Skip links

นั่งเนียน เขียนจด 6 บทเรียน จาก Face to Fest (tival)

Face to Fest (tival) – งานอบรมที่ไม่ได้ให้แค่ความรู้ แต่ยังสร้างคอนเนคชันสายเฟสติวัล ! 

เพราะ งานอบรมนี้รวบรวมตัวตึงวงการเฟสติวัลมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จริง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เหล่านักสร้างสรรค์ด้านเฟสติวัลคนต่อไปได้พัฒนาทักษะและเพิ่มพูนความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Upskill – Reskill ตามแนวนโยบาย“หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS)” ของรัฐบาล เพื่อยกระดับเฟสติวัลไทยสู่สากล “Thailand as The World’s BEST Festival Country” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

ในงานอบรมวันแรก แบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก 

  • Festival Management โดย คุณพิเชษฐ์ ตุรงคินานนท์ – สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA)
  • “What is Festival?” โดย ดร.ศุภลักษ์ สุวัตถิ – สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA)
  • Chit Chat Feel Fest (Festival)  ที่ชวนตัวตึงด้านงานเฟสติวัล 4 ท่านมาพูดคุยกัน ได้แก่ 
    • คุณนพปกรณ์ – General Manager Mango Art Festival Co., Ltd. 
    • คุณศรัณย์ ภิญญรัตน์ – CEO & Co Founder ฟังใจ
    • คุณธนพงศ์ วิชคำหาญ – หัวหน้าทีมสถาปนิก ไอวิวดีไซน์สตูดิโอ 
    • คุณป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ – Vice President Showbiz Promoter ทีม GayRay

เรียกได้ว่ารับความรู้กันแบบอัดแน่นจัดเต็ม พร้อมทั้งมุมมองที่น่าสนใจที่ทาง The Attraction ไปแอบนั่งเรียนเนียนจดมาถึง 5 บทเรียน 

ผู้จัดงานเฟสติวัล คือ ผู้กำกับอารมณ์

ประโยคนี้ของคุณพิเชษฐ์ แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เดินผ่านประตูงานเฟสติวัลเข้ามา ผู้มาร่วมงานจะเริ่มให้คะแนนงานเฟสติวัล ดังนั้น การสร้างความประทับใจให้ผู้คนตกหลุมรักตั้งแต่แรกเห็น (Love at first sight) จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยคีย์เวิร์ดหลักที่จะการรันตีว่างานเฟสติวัลนั้นประสบความสำเร็จ คือ งานดี มีรายได้ และผู้คนชอบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อ ผลักดันและยกระดับอุตสาหกรรมเฟสติวัล (Festival Ecnomy) และอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) 

เครื่องมือที่สำคัญของบทเรียนนี้ คือ ทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) ซึ่งดร.ศุภลักษ์ก็ให้ไอเดียไว้ว่าควรทำให้ผู้มางานเฟสติวัลมีความรู้สึกร่วมกัน โดยอาจเริ่มจากการทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมาย ผู้จัดต้องการให้ผู้มางานรู้เรื่องอะไร เพื่อให้ผู้มางานเกิดความรู้สึกร่วม และที่สำคัญจะต้องมีหลักฐานมารองรับ ซึ่งหลักฐานที่ว่านั้นก็อาจจะมาจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มาเข้าร่วมงาน (Social listening) โดยทั้ง Big Moutain ที่อยู่ในความดูแลของคุณป่านแก้ว และ Maho Rasop Festival ของคุณศรัณย์ต่างก็มีการเก็บข้อมูลนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการจัดงานในครั้งต่อไป

อาทิ สถิติจาก BMMF12 ที่จัดขึ้นในปี 2566 ชี้ให้เห็นว่า Big Moutain ได้รับเสียงชื่นชมในด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้มาเข้าร่วมมีไลฟ์สไตล์รักสบายหรือ “ติดแกลม” มากขึ้น “การจัดงานเฟสติวัลจึงไม่ต่างจากการสร้างเมือง” ซึ่งคุณศรัณย์เองก็เห็นด้วย 

ส่วนทาง Maho Rasop Festival ก็มีการรับฟังความคิดเห็นด้วยเช่นกัน เพื่อการจัดวางไลน์อัพศิลปินในงานด้วยเช่นกัน
 
ทั้งนี้ ทั้งคุณพิเชษฐ์และคุณศรัณย์เองต่างก็ลงความเห็นร่วมกันว่า การจัดงานเฟสติวัลจำเป็นต้องใช้ความอึด ค่อย ๆ พัฒนาให้งานเฟสติวัลติดลมบน โดยสรุปแล้ว จึงอาจจะต้องอาศัยทั้งการกำกับอารมณ์ ทักษะการเล่าเรื่อง และการรับฟังความคิดเห็นในการค่อยสร้างเมืองเฟสติวัลนั้นขึ้นมา

เมืองไทยมีเฟสติวัลเยอะ แต่จัดชนกันแยะ

เฟสติวัล ถือว่าเป็นของคู่ขวัญหนึ่งที่อยู่ติดตัวกับเมืองไทยมานาน ไม่ว่าจะช่วงไหนของปี ก็มีเฟสติวัลน่าไปคอยดึงดูดนักเที่ยวกันทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหลังโควิดที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปเป็นการเดินทางด้วยตนเองมากขึ้น อีกทั้งยังชอบสัมผัสประสบการณ์ใหม่ทุกที่แบบเก็บให้ครบทุกจุด การจัดงานเฟสติวัลจึงควรเดินตามเกมนี้ให้ทัน 

แต่อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ยังคงมีการจัดงานเฟสติวัลในช่วงเวลาที่ทับซ้อนกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ทั้งโรงแรม ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอ

ดังนั้น การมีเครือข่ายของกลุ่มคนจัดงานเฟสติวัล จึงสำคัญ เพราะ หากนักสร้างสรรค์และคนในอุตสาหกรรมเฟสติวัลจับมือกันสร้างเส้นทางตะลุยงานเฟสติวัลในจังหวัดใกล้เคียงกันได้ จะช่วยกระจายรายได้ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นมากขึ้นได้ 

สร้างธีม คุมโทน ไม่โดนเบื่อ

ทั้งคุณพิเชษฐ์และคุณป่านแก้วต่างมองว่า การมีธีมประจำปี มีส่วนช่วยเพิ่มสีสันให้งานเฟสติวัลนั้น ๆ ได้ โดยคุณพิเชษฐ์เสนอว่า ด้วยจำนวนงานเฟสติวัลที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทำให้ไทยมีต้นทุนเป็นงานเฟสติวัลต่าง ๆ มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่สามารถนำมาประยุกต์ดัดแปลงได้ เพื่อดึงดูดให้คนเข้าร่วม และยืดระยะเวลาให้คนอยู่ภายในงานเฟสติวัลและพื้นที่ใกล้เคียงมากขึ้น 

ส่วนเฟสติวัลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Big Moutain ที่คุณป่านแก้วเป็นหัวเรือใหญ่ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีธีมประจำปี เพราะ ช่วยให้แฟน ๆ ได้รอลุ้น คอยติดตามและร่วมสนุกไปกับงานมากขึ้นได้

ตลาดกว้างขึ้น แต่ยังมีช่องว่าง สร้างจุดเด่นที่แตกต่าง

แม้ในปัจจุบันจะมีงานเฟสติวัลผุดขึ้นยิ่งกว่าเห็ดในหน้าฝน แต่คุณพิเชษฐ์มองว่าสิ่งจำเป็นในยุคนี้ คือการสร้างจุดเด่นที่แตกต่าง โดยในช่วงการบรรยายของคุณป่านแก้วที่พูดถึงเรื่องธีมของงาน Big Moutain ยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่ายังคงมีช่องว่างในการจัดงานเฟสไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จากการที่จัดงานมากว่า 14 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีธีมที่ซ้ำกันเลย

นอกจากนี้ ตัวตึงของวงการเฟสติวัลอีก 3 ท่านยังตอกย้ำให้เห็นว่าตลาดเฟสติวัลยังคงมีช่องว่างอยู่มากมาย โดยคุณนพปกรณ์เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของ Mango Art มาจากการที่ไทยยังขาดพื้นที่แสดงศิลปะขนาดใหญ่และขาดคอมมูนิตี้ด้านศิลปะ ทำให้เกิดเป็นเทศกาลงานที่รวบรวมศิลปะไว้ครบถ้วนมากที่สุดในไทยนี้ขึ้นมา

หรืออย่างคุณธนพงศ์ ตัวแทนสมาคมสถาปนิกสยามฯ ผู้จัดงาน WOW FESTIVAL ก็มองว่าเมืองไทยยังขาดพื้นที่สำหรับคุยกันเรื่องเมือง ซึ่งการพูดด้วย “ภาษาเฟสติวัล” ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับพื้นที่โดยตรง จะช่วยสร้างความเข้าใจและให้ผู้คนมองเห็นว่ากทม.มีความหวังและความฝัน ( Hope&Dream) อย่างแท้จริงได้ด้วยตนเอง ส่วน Maho Rasop Festival เองก็เป็นเทศกาลงานดนตรีทางเลือกระดับนานาชาติที่มีทั้งศิลปินต่างประเทศนอกกระแสและวงดนตรีไทยที่มีฝีมือไปเฉิดฉายต่างประเทศ เจาะกลุ่มคนที่ชอบฟังดนตรีเฉพาะกลุ่มได้เป็นอย่างดี

ทุกฝ่ายมาชุมนุม กุมใจรักสมัครสมาน

จากประสบการณ์ตรงของเหล่าตัวจริงแห่งวงการเฟสติวัล ต่างลงความเห็นว่าในการจัดงานเฟสติวัลแต่ละครั้งนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคประชาชน โดยทั้งคุณพิเชษฐ์และคุณป่านแก้วย้ำถึงความสำคัญของการรับผิดชอบต่อชุมชน เพราะเมื่อเฟสติวัลไปเยือน อาจต้องใช้พื้นที่กว้างขวาง ชุมชนบริเวณนั้นจะได้รับผลกระทบมากที่สุด การลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้คนในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข อีกทั้งคุณพิเชษฐ์ยังย้ำอีกว่านอกจากจะรับผิดชอบต่อชุมชนตอนมีงานเฟสติวัลแล้ว หลังจากงานเฟสติวัลจบลงยังคงต้องรับผิดชอบต่อ เพราะเฟสติวัลทำให้เมืองโตขึ้น แตกต่างจากในวันที่ไม่มีงานเฟสติวัล

นอกจากนี้ คุณธนพงศ์ ยังเล่าให้ฟังว่าในการจัดงาน WOW FESTIVAL จำเป็นต้องหารือกับทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนให้ทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน จึงควรใช้คนละน้ำเสียง คนละภาษาเพื่อให้ทุกฝ่ายมองเห็นถึงความฝันและความหวังของกทม.ไปพร้อมกัน 

ข้อกฎหมายล้าหลัง รอวันเปลี่ยนแปลง

แม้โลกจะหมุนมาถึงปีพ.ศ.2568 แล้ว แต่กฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลงานเฟสติวัลยังคงหยุดอยู่ที่เมื่อหลาย 10 ปีก่อน ทำให้ผู้จัดงานเฟสติวัลต้องประสบปัญหามากมาย ทั้งปัญหาการแบ่งพื้นที่การจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับความดังของเสียงที่สามารถใช้ได้ ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่พนักงาน ทำให้เกิดการตีความกฎหมายที่กว้างเกินไป จนไม่สามารถปฏิบัติตามได้ 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านข้อกฎหมายเหล่านี้ถูกทางสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ สำนักงาน ป.ย.ป. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้าร่วมอบรมนำไปหารือกันต่อไปแล้ว

งานอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นโดย EVENT THINK TANK แพลตฟอร์มคอมมูนิตี้ออนไลน์สายเฟสติวัลที่จะเข้ามาเป็นศูนย์กลางเครือข่ายงานเฟสติวัลไทย ทำให้สิ่งที่ได้จากงานอบรมครั้งนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่แค่บนเวทีเท่านั้น แต่ผู้เข้าอบรมทุกท่านที่มารวมตัวกันนั้นล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเฟสติวัล ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายกลุ่มคนนักจัดงานเฟสติวัลไปพร้อมกัน เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการและเครือข่ายมืออาชีพอิสระ (Freelancer) กระจายตัวอยู่หลายพันคน และขาดการสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ทำให้อุตสาหกรรมเฟสติวัลไทยเติบโตไปคนละทิศคนละทาง 

ดังนั้น การสร้างเครือข่ายงานเฟสติวัลไทยจะมีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของเฟสติวัลไทยเติบโตแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดย EVENT THINK TANK มีเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปีนี้ (นับตั้งแต่ 2568) จะมีผู้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้นี้ 1 ล้านคน