จะมีสักกี่เทศกาลในโลกนี้ ที่แม้ว่าตัวงานหลักตามกำหนดการจะจบลงไปแล้ว แต่ทว่าในบางพื้นที่ยังมีการจัดงานส่งท้ายราวกับเป็น after party เฉลิมฉลองหลังงานจบ เหมือนกับว่าหมู่ชนบางแห่งยังไม่จุใจ ยังติดลม อยากสนุกกันต่อ ลักษณะเช่นนี้อาจจะมีเพียง “วันไหลสงกรานต์” ในประเทศไทยที่เดียวในโลกก็เป็นได้ และใช่หรือไม่ว่า สิ่งนี้อาจเป็นประเพณีอันสะท้อนลักษณะนิสัยของคนไทย ว่าเป็นพวกชอบติดลมล่วงเวลา?
เดิมทีเดียว “วันไหลสงกรานต์” ที่เรารู้จักกันนั้นมีชื่อว่า “ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” ซึ่งเป็นการทำบุญขึ้นปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติต่อๆ กันมาเฉพาะยิ่งในภาคตะวันออก และภาคกลางบางจังหวัด โดยจะจัดขึ้นหลังสงกรานต์ราวๆ 5 – 6 วัน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านจะร่วมกันขนทรายจากชายหาดระแวกนั้น นำมาก่อสร้างพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยการนำทรายมากองสูงแล้วรดน้ำเอาไม้ปั้นกลึงให้เป็นรูปทรงเจดีย์จำนวน 84,000 กอง เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ ปักธงทิว รวมถึงมีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอื่นๆ ทำบุญเลี้ยงพระและผู้ร่วมงาน โดยทรายที่ชาวบ้านนำมานั้น วัดก็จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ถือว่าเป็นงานรื่งเริงที่ช่วยพัฒนาวัดและชุมชุนไปพร้อมๆ กัน
ทว่าต่อมา เมื่อสภาพบ้านเมือง และความเป็นอยู่ได้เปลี่ยนแปลงไป งานก่อสร้างในวัดจึงมิได้สำคัญเท่าสมัยก่อน อีกทั้งการขนทรายเข้าวัดด้วยแรงงานคนก็มิได้มีความจำเป็นอีกต่อไป เมื่อนั้น ‘งานก่อพระทรายน้ำไหล’ จึงค่อยๆ ลดบทบาทลง แต่ยังคงเหลือไว้ซึ่งงานบุญและกิจกรรมรื่นเริงอื่นๆ ที่ยังมีอยู่ ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น เมื่อปราศจากการก่อพระทราย จึงได้มีการปรับชื่อเหลือเพียง “ประเพณีวันไหล” หรือ “วันไหลสงกรานต์” อย่างเช่นทุกวันนี้
โดยเฉพาะยิ่งในจังหวัดใหญ่ๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว “งานวันไหล” ซึ่งเปรียบดั่งประเพณีขึ้นปีใหม่ประจำท้องถิ่น จึงกลายเป็นสถานที่เก็บตกของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ที่ยังอยากสนุกในวันสงกรานต์กันต่อ หรือกล่าวอีกทางคือ ยังติดลม ยังไม่อยากเลิกเล่นน้ำ และหากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ใช่หรือไม่ว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะนิสัยดังกล่าว ทั้งชอบสนุก, ชอบติดลม, มาสาย และไม่เป็นเวลา ฉะนั้นแล้ว ในแง่หนึ่ง ความนิยมในประเพณีวันไหล จึงเป็นสิ่งสะท้อนลักษณะนิสัยของคนไทยได้เป็นอย่างดี ว่าคนไทยเป็นคนอย่างไร จริงหรือเปล่านะ?