แม้อาหารจะไม่ได้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในนโยบาย Cool Japan ซึ่งเป็นนโยบายผลักดันสินค้าวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของมัทฉะผูกใจให้คนทั่วโลกสร้างภาพจำไปแล้วว่า มัทฉะ คือเครื่องดื่มประจำชาติญี่ปุ่น ซึ่งเบื้องหลังรสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์และสีเขียวสดสะดุดตา ยังมีปรัชญาความเป็นญี่ปุ่นสอดแทรกไปพร้อมกันด้วย
ปรัชญาวาบิ-ซาบิใต้ก้นแก้วมัทฉะ
จุดเริ่มต้นของการชงมัทฉะ ย้อนกลับไปในช่วงยุคคามากุระ หรือราว ค.ศ.1191 เมื่อนักบวชนิกายเซ็นชื่อว่า เอไซ (Eisai) ผู้ก่อตั้งสำนักรินไซ (Rinzai) นำใบชาเข้าจากจีน เพื่อมาเพาะปลูกเชิงเกษตรกรรมเป็นครั้งแรก เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ใบชาถูกจำกัดให้เป็นเพียงเครื่องดื่มของชนชั้นสูงเท่านั้น โดยเริ่มจากแถบภูมิภาคเซบูริซาน หรือ เมืองซากะ บนเกาะคิวชูในปัจจุบัน ก่อนจะนำไปเผยแพร่ต่อยังเมืองอูจิ เกียวโต และกลายเป็นแหล่งปลูกชาสำคัญของญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
อีกทั้ง นักบวชท่านนี้ยังเขียนตำราว่าด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพของชา ทำให้การดื่มชาแพร่หลายมากขึ้น และในเวลาเดียวกัน นักบวชนิกายเซนยังนำใบชามาบดด้วยครกหินอุ่นไฟ ทำให้ได้ผงมัทฉะสำหรับนำไปชงละลายกับน้ำร้อน จากนั้นใช้แปรงไม้ไผ่ จนได้มัทฉะรสชาติกลมกล่อม และกลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่สะท้อนถึงปรัชญาวาบิ-ซาบิของนิกายเซ็นได้เป็นอย่างดี
ปรัชญาวาบิ-ซาบิ เป็นปรัชญาที่เน้นการชื่นชมความเป็นธรรมชาติ ความเรียบง่าย และการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสอดแทรกอยู่ในทุกขั้นตอนการชงมัทฉะ ตั้งแต่ตัวผงมัทฉะที่มาจากธรรมชาติ ไปจนถึงอุปกรณ์การชงมัทฉะที่มักผลิตจากไม้ไผ่ การตักตวงมัทฉะด้วยช้อนตักมัทฉะปลายช้อนกว้าง 1 ซม. เพื่อให้ได้ผงมัทฉะได้ในปริมาณที่เหมาะสมที่ประมาณ 1 กรัม ต่อการตัก 1 ครั้ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องชั่งตวงให้พอดี 1 กรัมเป๊ะ กระทั่งการตีให้เกิดเป็นฟองเนื้อสัมผัสไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ได้ดื่มด่ำกับมัทฉะที่ไม่สมบูรณ์แบบ แตกต่างกันในทุกแก้ว ทุกครั้งที่สะบัดฝีแปรงชงมัทฉะจึงเป็นทั้งการผสมผงมัทฉะให้เข้ากัน และเป็นทั้งการผสมผสานจิตวิญญาณให้เข้าถึงปรัชญาความเป็นญี่ปุ่นทีละนิด
ในปัจจุบัน มัทฉะ กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดในหลายพื้นที่ อาทิ อูจิ, นิชิโอะ, ชิซุโอกะ และจังหวัดอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งมัทฉะในแต่ละจังหวัดก็มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกันไปตามกรรมวิธีในการผลิต ทำให้ไร่ชากลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องไป
ทว่าในปัจจุบัน แม้โลกภายนอกจะกำลังเดินเทรนด์มัทฉะฟีเวอร์ขนาดไหน แต่ปริมาณการบริโภคมัทฉะในญี่ปุ่นกลับลดน้อยลงมาหลายปีแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงหันมาใช้มาตรการส่งออกมัทฉะมากขึ้น โดยเร่งให้เกษตรกรปลูกใบชาเท็นฉะสำหรับนำมาบดเป็น ผงมัทฉะ มากขึ้น เพื่อมองหากำไรจากตลาดต่างประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมัทฉะกลายเป็นเครื่องดื่มของผู้บริโภคสายสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ชดเชยตลาดการบริโภคชาเขียวในประเทศที่กำลังลดลง เนื่องจากประชากรเกษตรกรที่สูงอายุมากขึ้น ทำให้ไม่มีผู้เพาะปลูกอีกต่อไป
ดังนั้นแล้ว การดื่มด่ำ มัทฉะ ทุกแก้วจึงไม่เพียงเป็นการดื่มด่ำวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่ยังเป็นการดื่มด่ำวิถีชีวิตและปรัชญาความเป็นญี่ปุ่นไปพร้อมกันด้วย แม้บางวันจะชงมัทฉะแล้วได้รสชาติ กลิ่นหอมและสีต่างออกไปจากเดิมบ้าง แต่มัทฉะแก้วนั้นก็ยังคงเป็นมัทฉะ