เทอมแรกของปี 2025 นี้ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) เตรียมเปิดสอนวิชา “Beyoncé Makes History: Black Radical Tradition History, Culture, Theory & Politics through Music” โดยแดฟนี บรู๊คส์ (Daphne Brooks) ศาสตราจารย์ด้านแอฟริกัน อเมริกันศึกษาและดนตรี ที่จะพาไปสำรวจพื้นที่ประวัติศาสตร์ ความคิดและการเคลื่อนไหวเชิงการเมืองของบียอนเซ่ (Beyoncé) ผ่านอัลบั้มต่าง ๆ ตั้งแต่อัลบั้ม Beyoncé (2013) จนถึง อัลบั้ม Cowboy Carter (2024)
ผลงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาของบียอนเซ่ (Beyoncé) แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นดั่งตัวแทนเรียกร้องให้แก่ ความเป็นหญิง และ คนผิวสี ได้มีพื้นที่แสดงออกเชิงวัฒนธรรม แหวกว่ายออกมาท่ามกลางเพลงรักโรแมนติกหวานซึ้ง ด้วยผลงานศิลปะที่สอดแทรกแต่ขับเน้นประวัติศาสตร์แห่งความเป็นหญิงและคนผิวสีให้เด่นชัดเกินใคร โดยเฉพาะในอัลบั้มช่วงปี2013เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสาเหตุให้วิชานี้เลือกหยิบผลงานช่วงกลางเส้นทางนักร้องของเธอมา
อย่างในอัลบั้ม Flawless (2013) ที่บียอนเซ่ ร่วมงานกับ Chimamanda Ngozi Adichie – นักสตรีนิยมชาวไนจีเรีย นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของวงการเพลงที่ศิลปินมีผลงานร่วมกับนักเคลื่อนไหวสตรีนิยม ซึ่งต่อมาเริ่มมีการยกย่องเพลงนี้ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสตรีนิยมยุคใหม่ หรือจะเป็นในอัลบั้ม Lemonade (2016) หรือจะอัลบั้ม Renaissance (2022) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์บาดแผลของคนผิวสีได้อย่างยอดเยี่ยม ประสบความสำเร็จทั้งในแง่สุนทรียะทางดนตรีและภาพ กลายเป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมของวงการดนตรี และอย่างล่าสุด อัลบั้ม Cowboy Carter เธอเองก็แสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามอคติที่มองว่าแนวเพลง country เป็นของคนผิวขาวเท่านั้น ด้วยการรังสรรค์อัลบั้มนี้ขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่าดนตรีเป็นของทุกคน ไม่จำกัดเชื้อชาติ
นอกจากเธอจะสร้างอิมแพ็คให้แก่วงการดนตรีแล้ว เธอยังสร้างอิมแพ็คให้แก่อุตสาหกรรมแฟชันอีกด้วย เพราะความเป็นไอคอนิคด้านแฟชันของเธอมักจะกลายเป็นเทรนด์ เซตเตอร์ของวงการแฟชันเสมอ อย่างในอัลบั้มล่าสุด Cowboy Carter ก็ทำให้การแต่งตัวสไตล์คาวบอยกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
ล่าสุด Beyoncé เอง ก็ยังทำให้วิชานี้น่าเรียนขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการกลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเข้าชิง Grammy Awards มากที่สุดถึง 99 ครั้ง โดยในปี 2025 นี้ เธอมีชื่อเข้าชิงมากสุดถึง 11 สาขา และที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ รางวัลอัลบั้มแห่งปี หากเธอคว้ารางวัลนี้ได้ เธอจะกลายเป็นศิลปินหญิงผิวสีคนแรกนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาที่คว้ารางวัลนี้ไป
อีกทั้ง เมื่อไม่นานมานี้ บียอนเซ่ยังไปปรากฎตัวในงานปราศรัยหาเสียงโค้งสุดท้ายของ ‘คามาลา แฮร์ริส’ ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเธออีกครั้งที่ต่างมีผู้คนทั่วโลกจับตามอง ทำให้การเปิดวิชานี้ในจังหวะนี้ อาจเป็นเรื่องที่ถูกาละ-เทศะพอดี
ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มหันมาเปิดวิชาใหม่ที่ว่าด้วยการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านศิลปินหญิงกันมากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ผลงาน ประกอบกับบริบททางสังคมในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่ว่าด้วย Taylor Swift หรือ Lady GaGa ต่างได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ซึ่งวิชาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงวิชาเยินยอความเก่งกาจส่วนบุคคล แต่มองลึกถึงผลงานของพวกเธอที่ให้ทั้งพลังทางดนตรี และพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกนี้
จากผลงานของ บียอนเซ่ ทั้งหมดที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็นศิลปินหญิงและเป็นศิลปินผิวสีที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกของเธอนั้น ช่วยเปิดพื้นที่อันปลอดภัยให้ทุกคนได้แสดงความเป็นตัวเอง รวมถึงยังช่วยเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมของคนผิวสีให้ได้สร้าง รักษาและประกาศประวัติศาสตร์ของตนเองเอาได้อย่างภาคภูมิใจ