นับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2024 ที่ประธานาธิบดียุนซอกยอลประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบ 44 ปี ได้ก่อให้เกิดกระแสการชุมนุมและการประท้วงต่อต้านอย่างกว้างขวางทั่วประเทศเกาหลี ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความตึงเครียดและการเรียกร้องให้ประธานาธิบดียุนซอกยอลลงจากตำแหน่ง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการรวมพลังกันของแสงสว่างจาก “แท่งไฟ” หลากสีที่เปล่งประกายอย่างน่าจดจำ
โบกบง 'ไล่'
โดยปกติแล้ว สถานที่ที่เรามักเห็นแท่งไฟ หรือ “บง” (봉) บ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นคอนเสิร์ต สตูดิโอถ่ายทำรายการเพลง หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ K-pop เนื่องจากแท่งไฟถือเป็นอุปกรณ์ประจำตัวของแฟนคลับที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์สำคัญของทั้งกลุ่มแฟนคลับและศิลปิน ซึ่งขาดไม่ได้เลยสำหรับการแสดงตัวตนของแฟนด้อม
แท่งไฟของแต่ละวงมักถูกออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยอ้างอิงจากสัญลักษณ์ โลโก้ หรือสีประจำวง บางครั้งแฟนคลับและศิลปินยังมีส่วนร่วมในการออกแบบร่วมกัน ทำให้แท่งไฟกลายเป็นของแทนใจที่เชื่อมโยงความผูกพันระหว่างศิลปินและแฟนคลับ นอกจากนี้ แท่งไฟยังเป็นเหมือนเครื่องหมายที่ช่วยให้แฟนคลับรู้ได้ทันทีว่าอีกฝ่ายคือเพื่อนร่วมแฟนด้อมเดียวกัน
แต่ทว่าการปรากฏตัวของแท่งไฟในครั้งนี้กลับแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อประชาชนคนเกาหลีจำนวนมากรวมตัวกันโบกแท่งไฟศิลปินเกาหลี เพื่อแสดงพลังต่อต้านและกดดันให้ประธานาธิบดียุนซอกยอล เรียกได้ว่าแท่งไฟจากเกือบทุกแฟนด้อมมารวมตัวกันในเหตุการณ์ครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังมีช่วง “คลาสสอนแท่งไฟ” เกิดขึ้นกลางการประท้วง โดยเป็นการแนะนำชื่อแท่งไฟ ลักษณะเฉพาะ และศิลปินเจ้าของแท่งไฟแต่ละวง ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับ K-pop ตัวยง ได้ทำความรู้จักกับแท่งไฟและวงศิลปินต่าง ๆ ไปพร้อมกัน สร้างบรรยากาศที่หลอมรวมความหลากหลายเข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ
จาก 'เปลวเทียน' สู่ 'แสงไฟ'
ก่อนหน้านี้ การประท้วงในเกาหลีใต้มักใช้การจุดเทียนเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการแสดงออกทางการเมือง แต่จุดเริ่มต้นของการนำแท่งไฟมาใช้ในการประท้วงต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2016-2017 ในช่วงที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ ปาร์คกึนฮเย ใช้อำนาจในทางมิชอบ หาผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเมือง
ในช่วงนั้น คิมจินแท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแซนูรี ได้ออกมากล่าวเตือนประชาชนด้วยถ้อยคำที่ว่า “เทียนย่อมดับไปตามลม” เพื่อบั่นทอนความตั้งใจของผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม คำพูดดังกล่าวกลับจุดกระแสให้แฟนคลับ K-pop รวมตัวกันนำแท่งไฟมาใช้ในการประท้วง แสดงจุดยืนเพื่อประชาธิปไตยด้วยแสงสว่างที่มั่นคง ซึ่งไม่มีวันดับไปตามลมอย่างแน่นอน
K-POP กลางม็อบ
อีกทั้ง ระหว่างชุมนุมอยู่นั้น นอกจากจะมีการพูดปลุกใจผู้ชุมนุมอย่างที่เคยเห็นในการประท้วงทั่วไปแล้ว การประท้วงครั้งนี้ยังมีการเปิดเพลง K-pop ที่มีความหมายเกี่ยวกับการใช้ชีวิต เพื่อปลุกใจผู้ประท้วง รวมถึงเพลงอื่น ๆ ที่มีจังหวะสนุกสนานเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศการประท้วงอีกด้วย
อาทิ เพลง Into The New World – Girls’ Generation เพลงประจำการประท้วงยุคใหม่ เนื่องจากเพลงนี้มีเนื้อหากล่าวถึงการต่อสู้เพื่อชีวิต อย่างไม่ย่อท้อ รวมไปถึงเพลง Time of Our Life และ Welcome to The Show – DAY6 อีกสองเพลงเพื่อชีวิตที่อยู่กับคนเกาหลีทุกช่วงชีวิต แม้กระทั่งตอนประท้วง และเพลงจากศิลปินวงอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้ง APT. – ROSÉ & Bruno Mars, Supernova – aespa, Whiplash – aespa, Fire – BTS, Ring Ding Dong – SHINEE, Crooked – GD และ Fighting – BSS เพื่อส่งเสียงเรียกร้องของตัวเองอย่างสนุกสนาน เป็นต้น
ในเวลาต่อมา เมื่อฝั่งศิลปินทราบข่าวถึงการนำแท่งไฟไปประท้วงก็มีการส่งข้อความผ่านโซเชียลมีเดียแสดงความห่วงใยแฟนคลับกันเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นถึงความอิสระเสรีในการแสดงออกทางการเมืองของศิลปิน พร้อมกับความใส่ใจศิลปินที่มีต่อแฟนคลับอย่างเคารพและเข้าใจไม่กีดกั้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ภายใต้เสียงร้องเพลงที่ดูสนุกสนาน แท่งไฟที่โบกไปตามจังหวะเพลง บรรยากาศสนุกสนานนั้น แฟนคลับเหล่านี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การส่งเสียงเรียกร้องของตัวเองกดดันให้ ประธานาธิบดียุนซอกยอล ลงจากตำแหน่ง
กระทั่งในวันที่ 14 ธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติเกาหลีใต้มีมติเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 204 เสียงต่อคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 85 เสียง ให้ประธานาธิบดียุนซอกยอลหยุดปฏิบัติหน้าที่และลงจากตำแหน่งทันที
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำวัฒนธรรม K-pop มาเป็นส่วนนึ่งของการเมืองนั้น ช่วยให้การชุมนุมประท้วงดูสนุกสนาน เข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะอยู่แฟนด้อมไหน เป็นแฟนคลับของศิลปินวงไหน หรือเป็นประชาชนคนธรรมดาก็สามารถเข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ได้ ทำให้ในการกดดันทางการเมืองครั้งนี้ แท่งไฟ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนประเทศมากกว่าในอุตสาหกรรมดนตรี แต่ยังรวมไปถึงการแสดงออกทางการเมือง เพื่อประชาธิปไตยของชาวเกาหลี