Skip links

นายกฯ – ไทย – กวนตีน…คุยกับนายกสมาคมบอร์ดเกม เรื่องความกวนตีนของคนไทย พี่วัฒน์-วัฒนชัย ตรีเดชา

ครีเอทีฟ, ยูทูบเบอร์รุ่นแรก, นักแสดง, ผู้ผลิตและรีวิวบอร์ดเกม, นายกสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย และอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม ทั้งหมดนี้คือตำแหน่งของ “พี่วัฒน์-วัฒนชัย ตรีเดชา” ชายหน้าหนวดที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาผ่านงานต่างๆ

แต่หากจะนิยาม ‘ตัวตนของพี่วัฒน์’ ภายในคำเดียว คงหนีไม่พ้นคำสั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความ นั่นก็คือ… 

“คนกวนตีน”

ชีวิตวันนี้ พี่วัฒน์เป็นชายวัยกลางคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งถูกใช้เป็นออฟฟิศขนาดย่อมๆ พนักงานมีไม่มาก แต่มีอุปกรณ์ทำมาหากินวางกระจายอยู่ทั่วทุกซอกมุม พร้อมด้วยลูกหมาพึ่งคลอดอีก 12 ตัว ซึ่งกำลังประกาศหาบ้าน 

แต่เรื่องสำคัญที่ทำให้เราต้องเดินทางมาหาแกถึงที่ เนื่องจาก ‘คนกวนตีน’ คนนี้ กำลังเป็นหัวหอกแห่งการพัฒนาวงการบอร์ดเกมไทย ทั้งการขับเคลื่อนให้มีโครงสร้างต่างๆ และการสื่อสารกับภายนอก พร้อมทั้งใช้ ‘ความกวนตีน’ ที่คนไทยเรามีกันอยู่นี่เอง ขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่ระดับสากลใช่แล้ว อ่านไม่ผิด ‘ความกวนตีน’ นี่แหละ ที่จะเป็น ‘Soft Power’ ของไทย อันหาไม่ได้จากที่อื่น

จากที่เคยต่อต้าน แต่สุดท้ายก็เข้าร่วม

ก่อนจะไปว่ากันด้วยเรื่องความกวนตีน ต้องขอย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน  เดิมทีพี่วัฒน์ไม่ได้สนใจบอร์ดเกมแต่อย่างใด หนำซ้ำยังมองวงการนี้ด้วยอารมณ์แอนตี้ปนบูลลี่นิดๆ เสียด้วยซ้ำ

“ไอพวกนี้แม่งเด็กเนิร์ด…กูไปทำอย่างอื่นดีกว่า”

จากนั้นต่อมา ขณะที่พี่วัฒน์ยังทำงานเป็นครีเอทีฟรายการโทรทัศน์อยู่ เมื่อถึงช่วงพักกองซึ่งกินเวลานานมาก ระหว่างรอ ปรากฏว่ามีคนนำบอร์ดเกมสามก๊กมาเล่น

“ไอพวกนี้เอาอีกแล้ว เล่นในเวลางานอีกแล้ว”(.ส่ายหัว)

กระนั้นก็ตาม หลังจากพี่วัฒน์ยืนดูอยู่ครู่หนึ่งจึงได้พบว่า

“เชี่ยย แม่งโคตรหนุกเลย”

“ลองเล่นดูดีกว่าเว้ย”

ผนวกกับช่วงนั้นโซเชียลมีเดียกำลังมาแรง และเริ่มเข้ามาแย่งเวลาการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ตรงหน้ามากขึ้น ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้พี่วัฒน์มีความคิดขึ้นมาว่า

“กิจกรรมนี้มันต้องถูกผลักดัน”

“พี่ก็เลยเอาการเล่นบอร์ดเกมมาถ่ายเป็นรายการ เลยเกิดเป็น Board Game Night ขึ้น”

และในจุดนี้เองที่ทำให้พี่วัฒน์พบว่า กิจกรรมนี้ ใช่แค่สร้างความบันเทิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด เพราะเมื่อเข้ามาคลุกคลีกับวงการนี้มากขึ้น ก็ยิ่งเห็นถึงสาระที่ซ่อนอยู่ในความบันเทิง

“อย่างเกม salem (ล่าแม่มด) มันก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเราอาจจะเคยดูในหนัง แต่ทีนี้เราไม่ใช่แค่ผู้รับสารอย่างเดียว เราได้เป็นทั้งผู้เล่น ได้สื่อสารใน action นั้นๆ ด้วย”

“หรือถ้าประโยชน์กับครอบครัว มันไม่ค่อยมีกิจกรรมไหนที่พ่อแม่ลูก สามารถเล่นร่วมกันได้ แต่บอร์ดเกมมันเป็นหนึ่งในนั้น มีหลายเกมที่ออกแบบมาให้คนในครอบครัวเล่นด้วยกัน”

“และส่วนตัวพี่เอง พี่ไม่เก่งเลยในเรื่องการจัดการวางแผนชีวิต บอร์ดเกมมันช่วยชีวิตพี่เยอะมาก มันทำให้เรารู้ว่าควรจัดการอะไรก่อน หน้า-หลัง”

“นายกวัฒน์”

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าสมาคมบอร์ดเกมในบ้านเรามีมา 4 ปีแล้ว แต่ระหว่างนั้นพี่วัฒน์ก็ทำรายการ สื่อสารในวงกว้าง พร้อมทั้งเฝ้ามองความเป็นอยู่ของคนรอบข้างอยู่ตลอด 

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ เมื่อนายกสมาคมคนเก่าหมดวาระ จุดนั้นเองทำให้พี่วัฒน์พลางคิดกับตัวเองว่า

“เอ…หรือกูจะเอาตัวลงไปลำบากดีวะ”(มือลูบคาง)

ในเมื่อมีบทบาทสื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มันก็พอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง นี่คือสิ่งที่พี่วัฒน์คิด จากนั้นแกจึงลองลงสมัครดู เมื่อถึงวันเลือกตั้งภายในสมาคม ปรากฏว่า นายวัฒนชัย ตรีเดชา ก็ได้รับเลือก และชนะมาด้วยคะแนนเฉียดฉิว

บอร์ดเกม = Soft Power

หนึ่งในเจตนารมณ์ของนายกสมาคมผู้นี้ คือการผลักดันบอร์ดเกมไทยให้กลายเป็นหนึ่งใน soft power เพราะหากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว บอร์ดเกมก็เป็นยานพาหนะที่สามารถนำส่ง soft power ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว บุคลิก หรือคติบางอย่าง

พี่วัฒน์เปรียบเทียบให้เราฟังว่า มีหลายเกมที่ใช้ศิลปวัฒนธรรมมาออกแบบเป็นเกม หรือหากมองในภาพรวม โดยเฉลี่ยจะเห็นได้ว่า ทางฝั่งเกมอเมริกา ส่วนมากจะออกแนวต่อสู้ โจมตีกัน หรือหากเป็นโซนยุโรป จะเป็นเกมที่ใช้ความคิดมากหน่อย สนุกอยู่ในหัว ส่วนทางเอเชีย อย่างญี่ปุ่น ก็มาแนวเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน 

และสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นจากภาพยนตร์ ซีรี่ส์ วิถีชีวิต อันเป็นผลลัพธ์จากนิสัยของคนในแต่ละภูมิภาคด้วยเช่นกัน

แล้วคนไทยล่ะ พี่วัฒน์คิดว่าเป็นอย่างไร?

ความกวนตีนคือ Soft Power ของไทย

“คนไทยเป็นคนกวนตีนครับ”

“มันมาจากโครโมโซม ฮ่าๆ” (หัวเราะ)

กล่าวคือ คนไทยชอบสนุกสนาน มุกเยอะ ชอบตลกในทุกสถานการณ์ สร้างบรรยากาศที่ดีมีความสุข เรามักทำให้เพื่อนหรือคนรอบข้างหัวเราะ ซึ่งการกวนตีนกันก็เป็นวิธีการหนึ่ง

และความกวนตีนของพวกเราก็ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ โฆษณา หลากหลายชิ้นงาน เช่นนี้แล้ว เมื่อต่างชาติได้เห็น ก็จะรู้สึกว่าคนประเทศนี้เป็นมิตร เข้าถึงง่าย อาจจะอยากมาเมืองไทย เพราะคนประเทศนี้น่ารักก็เป็นได้

“พี่มองว่า Soft Power อาจไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่มันคือนิสัยของคนในชาติ”

“มันมีเยอะ พวกหนังดังๆ ที่เอามาทำเป็นเกม ซึ่งเราเห็นแค่ปกก็รู้แล้วว่ามันเล่นยังไง เพราะหนังพวกนั้นมันเป็นสากลไปแล้ว แต่ต่อให้เราใช้รามเกียรติ์ หรือ พระอภัยมณี เราก็ต้องสื่อสารอีกเยอะมากๆ เลย พี่เลยไม่ได้มองว่าต้องยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้นสำหรับเกมไทย อาจจะเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า เออ (เกม) ไทยน่าจะประมาณนี้”

10, 20, 30, 40 ผมชอบขึ้นลิฟต์ ผมชอบลอกข้อสอบ

I’m stuck in the lift เป็นหนึ่งในบอร์ดเกมเครือ BGN ที่พี่วัฒน์มองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการเอาความกวนมาใช้แบบถูกที่ถูกเวลา โดยเกมนี้เป็นเกมที่หยิบมุกตลกคาเฟ่ 10 20 30 40 ผมชอบขึ้นรถฯ มารวมกับเกมกำแบ 5 10 15 20 ให้ผู้เล่นนำเลขมารวมกันให้ได้เท่ากับชั้นที่จะไป 

“ง่าย เข้าถึงได้ ทุกคนเล่นเป็น ฝรั่งไม่มี” 

“เวลาไปเล่าให้เขาฟัง ก็ต้องร้องเพลงนี้ให้เขาฟังด้วย ยูฟังนะ เอ้า 10 20 30 40!”  

หรือจะเป็น Final Exam – เกมลอกข้อสอบ อีกหนึ่งบอร์ดเกมใหม่ในเครือ BGN ที่ตอนนี้อาจจะยังไม่มีตัว Final ให้ได้ลองซื้อมาเทสต์ระบบกันก่อนเอาไปใช้ตอนสอบปลายภาค แต่พี่วัฒน์ก็เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า เกมนี้จะมีทั้งผู้ที่ได้รับบทบาทเป็นเด็กเก่งประจำห้อง คนรอลอก และคนขี้ฟ้อง ครบสูตรเวลาอยู่ในห้องสอบ

“จะมีโอกาสไหนในโลกนี้ที่เราได้ลอกข้อสอบกันอย่างเปิดเผยและสนุกสนานเท่านี้ ไม่มีอีกแล้ว นี่คือการจำลองการลอกข้อสอบในห้องเรียนมาให้ทุกคนทั่วโลกได้ดูกัน” 

ทั้งสองบอร์ดเกมนี้ ล้วนเป็นบอร์ดเกมในเครือ BGN ที่ผสมผสานเพลงคุ้นหู การละเล่นยามว่างและชีวิตในห้องเรียนที่คนไทยทุกคนต่างเคยผ่านมา การันตีความสนุกและความกวนตั้งแต่เห็นชื่อเกมไปโดยปริยาย 

“ต้องยอมรับว่า เราเติบโตช้ากว่าเขาหลายปี ถ้าเราจะหาจุดแตกต่างของสินค้า ความกวนตีนแบบไทยๆ อาจจะเวิร์คก็ได้” 

“มันไม่ได้ยาก เราเป็นเราอยู่แล้ว เราแค่ผลักดันสิ่งนี้ให้มันเด่นขึ้น แล้วถ้ามันมีแบบนี้ออกมาหลายๆ เกม ในท้องตลาดโลก มันก็จะทำให้คนเห็นภาพได้ว่า อ๋อ เกมไทยๆ i seeๆ funnyๆ (หัวเราะ)”

เราจะไปกวนตีนชาวโลก

ในปัจจุบัน บอร์ดเกมถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมยามว่างที่นิยมเล่นกันทุกพื้นที่ ทำให้มีการจัดงานบอร์ดเกมตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ต่างจากงานหนังสือ ซึ่งพี่วัฒน์เองก็เคยไปมาแล้วในฐานะผู้เล่น และกำลังจะได้ไปอีกครั้งในฐานะ นายกสมาคม 

“ถ้าไปด้วยหัวโขนนายกสมาคมบอร์ดเกม ก็จะมองว่าทำไมเขาถึงจัดงานนั้น แล้วคนถึงได้ความรู้สึกแบบนี้ อะไรที่สามารถปรับใช้กับอีเว้นท์ในไทยได้บ้าง คุยในแง่ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ถ้ามีจัดงานแบบนี้ในไทย คุณมาร่วมงานมั้ย หรือเราขอแนบบูธไทยไปด้วยได้ไหม” 

หนึ่งในนโยบายสำคัญของการรับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมของพี่วัฒน์ คือ การทำให้บอร์ดเกมไทยเติบโต ด้วยการพาบอร์ดเกมไทยไปสู่ตลาดโลก โดยครึ่งปีหลังนี้ จะมีงานที่สำคัญต่อวงการบอร์ดเกมไทยเกิดขึ้นสองงาน ได้แก่ Taiwan Original Boardgame Expo 2024 และ Essen Internationale Spieltage 2024

“(ถ้าเป็นของที่ไต้หวัน) จะคุยกับดีไซน์เนอร์ Publisher จากต่างประเทศ เพื่อให้เกมของไทยถูกกระจายไป ในระดับเอเชีย” 

ส่วน Essen Internationale Spieltage เป็นงานบอร์ดเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรวบรวมผู้ชื่นชอบบอร์ดเกม Designer และ Publisher จากทั่วโลกมารวมตัวกัน ณ เมืองเอสเซน ประเทศเยอรมนี โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนตุลาคม และในปี 2024 นี้จะเป็นครั้งแรกที่เราจะเอาเกมไทย 9 บริษัท รวมตัวกันเป็น Thai Pavilion เพื่อเอาความกวนตีนของเราไปเสนอต่อชาวโลก

“ถ้าได้ผลเดี๋ยวพี่มาบอกนะ”(หัวเราะ)

“เป้าหมายหลักครั้งนี้ คือ การทำให้บอร์ดเกมไทยเป็นที่พูดถึงมากขึ้น เราเลยพยายามรวมให้มันเป็นก้อนเดียวกัน เวลาคนมาเดินงานเขาจะได้เห็นภาพ Thai Pavillion ชัดเจน และต้องการคุยกับ Publisher ต่างประเทศที่อยากมาซื้อลิขสิทธิ์ เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีคนไทยไปออกบูธที่เยอรมันอยู่แล้ว แต่กระจายกันไป ส่วนอินโดนีเซีย เกาหลี โตเกียว ไต้หวัน เขารวมตัวกันไปเป็น Pavillion มานานแล้ว”

อย่างไรก็ตาม หากมีภาคสมาคมเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถพาบอร์ดเกมไทยจากทั้ง 9 บริษัทไปได้ไกลถึงเยอรมัน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นอีกความคืบหน้าของหนึ่งในนโยบายที่พี่วัฒน์ต้องการผลักดัน

“งานนี้ (เยอรมัน) ที่ไปได้ เพราะได้รับการสนับสนุนจาก DITP (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) และทางฝั่ง Soft Power ซึ่ง DITP เป็นองค์กรที่พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมของคนไทยอยู่แล้ว และปีนี้เป็นปีแรกที่เขาสนับสนุนเรื่องบอร์ดเกม” 

วิสัยทัศน์ของท่านนายกสมาคม

“ไกลสุด ๆ คือ บอร์ดเกมต้องมีทุกบ้าน เกมอะไรก็ได้ ต้องเล่นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ต้องไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาสัมภาษณ์กัน” 

“ใกล้เข้ามา คือ ไทยต้องเป็น Hub ของบอร์ดเกมสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเอเชีย หรือ อาเซียน เพราะต้องยอมรับว่า เม็ดเงินจากธุรกิจบอร์ดเกมมีประโยชน์ต่อประเทศจริงๆ ไม่ว่าจะการท่องเที่ยว หรืออาหาร” 

“งานของเราไม่ต้องใหญ่เท่างานที่เยอรมัน แต่แค่ฮอลล์เดียวเต็มๆ ที่มีดีไซน์เนอร์ไทยอยู่เต็มฮอลล์ มีบอร์ดเกมต่างประเทศมาขาย มี Buyer จากต่างชาติมาซื้อลิขสิทธิ์ ก็ชวนให้คนมาเที่ยวไทย มาดูเกมสัก 1 วัน ที่เหลืออีก 3 วันไปเที่ยว เราได้ประโยชน์ทั้งหมด”

ถ้าไทยกลายเป็นศูนย์กลางของบอร์ดเกมได้จริง แม้จะเป็นเพียงระดับภูมิภาค แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บอร์ดเกมน่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยได้ หากนักท่องเที่ยวเดินทางมาดูงานและซื้อกลับคนละหนึ่งกล่องอย่างที่งาน Essen Internationale Spieltage พร้อมวางแผนเที่ยวต่อ เงินก็น่าจะสะพัดเข้าไทยไม่น้อย

“แต่วาระของพี่ (ในฐานะนายกสมาคมฯ) มีแค่ 3 ปี พี่มองว่าเป็นเป้าหมายระยะใกล้” 

1.สื่อสารกับภาครัฐ เพราะสมาคมจะเดินหน้าง่ายขึ้นถ้ามีผู้สนับสนุนจากข้างบน 

2.สื่อสารกับโรงเรียน สถานศึกษา ให้เอาบอร์ดเกมไปใช้ให้เป็นประโยชน์ นักเรียนเอาไปเล่นแล้วไม่โดนอาจารย์ด่า   

3.ส่งเสริมดีไซน์เนอร์ไทย ให้บอร์ดเกมไทยไปสู่สากล

แม้ระยะเวลาการเข้ารับตำแหน่งของนายกสมาคมฯ จะผ่านมาไม่นาน แต่หากมองจากมุมคนที่ติดตามวงการบอร์ดเกมไทยมาพอสมควร ก็เริ่มทิศทางที่ดีขึ้นของบอร์ดเกมไทย ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะการขับเคลื่อนของคนในวงการที่ไม่เคยหยุดหย่อนมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี 

หรืออาจเป็นเพราะ ภาครัฐเริ่มเล็งเห็นความเป็นไปได้ของตลาดนี้พอดี 

หรืออาจเป็นเพราะ สถานศึกษาที่เริ่มเล็งเห็นข้อดีจากบอร์ดเกมพอดี 

หรืออาจเป็นเพราะ ดีไซน์เนอร์ไทยที่เริ่มทำมากขึ้นพอดี 

หรืออาจเป็นเพราะ ความกวนตีนของพี่วัฒน์ที่อยู่ถูกที่ถูกเวลาพอดี 

สุญญากาศทางคณะอนุกรรมการฯ

‘ในการประชุมครั้งที่ 5/2567 คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พิจารณาแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม” เพิ่มเติม จำนวน 1 ท่าน ได้แก่

วัฒนชัย ตรีเดชา – นายกสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย’

คงจะไม่ผิด ถ้าบอกว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้เราอยากเข้ามาคุยกับพี่วัฒน์ในวันนี้ เพราะหากพูดถึง เกม ในฐานะ  Soft Power แล้ว โดยทั่วไปผู้คนก็จะนึกถึง เกมดิจิทัล หรือการแข่งขัน E-sports 

แต่ในวันนี้ “บอร์ดเกม” กำลังได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพมากพอจะเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทย จนทำให้นายกสมาคมฯ คนนี้ได้รับการเทียบเชิญเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ 

“บอร์ดเกมก็ถือเป็นเกมแขนงหนึ่ง เขาก็เลยเอามารวมกัน งานที่เป็น Digital Game เราก็ขอเข้าไปแจมคนอื่นที่เขายังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นภาพ จะได้เข้าใจว่าบอร์ดเกมเป็นแบบไหน” 

“ตอนนี้ผมไม่ได้เป็นอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แล้ว”

ทว่า หลังแสดงความยินดีกับ นาย วัฒนชัย คนนี้ได้ไม่นาน ก็เกิดการสลับปรับเปลี่ยนตัวนายกเศรษฐา ทวีสิน ทำให้ตำแหน่งของคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ลอยเคว้งคว้างไปตามกัน 

แม้ในนาม ตำแหน่งนี้จะไม่มีแล้ว แต่พี่วัฒน์และทีมเบื้องหลังคนอื่น ๆ ก็ยังคงทำหน้าที่ในบทบาทนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีบางโปรเจ็คต์ที่ยังต้องสานต่อให้จบ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของนายกวัฒน์ และบอร์ดเกมแนวกวนๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/@BGNth/ 

คลิกชมคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้เลย