กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มอบมงล็อคตำแหน่ง “แอนโทเนีย โพซิ้ว” – รองชนะเลิศมิสยูนิเวิร์ส 2023 ให้เป็น “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 เนื่องในโอกาสที่องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพื่อร่วมสืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ของประเทศไทยให้คงอยู่ต่อไป
ภายใต้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ “สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก” ที่มุ่งหวังผลักดันให้ไทยเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในระดับโลก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ในแต่ละปี ชื่อ ลักษณะการแต่งกายและลักษณะท่าทางของ นางสงกรานต์ จะแตกต่างกันตามวันและช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษ ซึ่งในปี 2567 วันสงกรานต์ ตรงกับ วันเสาร์ ที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ในช่วงค่ำ-เที่ยงคืน
นางสงกรานต์ในปีนี้จึงชื่อว่า “นางมโหธรเทวี” โดยจะทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ดอกผักตบชวา) สวมใส่แก้วนิลรัตน์ ทรงจักรที่พระหัตถ์ขวา ทรงตรีศูลที่พระหัตถ์ซ้าย นอนลืมตาเหนือหลังเทวราชพาหนะ คือ มยุรา (นกยูง)
ในเวลาต่อมา @ภูษาผ้าลายอย่าง ออกมากล่าวถึงแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ชุดนี้ผ่านเฟซบุ๊กเพจว่า
“ครั้งนี้ ภูษาผ้าลายอย่าง ออกแบบอ้างอิงตามประติมากรรม “อับเฉาเรือ” ในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นไปตามศิลปนิยม “งามอย่างเทวสตรี” ผสานเข้ากับจินตนิยมของผู้ออกแบบ และผู้สวมใส่ ที่ต้องการให้เห็นถึงความสง่างาม แสดงถึงพลังที่มีอยู่ภายในของสตรีเพศ จึงได้นำความงามที่หลากหลายของการแต่งกายในสมัยอยุธยา มาร้อยเรียงขึ้นเป็นชุดนี้”
“โดยสวมศิราภรณ์ อันเรียกว่า “เทริด” เครื่องประดับศรีษะของชนชั้นสูง พร้อมด้วยใส่อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ (เครื่องประดับอัญมณีสีดำหรือบางตำราว่าสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ) นุ่งผ้าลายอย่าง “ลายสร้อยสามหาว” สีม่วงดอกผักตบ ที่ออกแบบรังสรรค์ขึ้นใหม่ โดย อ.ธนิต พุ่มไสว (ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ภูษาผ้าลายอย่าง”) เพื่อให้เป็นลวดลายเฉพาะสำหรับนางสงกรานต์ประจำปีนี้”
พร้อมห่มสไบแพรญวนสีม่วงดอกสามหาว ทับด้วยผ้า “สะพัก”ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งด้วยการปักดิ้นข้อถมดิ้นโปร่งประดับปีกแมลงทับ และตรึงโลหะชุบทองลงยาลายประจำยามใบเทศ ถือมาลัยครุยดอกรัก เพิ่มความอ่อนช้อยให้เทวสตรีผู้สวมใส่
ในส่วนของผ้านุ่งและเครื่องประดับที่ แอนโทเนีย สวมใส่ต่างเป็นส่วนที่ถูกรังสรรค์ด้วยช่างมากฝีมือ โดย ผ้านุ่ง “ลายสร้อยสามหาว“ ที่นำดอกสามหาว(ดอกผักตบ) ดอกไม้ประจำนางมโหธรเทวี มาผูกลายขึ้นใหม่ และร้อยเรียงเป็นลวดลายไทย ตามฉบับของสกุลช่างเมืองเพชร
ส่วนอาภรณ์พรรณถูกหล่อด้วยกรรมวิธีสลักดุนโลหะด้วยเงิน,ทองแดง โดยตระกูลลายสกุลช่างทองหลวง อีกทั้ง ในส่วนของจักรและตรีศูล อาวุธประจำกายของนางมโหธรเทวีนั้น ก็ทำมาจากเหล็กบ้านอรัญยิกและไม้ทองหลาง เขียนด้วยลายรดน้ำที่ทำขึ้นเฉพาะสำหรับนางมโหธรเทวีปีนี้เท่านั้น
การรังสรรนางสงกรานต์ประจำปีนี้ จึงเป็นการนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทย 3 อย่างมารวมตัวกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็น นางงาม อันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็ง แกร่งของไทยมาผสมผสานกับ ศิลปะไทยหลายแขนง ทั้งผ้าไทย มีดและอัญมณี เพื่อออกแบบชุดให้เหมาะสมแก่การเป็นนางมโหธรเทวีประจำวันสงกรานต์ อันเป็นวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่าที่ใคร ๆ ต่างอยากมาสัมผัส
สามารถร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นโดย สวธ. ได้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ
-งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 10 เมษายน 2567
-นิทรรศการ สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ระหว่างวันที่ 10 – 12 เมษายน 2567 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานกลางแจ้ง หน้า หอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC)
-งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2567 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12 – 16 เมษายน 2567
-กิจกรรมการแสดงสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในงานใต้ร่มพระบารมี 242 กรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ณ เวทีการแสดง สังคีตศาลา พิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติ พระนคร เป็นต้น