Skip links

ส่องซอฟต์พาวเวอร์ ใน ‘GELBOYS สถานะกั๊กใจ’ ซีรีส์พงศาวดาร เด็กสยาม gen z

‘GELBOYS สถานะกั๊กใจ’ ซีรีส์ตีแผ่วิถีวัยรุ่น Gen Z ที่กำลังตกอยู่ในสถานะชัดเจนว่าไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะเลิกกั๊กแล้วรักกันซักที ระหว่าง โฟร์มด (รับบทโดย นิว-ชยภัค ตันประยูร), เชียร (รับบทโดย ไปป์-มนธภูมิ สุมนวรางกูร), บ้าบิ่น (รับบทโดย พีเจ-มหิดล พิบูลสงคราม) และ บัว (รับบทโดยเลออน เซ็ค)

ซีรีส์เล็บเจล เมื่อความรักเป็นอะไรก็ได้

ซีรีส์เรื่องนี้ กำกับโดย ‘บอส นฤเบศ กูโน’ ผู้กำกับมือทองที่เคยสร้างวัตถุดิบสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่านซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ ถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็น ภูเก็ต ปลุกการท่องเที่ยวเกาะนี้ให้กลับมาคึกคักอีคกรั้ง รวมไปถึง ภาพยนตร์วิมานหนาม ภาพยนตร์อิงจากความไม่เท่าเทียม ที่พร้อมกลับมาประเดิมซีรีส์เปิดค่าย LOOKE (ลูคกี้) ของตัวเองด้วยซีรีส์ตามติดชีวิตวัยรุ่นสยาม

นับตั้งแต่ ซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ ฝีมือการกำกับซีรีส์ก้าวพ้นวัย (Coming of Ages) ถือว่าอยู่ในระดับที่จัดจ้านและโดดเด่นมาก  มาจนถึง GELBOYS ก็ยังถือว่ายังคงความจัดจ้าน จนก้าวข้ามขนบคำว่า ซีรีส์วาย ไปแล้ว 

แม้ซีรีส์เรื่องนี้จะถูกสร้างขึ้นก่อนหน้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่าน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในซีรีส์เรื่องนี้ คือ ความลื่นไหลของเพศวิถีที่ไม่ได้หยุดนิ่ง วันหนึ่งอาจจะชอบผู้หญิง วันต่อมาอาจจะชอบผู้ชาย หรือวันต่อมาอาจจะไม่ชอบใครเลย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในตอนนี้ โดยมีเล็บเจลเป็นตัวแทนแห่งความลื่นไหลที่มีสีสัน เพราะในปัจจุบัน การทำเล็บเจล ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศ แต่เปิดกิจกรรมที่ให้เจ้าของเล็บได้มีพื้นที่แสดงตัวตนนอกจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ ลวดลายบนเล็บเจลก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่นิยามตนเองได้อย่างอิสระ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเมืองไทยเป็นเอกอุด้านซีรีส์วายในสายตาชาวต่างชาติ แถมในปัจจุบันยังมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการเป็นประเทศแห่งความเท่าเทียมทางเพศ ซีรีส์เรื่องนี้จึงเข้ามาช่วยเน้นย้ำ และเปิดมุมมองเรื่องเพศในสังคมไทยในสายตาชาวต่างชาติมากขึ้น  

เสน่ห์ สีสัน สยาม

ถ้าซีรีส์เกาหลี ถ่ายทอดวัฒนธรรมไลฟ์สไตล์วิถีชีวิตเกาหลี ให้คนดูได้เข้าใจและเรียนรู้ความเป็นเกาหลี 

ซีรีส์ GELBOYS เองก็ทำหน้าที่นั้นได้ไม่ต่างกัน 

เพราะตลอดทั้งเรื่องจะได้เห็นชีวิตของเด็กสยามในช่วงยุค 2020s (อิงจาก คอนเสิร์ต BORN PINK ที่จัดขึ้นไทยในปี 2023) ตั้งแต่หลังเลิกเรียนที่จะชวนกันไปเดินเล่นหาอะไรทำที่สยาม หาอะไรกินที่ร้านกล้วยกล้วย ช็อปปิ้ง หรือแม้กระทั่งตั้งกล้องเต้น Tiktok และเปิดหมวกเล่นดนตรีกลางสยาม ในลุคชุดนักเรียนหรือจะเป็นแฟชันสุดจี๊ด สไตล์ Y2K ที่พร้อมจะเปลี่ยนทุกที่เป็นรันเวย์ เดินแฟชันโชว์ก็สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ ทำให้ในเรื่องนี้ นอกจากเล็บเจลจะเป็นสัญญะถึงความลื่นไหลทางเพศแล้ว สยามก็ยังเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลาย ดังนั้น สยามในซีรีส์เรื่องนี้ คงเป็นเหมือนสยามในวันที่เต็มไปด้วยสีสันต่าง ๆ มากมาย หลากหลาย เหมือนเล็บเจลบนมือ

ด้วยความที่เรื่องราวส่วนใหญ่ของพ่อ่หนุ่มเล็บเจลทั้ง 4 เกิดขึ้นในละแวกสยามแสคว์ พาย้อนให้ชาว Gen Y และ Gen Z บางส่วนแอบคิดถึง รักแห่งสยาม อีกหนึ่งหนังรักขึ้นหิ้งไทยจากผู้กำกับมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล GELBOYS สถานะกั๊กใจ จึงเป็นเหมือนรักแห่งสยามในเวอร์ชันซีรีส์ในวันที่ทุกคนมีอิสระในการรัก 

กามิฯ ไม่แก่!

“โห่แม่ ไม่เอา ฟังแต่กามิอ่ะ มันแก่”

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้ คือ กระแส T-pop ที่กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นไทยตอนนี้มากขึ้น หลัง Kamikaze ค่ายเพลงวัยรุ่นยุค 2010s ปิดตัวลง พร้อมด้วยกระแส K-pop ที่เข้ามาในไทย ทำให้เพลง T-pop ซบเซาลง แต่เพลงจากค่ายนี้ก็ยังคงเป็นเพลงวัยรุ่นที่มีผู้คนคิดถึงอยู่เสมอ แม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานกว่า 10 ปี ด้วยแนวเพลงสดใส ฟังง่าย ไม่มีเบื่อ ไม่รู้สึกว่าตกยุค ซึ่งต่อมากลายเป็นใบเบิกทางให้ T-pop ไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 

และสยามก็ยังคงเป็นพื้นที่สำคัญที่ให้พื้นที่แก่ T-pop ทั้ง Flex 102.5 ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ หรือลานหน้าตึกสยามสเคปที่เปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นได้เต้น random dance หรือตั้งวงดนตรีกลางสยาม

คลังแสง ศัพท์แสลง

เม็ดเยอะ  / ไม่ฟีลอ่ะ / มิได้มุสาวาปึ้ง / สู้เขาสิวะ อีหญิง 

และศัพท์ภาษา Gen Z อีกหลายคำ (เผลอ ๆ น่าจะถึงร้อยคำ) เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ ซึ่งก็มาจากชีวิตวัยรุ่นไทยทุกวันนี้ที่มีศัพท์ใหม่เกิดขึ้นรายวินาทีแบบไม่สนไวยากรณ์ จนกลายเป็นอีกภาษาที่ถ้าตามไม่ทันอาจจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง

เวลาดูซีรีส์ต่างประเทศไม่ว่าจะญี่ปุ่น เกาหลี แบบเสียงต้นฉบับ มันก็จะมีคำคุ้นหูที่ได้ยินบ่อย ๆ นานทีจะมีคำศัพท์แสลงของประเทศนั้นโผล่เข้ามาในเรื่องบ้าง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรื่องนี้ เพราะซีรีส์เรื่องนี้แทบจะเป็นสารานุกรมคำศัพท์แสลงที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้

แม้ในช่วงแรกจะดูแล้วจะรู้สึกแปลกไปบ้าง ทำให้มีคนดูบางส่วนตั้งคำถามว่าไม่มีใครพูดกันบ่อยขนาดนั้น เพราะดูตั้งใจเกินไป ซึ่งนั่นก็อาจเป็นคำตอบแล้วว่าทำไมถึงพูดทุกคำทุกวินาทีขนาดนั้น แต่ถ้าสังเกตุสิ่งที่วัยรุ่นพูดกันอยู่ก็แทบจะไม่ต่างจากในซีรีส์ และต่อให้มีจำนวนมาก แต่แต่ละคำก็ถูกวางไว้แบบไม่เคอะเขิน ใช้ถูกมิติทุกประโยค ฟังแล้วไม่ขัดหู ทำให้งานยากน่าจะตกไปอยู่ที่คนทำซับภาษาอังกฤษ ซึ่งชาวต่างชาติที่ได้ดูก็อาจจะไม่ได้ดูในอรรถรสจึ้งเท่าคนไทย