Skip links

อโยธยาเอยาวดี เว็บตูนโลกคู่ขนานสู่เสรี

ภาพแรกของ อโยธยาเอยาวดี (2022)
CR.Amulin

 

 

 

งานชิ้นนี้เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้น มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ทำให้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง รวมถึงการใช้ภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรม ฯลฯ

ตัวละครในเรื่องเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่ มีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ บุคลิก และอุปนิสัย โดยหยิบยืมชื่อจากบุคคลในโลกคู่ขนาน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอยู่จริง

ชื่อสถานที่และเมืองต่าง ๆ ในเรื่องเป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ โดยหยิบยืมชื่อจากเมืองที่มี”

เว็บตูน 1 หน้าของนักวาดเว็บตูน “Amulin” เจ้าของผลงาน #บุษบาเสี่ยงตรีน ที่หวนกลับมาทุกปี พร้อมกระแสเรียกร้องให้ผู้แต่งกลับมาสานต่อเนื้อเรื่อง จนในท้ายที่สุดคุณนักวาดใช้เวลากว่า 3 ปี เปิดหน้าผลงานเรื่องใหม่ #อโยธยาเอยาวดี – เว็บตูนย้อนยุคกลิ่นวายไทยที่เล่าเรื่องราวระหว่างโอรสของสองหัวเมืองใหญ่ ‘อโยธยา-หงสา’ ที่เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก จนเปลี่ยนสถานะจากเชลยศึก-ศัตรูสู่พี่น้องมิตรภาพพันผูก 

“กลัวทัวร์ลง”

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คุณนักวาดไม่กล้าขยายเส้นเรื่อง และ 3 ช่องไว้นานกว่า 3 ปี แต่ด้วยความรู้สึกติดค้างใจ จึงเลือกผิดคำพูดที่เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่วาดต่อ พร้อมกับฝากข้อความแจ้งตั้งแต่ต้นเรื่องอย่างชัดเจนว่า เรื่องราวทั้งหมด “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง” เพียงหยิบยืมชื่อบุคคลและสถานที่บางอย่างมาใช้สร้างตัวละครใหม่ในเรื่องราวนี้

แม้เพียงชื่อจะถูกหยิบยืมมาใช้ในโลกคู่ขนานแห่งนี้ แต่เหล่าผู้ติดตามเรื่องราวนี้ก็พร้อมที่จะค้นคว้าทางประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนที่ไม่เคยมีอยู่ในหนังสือเรียนเพิ่มเติม เปิดโลกจินตนาการที่ไร้ขอบเขตรอไปพลางตอนใหม่จะมา ทำให้โลกโซเชียลมีเดียในช่วงเดือนนี้คึกคักไปด้วยมวลข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ล้นทะลักไทม์ไลน์

นอกจากนี้ อโยธยาเอยาวดี ยังเริ่มสร้างรายได้ให้แก่ร้านค้าน้อยใหญ่ต่าง ๆ เมื่อ “กุหลาบมอญ” กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างพี่-น้องที่สร้างเรื่องให้เหล่านักอ่านอยากลองสูดสัมผัสกลิ่นกุหลาบมอญบ้าง ทำเอาน้ำหอม น้ำอบ น้ำปรุงกลิ่นกุหลาบมอญหลายร้านหมดสต็อก แถมวัตถุดิบยังขาดตลาดไปตาม ๆ กัน

ยังไม่นับรวมสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น ปักหมุดให้นักอ่านได้ไปตามรอยกัน กระตุ้นการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยถูกสนใจกลับมาเป็นที่พูดถึงมากขึ้น รวมถึงหนังมหากาพย์ระดับตำนานและแอนิเมชันที่มีเรื่องราวอยู่ในช่วงเดียวกันอย่างก้านกล้วยยังกลับมาถูกพูดถึงมากขึ้นอีกครั้ง ส่งเสริมภาคสื่อบันเทิงไปพร้อมกัน

ในตอนนี้ อโยธยาเอยาวดี ถูกแปลไปหลัก ๆ แล้ว ทั้งหมด 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ภาษาสเปน และภาษาพม่า 

ในส่วนของภาษาพม่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าระหว่างทั้งสองประเทศต่างมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมา แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างอาจทำให้ทั้งสองประเทศรับรู้ข้อมูลเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นี้ในมุมที่ต่างกัน ซึ่งอโยธยาเอยาวดีนี้เองที่พาให้ทั้งสองมุมมองได้มาบรรจบกัน นอกจากนี้ ในส่วนของภาษาเกาหลี ถูกแปลโดยชาวเกาหลีที่กำลังเรียนภาษาไทย พร้อมให้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมทางประวัติศาสตร์ไทยด้วยภาษาเกาหลีไปพร้อมกัน 

ดังนั้น การที่เว็บตูนเรื่องนี้ถูกแปลออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ น่าจะช่วยเปิดมุมมองที่น่าสนใจต่ออดีตของไทยได้ไม่น้อย เพราะอย่างเกาหลีเองก็สนับสนุนอุตสาหกรรมเว็บตูนให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศด้วยได้ไม่ต่างจากซีรีส์ หนังหรือหนังสือ  ผ่านเว็บตูนที่ถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทำให้วัฒนธรรมที่อยู่ในเนื้อเรื่องถ่ายทอดไปยังผู้อ่านนอกประเทศได้เช่นเดียวกัน

อโยธยาเอยาวดี ตอนที่ 4
CR. Amulin

อย่างไรก็ตาม อโยธยาเอยาวดี ก็ยังถือว่าเป็นเว็บตูนย้อนยุคที่กำลังเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคมไทยที่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องการหยิบประวัติศาสตร์มาตีความใหม่ ด้วยความที่ตัวละครมีชื่อคล้ายบุคคลจริงทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะ ยิ่งเป็นกษัตริย์ที่มีชื่อ อีกทั้งยังมีกลิ่นอายความวาย ทำให้เว็บตูนเรื่องนี้ตกในสถานะสุ่มเสี่ยงอยู่ในที

ในขณะที่ สื่อบันเทิงชูโรง Soft Power ของเกาหลี มีซีรีส์ย้อนยุคที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เกาหลี หรือ ซากึก (사극) เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ได้รับความนิยมมาก โดยจะหยิบเรื่องราวในประวัติศาสตร์เกาหลีมาตีความใหม่ รังสรรค์เป็นซีรีส์ที่สอดแทรกความเป็นเกาหลีอย่างเป็นธรรมชาติ ดังเช่น Kingdom ที่เล่าเรื่องราว“ซอมบี้”บุกเกาหลีในสมัยราชวงศ์โชซอน พาให้ผู้ชมสืบค้นเบื้องหลังสงครามญี่ปุ่นบุกเกาหลีในปี ค.ศ. 1592 – 1598 

หรือฝั่งญี่ปุ่นที่มักจะหยิบบุคคลในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาเป็นตัวละครหลักในมังงะ อนิเมะหรือเกมแล้วเติมแต่งพล็อตเหนือจินตนาการอย่างเสรี เช่น เกม Ghost of Tsushima ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังถูกมองโกลบุกยึด ซึ่งทั้งหมดนี้เองทำให้ผู้ชมและผู้เล่นต่างชาติได้ทำความรู้จัก ค้นคว้า เข้าใจประวัติศาสตร์เกาหลีหรือญี่ปุ่นในวิธีที่สนุกสนานมากกว่าตัวหนังสือ 

ดังนั้นแล้ว หากนับในแง่ความแฟนตาซีในโลกคู่ขนาน ‘อโยธยาเอยาวดี’ อาจจะโดดเด่นกว่าสื่อบันเทิงเกาหลีและญี่ปุ่นเหล่านั้น แต่ในเมื่อไทยมีความรุ่มรวยทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และ BL แล้ว การหยิบตัวละครในประวัติศาสตร์มาตีความใหม่ อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมผลักดัน Soft Power ไทยอย่างสร้างสรรค์ เพราะการจำกัดการตีความ มีแต่จะจำกัดเสรีภาพทางความคิดให้ไม่เติบโต ซึ่ง อโยธยาเอยาวดี ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า เพียงเว็บตูนเรื่องเดียวสามารถกระตุ้นให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเกิดควาวมสนใจหน้าประวัติศาสตร์ไทย พร้อมสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ร่วมกับส่งเสริมให้ธุรกิจหนัง แอนิเมชันและสถานที่ท่องเที่ยวมีสิทธิเติบโตตามไปด้วย 

สามารถติดตาม อโยธยาเอยาวดี ของคุณ Amulin ได้ที่

https://www.readawrite.com/a/976d045ed0034956c6b8811d82bc4830?fbclid=IwY2xjawISeh1leHRuA2FlbQIxMAABHQ6dOXdYVjO9U2GDD8yXoBp4ypxczd4ulUNVJ5NjDgem4R2tRh6T6PFzmQ_aem_uhdkVwHTHrc7PO1vTTHcew