะสิ่งที่พวกเธอทำจะไม่ได้มีประโยชน์ต่อวงการไอดอลและอุตสาหกรรม K-pop เท่านั้น แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้แก่ชาวเกาหลีต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ขับเคลื่อนประเทศเกาหลีให้เเดินหน้าคงพลังอำนาจของตัวเองบนเวทีโลกได้ต่อไปก็คือ เหล่าไอดอลและแรงงานทุกคน 

"การอยู่ที่นี่ต่อไป ยิ่งทำให้เราเจ็บปวดและเสียเวลา"

“นี่ไม่ใช่จรรยาบรรณในการทำงานที่เราเคารพ และไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งด้วย และการทำงานต่อไปภายใต้บริษัทที่ไม่มีเจตนาจะปกป้อง NewJeans มีแต่จะส่งผลเสียต่อเราเท่านั้น” - ฮันนิ, 2024

“Just remember ... NewJeans Never Die”

ตอนนี้ทั้งมินฮีจินและ NewJeans ประกาศออกจากค่าย ador เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2024 NewJeans ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่าตั้งแต่ในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2024 นิวจีนส์จะยุติสัญญากับทาง ador อย่างเป็นทางหาร เนื่องจาก Hybe ยังไม่มีมาตรการจัดการที่เป็นธรรม ไร้ความสามารถและเจตนาที่จะปกป้อง NewJeans ได้ ตามสัญญาที่ระบุไว้ตั้งแต่แรกว่า หาก ador ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ตกลงกับทาง NewJeans ไว้ NewJeans มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาได้ ทว่า ในเวลาต่อมาทาง Hybe ก็ยังคงพยายามเรียกร้องให้ทำการตรวจสอบสัญญาอีกครั้ง เนื่องจากในตอนนี้ NewJeans ฉีกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว

งานแถลงข่าวประกาศลาออกจาก ador เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2024 Cr.Forbes

“เราจะมุ่งมั่นทำกิจกรรมที่เรารักอย่างอิสระ และอยากปล่อยเพลงใหม่ให้กับ Bunnies ในปีหน้าโดยเร็วที่สุด”

แม้จะเจอเรื่องราวทั้งหมดนี้ แต่ NewJeans ยังคงเดินหน้ารับรางวัลบนงานประกาศรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลสูงสุด Grand Artist จากงาน 2024 Korea Grand Music Awards (KGMA) / รางวัล Frontier Award ที่มอบให้แก่ศิลปินที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งการมุ่งมั่นพัฒนาวัฒนธรรมและศิลปะการแสดง จากงาน 11th E-Daily Culture Awards ซึ่งตลอดทุกครั้งพวกเธอยังคงกล่าวขอบคุณบันนี่ส์ (Bunnies: ชื่อแฟนคลับของ NewJeans) ทีมงานและ มินฮีจิน ที่อยู่ข้างกันอยู่เสมอ พร้อมทั้งกล่าวถึงการเฝ้ารอช่วงเวลาที่จะได้สร้างสรรค์ผลงานอย่าง ‘อิสระ’ อีกครั้ง

เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของเหล่าเด็กสาววัย 20 เท่านั้น และยังคงมีเรื่องราวเบื้องหลังอีกมากมายที่ทำให้พวกเธอต้องพบเจอกับความเจ็บปวดที่ไม่อาจคาดคิดได้ ทั้งถูกสะกดรอยตาม ขายวิดีโอซ้อมเต้น ขณะที่เป็นเด็กฝึก โดยที่พวกเธอยังไม่ได้อนุญาต ถูกเมินเฉยในที่ทำงาน สร้างบาดแผลภายในจิตใจให้เด็กสาวที่กำลังเติบโตมากมาย แต่พวกเธอยังคงมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะกลับมาในฐานะ NewJeans ซึ่งการกลับมาครั้งหน้านั้น พวกเธออาจจะเดินหน้าไปต่อกับค่ายใหม่ที่มินฮีจินก่อตั้งเอง หรือจะไปอยู่ค่ายไหนนั้นก็ยังไม่อาจทราบได้ แต่พวกเธอจะกลับมาอย่างสง่างามและเดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์หน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน

แฟนคลับคงไม่มีความสุขหรอก ถ้าเห็นศิลปินที่เรารักกำลังเศร้า ฝนตกมานานแล้ว หลังจากนี้ เราหวังว่าพวกเธอจะได้เติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง คอยปกป้องดูแลกันและกัน และกลับมาสร้างรอยยิ้มให้บันนี่ส์ได้พักพิง และเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า ไอดอล ไม่ใช่สินค้า แต่เป็นคนที่มีสิทธิสู้เพื่อความฝันของตัวเอง