“ผมมีเพื่อนผู้ภักดีคือ id กับ ego” ประโยคเท่ๆ จากหนังฮาๆ อย่าง “Hit Man” ภาพยนตร์เรตติ้งดีที่พึ่งเข้าไทยให้แฟนหนังได้รับชมในโรงภาพยนตร์
.
(กล่าวโดยย่อ ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ id เปรียบเสมือนสัญชาติญาณดิบของมนุษย์ superego เป็นดังระเบียบสังคมที่ห่อหุ้มพฤติกรรม ส่วน ego มีหน้าที่เป็นตาข่ายแห่งมโนธรรมสำนึกที่คัดกรองระหว่าง สัญชาติญาณดิบ และ ระเบียบสังคม)
.
และถึงแม้ว่าประโยคคูลๆ ข้างต้นนี้ จะเป็นสถานการณ์ที่ตัวเอกในเรื่อง ผู้มีอาชีพหลักเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญา กล่าวถึงแมวสองตัวของเขาที่ตั้งชื่อไว้ว่า id กับ ego (ก็เท่ากับว่าตัวพระเอกเป็น superego ไหมนะ?)
.
แต่ทว่าเนื้อเรื่องก็ดำเนินขนานไปด้วยแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันโด่งดังของ sigmund freud กระทั่งชวนผู้ชมทบทวนถึงการเปลี่ยนแปลงบุคลิกและการผสมผสานระหว่าง จิตสำนึก จิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึก ของตัวละครได้อย่างถึงแก่น เพราะตัวเอกของเรื่องมีอาชีพเสริมเป็นสายลับตำรวจ และต้องปลอมตัวเป็นนักฆ่าล่อซื้อเหยื่อ (มีล้อเลียน John Wick ให้พอขบขัน) และสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา จนเกิดความสับสนและนำไปสู่ความอลเวง
.
กระนั้นก็ตาม ตัวหนังมิได้มาสอนปรัชญาอันยากแท้หยั่งถึงเกินจะเอ่ย แต่เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะแก่การดูเพลินๆ เสียมากกว่า เพราะบทจะฮาก็ฮา บทจะเกรียนก็เกรียน จะเครียดก็เครียด และบทจะลึกก็ลึกอยู่
.
หากจะจัดหมวดหมู่ เรื่องนี้ก็คงเป็นคอมเมดี้ตลกๆ เรื่องหนึ่ง มีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เข้าใจง่าย แต่กระนั้นก็สอดประสานทฤษฎีลึกๆ ไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเอ่ยถึงชื่อนักปรัชญาคนสำคัญๆ ไว้แบบหยิกแกมหยอกตามสไตล์ นับได้ว่าเป็นกลิ่นไอที่ไม่ค่อยพบเห็นในภาพยนตร์ไทยสักเท่าใด จึงน่าสนใจอยู่ไม่น้อยหากหนังตลกไทยจะดูเป็นแบบอย่าง