วันนี้ (24 ม.ค. 67) แพทองธาร ชินวัตร รองประธานยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มาร่วมขึ้นเวทีและแสดงวิสัยทัศน์ในงานเสวนา Soft Power Thailand’s Next Weapon | Thairath Forum จัดโดยไทยรัฐกรุ๊ป โดยเนื้อหาหลักที่ แพทองธาร กล่าวบนเวทีนั้น ได้เปรียบ นโยบาย Soft Power เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง คล้ายกับผู้หญิงที่ต้องทำให้หนุ่มๆ หลงรัก กล่าวคือทำอย่างไรให้ทั่วโลกหลงรักประเทศไทยผ่านการขับเคลื่อนและส่งออก โดยเราจะเน้นไปทางเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ครัวเรือน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเพิ่มศักยภาพ ไม่ว่าจะในสาขา ภาพยนต์, อาหาร, บันเทิง ฯลฯ
แต่ปัญหาหลักคือ ความยุ่งยากของการทำกิจกรรมต่างๆ ที่บางครั้งต้องยื่นเอกสารต่อภาครัฐ เนื่องจากข้อติดขัดของกฎกระทรวงมากมายหลายหน่วยงาน เราจะเริ่มทำ One stop service โดยจะเริ่มทำ sandbox ในกรุงเทพฯ สำหรับสาขาภาพยนต์ ให้สามารถถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เราต้องยกเลิกกฎกระทรวงที่ล้าสมัย
อีกทั้ง ตอนนี้ยังมีการร่วมมือกันของภาครัฐกับภาคเอกชน เพราะเอกชนคือผู้รู้ตัวจริง เขามี know how เขารู้ว่าต้องทำอะไร ทำอย่างไร ใช้งบเท่าไหร่ รัฐเพียงแค่อำนวยความสะดวกให้ พัฒนาระบบให้มีความมั่นคงยั่งยืน มีความทันสมัย และการทำงานกับภาคเอกชนคือทุกคนอยากมีส่วนร่วม เนื่องจากเขาทราบถึงปัญหาและหวังดีกับสาขาอาชีพของเขาจริงๆ
นอกจากนี้ แพทองธาร ยังกล่าวถึงเทศกาลสงกรานต์ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยจะมีการเพิ่มช่วงเทศกาลให้มีไปถึงวันที่ 20 กว่าๆ ได้ จากที่เดิมทีมีเพียง 13-14-15 เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่กับเรานานขึ้น ให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศเรามากขึ้น แต่ไม่ใช่การเล่นน้ำทุกวัน เพราะสงกรานต์ไม่ได้มีแค่สาดน้ำ ยังมีกิจกรรมต่างๆ เช่น แต่งชุดไทย สรงน้ําพระ เข้าวัดทำบุญ และอื่นๆ
โดยต่อจากนี้จะสร้าง THACCA หน่วยงานที่มอบประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คาดว่า พ.ร.บ. THACCA น่าจะร่างเสร็จไม่เกินเดือนเมษายน ก่อนจะยื่นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยระบุว่างบประมาณกว่า 5 พันล้านบาทนั้น จะกระจายแบ่งไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การทำหลักสูตรเรียนเชฟฟรี มีประกาศนียบัตรยืนยัน เป็นรูปธรรม รวมถึงเรื่องที่สามารถผลักดันได้เลย เช่น พัฒนาให้มวยไทยมีหลักสูตรที่ชัดเจน เชื่อถือได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีการกล่าวถึงต่างประเทศว่า ตนไม่ได้มองประเทศใดเป็นคู่แข่ง เพราะเป็นสิ่งที่ทุกประเทศก็ทำกันหมด ทว่าเป็นการพึ่งพาอาศัยกันแบบฉันมิตรมากกว่า อาจจะมีบางประเทศที่ใกล้เคียงกับเรา แต่เอกลักษณ์ความเป็นไทยก็ยังมีเสน่ห์ของตัวเอง ทั้งลักษณะนิสัย การบริการ ซึ่งก็เป็น Soft Power ของเราอันหนึ่ง
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ยังคงอยู่ในกระบวนการ ตอนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นการสื่อสารในภาพรวมอยู่อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนมากนัก แต่จะค่อยๆ ชัดเจนเพิ่มขึ้นต่อไปตามกระบวนการทำงานร่วมกัน ของหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ รวมถึงภาคการต่างประเทศด้วย โดยจะพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
…………………………………………
นอกจากนี้ ยังมีผู้เชื่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ มาร่วมขึ้นเวทีด้วย โดยมีคุณหน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละคร และกรรมการผู้จัดการบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแวดวงละคร ภาพยนต์ โดยกล่าวว่า หัวใจหลักของการทำละครคือการทำให้ผู้ชมประทับใจ บทละครต้องน่าสนใจ นักแสดงต้องถ่ายทอดออกมาได้ดี ไม่ใช่แค่ตัวหลัก กระทั่งตัวบ่าวไพร่ในเรื่องก็สำคัญ
ทั้งนี้ ได้มีการยกตัวอย่างละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ว่าเบื้องหลังการทำงานนั้นยากมาก ต้องมีการศึกษาค้นคว้าอยู่สองปีว่า คนยุคนั้นเขามีวิถีชีวิตแบบไหน การแต่งกาย ฉากประกอบ ภาษา แม้กระทั่งเพลงประกอบ ทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบของ production จะทำให้งานมีคุณภาพ เมื่องานเราออกมาดี วัฒนธรรมที่เราใส่เข้าไปน้ันก็จะส่งถึงผู้ชมเอง ตัวอย่างเช่น หมูกระทะ ,กุ้งเผา, มะม่วงน้ำปลาหวาน หรือการแต่งชุดไทยในบุพเพสันนิวาส ที่มีการไปแต่งการถ่ายรูปกันที่อยุธยา
เมื่อกล่าวถึงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ คุณหน่อง-อรุโณชา ยังกล่าวเสริมอีกว่า เรื่องความคิดสร้างสรรค์คนไทยนั้นมีสูงมาก ไม่งั้นเราไม่มีผ้าสวยๆ อาหารอร่อยๆ แบบนี้ แต่อุปสรรคสำคัญคือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเสมอของผู้ชม จะทำอย่างไรไม่ให้ผู้ชมกดรีโมทเปลี่ยนช่อง พร้อมกันนั้นเราก็ต้องส่งมอบคุณค่าความคิด หรือความงดงามบางอย่างไปด้วย
……………………………………….
ส่วนในอุตสาหกรรมอาหาร ก็มี คุณปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ Founder and Creative Director iberry Group มาร่วมแสดงทัศนะที่มีต่ออาหาร กับ ความเป็น Soft Power ว่า องค์ประกอบสำคัญของอาหาร คืออร่อยและย่อยง่าย ซึ่งเป็นความย่อยง่ายในแง่ของความเข้าใจ การรับรู้ และการมองเห็น โดยเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของเมนูอาหารต่างๆ ที่เราสอดใส่ Culture ลงไปในนั้นด้วย
เช่นหมูกระทะของ iberry ที่เราก็ได้เล่าเรื่องไปด้วยว่าสิ่งไหนที่เราเก็บไว้และสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็วิเคราะห์และแก้ painpoint ด้วย ซึ่ง painpoint ของหมูกระทะคือ มันร้อน กลิ่นติดตัว/เสื้อผ้า เราก็ไปดูต่างประเทศ ในเรื่องระบบการดูดควัน รวมถึงนำเอาภูมิปัญญาแบบไทยมาผสมผสานด้วย
โดยหมูกระทะเราก็ไม่ต่างจากของเกาหลี ญี่ปุ่น เราเลยมาขายให้มีคุณภาพ ใช้เนื้อคุณภาพดี ควันไม่เหม็นติดเสื้อ เราหยิบมาพัฒนาและเล่าเรื่องใหม่ ให้อยู่ร่วมกับโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งเราควรจะทำแบบนี้ในหลายๆ เมนูอาหาร เพราะเรามีอาหารที่ Amazing แต่ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ค่อยมีใครที่ดึงความเป็น Product ออกมาเชิดชูให้ชัดเจน ร้านอาหารไทยมักจะมีเมนูต้มผัดแกงทอดสารพัด แต่เราสามารถแยกให้ชัด และชูให้เด่น การบริหารจัดการมันก็ดีกว่าด้วย และยังทำให้ลูกค้ามี Trust ต่อเรา ซึ่งเป็นกุญแจความสำเร็จที่สำคัญอีกอันนึง
คุณปลา-อัจฉรา ยังกล่าวต่ออีกว่า อาหารของเราเป็น Soft Power ที่แข็งแกร่งของเราอยู่แล้ว เพราะเรามีอาหารที่หลากหลาย พร้อมด้วยคุณค่าและเรื่องราว อีกอันหนึ่งคือ experience คนที่มาชิมแล้วบอกเล่ากันต่อไป จะช่วยให้อาหารไทยที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้วเติมโตขึ้นไปได้อีก
………………………………………………………….
และยังมี คุณเบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับ / นักเขียน จาก Salmon House ที่กล่าวถึงความเป็นกันเองของแบรนด์ไว้ว่า แบรนด์ต้องมีความเป็นคน ต้องมีความเป็นเพื่อน เราไม่สามารถไปเตะประตูบ้านเขาแล้วบอกว่า “ซื้อ Product นี้สิ” ได้อีกต่อไปแล้ว แต่บางครั้งมันคือการหยิบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันมาตั้งคำถาม ให้มันตลกขบขัน หรืออาจจะเสียดสีหน่อยก็ได้ แต่คนดูรู้สึกว่า เออมันใช่
ผมอยากทำโฆษณาที่ผมยังไม่ค่อยเห็น แรกๆ ลูกค้าก็ยังไม่เก็ท แต่เราค่อยๆ เล่าให้เขาเข้าใจมากขึ้น ให้แบรนด์มันมีความเป็นคน ไม่ต้องเนี้ยบตลอดเวลาก็ได้ ซึ่งทางฝั่งคนดูก็มีคนรอดูของแบบนี้อยู่ด้วย แต่ช่วงแรกก็มีคนไม่เก็ท ทั้งคนดู และผู้ที่เกี่ยวข้อง บางทีผู้ใหญ่บ้านเราชอบกลัวกันไปก่อน แต่ว่าคนดูเขาแยกแยะได้
เราอย่าไปทำให้วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ มันคือวิถีชีวิตตามท้องถนนนั่นแหละ มันต้องเปลี่ยนแปลงได้ ต้องแยกคำว่า มรดก กับ วัฒนธรรม ออกจากกัน เพราะมรดก ก็เป็นสิ่งที่เรารักษาสืบทอดกันมา แต่วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ พัฒนาได้ เพราะมันคือวิถีชีวิตเรา
เราอย่าไปกลัวเกินไป อย่าไปควบคุมหนักมือมาก ไม่ได้แปลว่าต้องละเลยหรือไม่ใส่ใจ แต่เป็นการให้โอกาสเติบโต เพราะผมเชื่อว่าคนไทยโคตร creative ตลก เก่ง กวน เราต้องประคองเขา แล้วมันจะค่อยๆ เติบโต เราไม่จำเป็นต้องไทยทุกอย่าง เราไม่ต้องยัดเยียด Soft Power แต่เราต้อง Soft hand บางทีเราเบามือลงก็ได้เหมือนกัน ค่อยๆ เรียนรู้ ใช้เวลาและต้องใจเย็น