Skip links

การท่องเที่ยวสายมู พลวัตทางความเชื่อ ถึงไม่เชื่อ…แต่ก็มู

การท่องเที่ยวสายมู เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งสามารถสร้างกระแสเงินสะพัดได้มหาศาล แต่เหตุไฉนสายมูบางรายจึงไปร่วมพิธีมูโดยไม่ได้ยึดถือความเชื่อนั้นๆ เป็นสรณะ?

คงต้องเกริ่นก่อนว่า กิจกรรมการท่องเที่ยวทางความเชื่อ / ความศรัทธา นับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญอันก่อให้เกิดรายได้ตั้งแต่ระดับชุมชน ลงไปถึงหน่วยครัวเรือน ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคอยู่พอสมควร

โดย ‘นายธนวรรธน์ พลวิชัย’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้คาดการณ์เรื่องนี้ไว้ว่า ธุรกิจสายมูอาจมีเงินสะพัดในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 10,000 – 15,000 ล้านบาท หรือโตขึ้นร้อยละ 10-20 เพราะความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นั้นยังคงผูกติดอยู่กับการใช้ชีวิตในสังคมไทยมาช้านาน

อย่างไรก็ดี การเติบโตขึ้นของกระแส “มูเตลู” ถือว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์สังคมที่น่าสนใจ อันสะท้อนพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของหมู่ชนจำนวนไม่น้อย เพราะถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ / ความศรัทธา จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน แต่ทว่าคุณค่าที่บางกลุ่มคนในแต่ละยุคยึดถือนั้นแตกต่างกัน และอาจเรียกได้ว่า การท่องเที่ยวสายมูที่ว่านี้ อาจเป็นขั้นกว่าของพุทธพาณิชย์

เนื่องจาก กว่าทศวรรษที่ผ่านมา คำว่า “พุทธพาณิชย์” มักถูกใช้เพื่ออธิบายการหากินกับความศรัทธา ซึ่งแยกได้ยากจากความงมงาย โดยศาสนสถานหลายแห่งใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อหาเงินหาทอง สิ่งนี้ส่งผลให้ศาสนิกชนหลายคนลุ่มหลงไปกับการใช้เงินทุนในการทำบุญ กระทั่งยังมีที่เชื่อว่า ยิ่งจ่ายเยอะ ยิ่งได้บุญเยอะ ฉะนั้นแล้ว เพื่อจุดประสงค์ในการทำบุญ ทำนุบำรุงศาสนา สมาชิกสังคมบางรายจึงเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องดีงาม

แต่สำหรับ “สายมู” นั้นต่างออกไป เพราะหากพิจารณาถึงพฤติกรรมของสายมูบางประเภทดูแล้วจะพบว่า หลายรายมิได้ยึดถือคุณค่าทางความเชื่อนั้นๆ เป็นสำคัญ หากแต่เป็นกิจกรรม และประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมากกว่า 

สิ่งนี้พบเห็นได้จากกลุ่มคนที่ไปแก้ชง โดยที่ไม่ได้ยึดถือความเชื่อนี้เป็นสารัตถะของชีวิต หรือบางรายไปเสริมดวงชะตา โดยไม่ได้สมาทานว่าความเป็นอยู่หลังจากนี้จะดีขึ้นจริง หรือแม้แต่บางท่านที่ใส่เสื้อสีมงคล โดยไม่ได้ยึดถือว่าสีเสื้อจะเป็นมงคลต่อชีวิตโดยแท้

แต่ทว่ามันคือกิจกรรมสำหรับการท่องเที่ยว และ / หรือ ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมากกว่า พูดอีกอย่างคือ “มันเป็นคอนเทนต์ในชีวิต” ซึ่งคอนเทนต์นั้นๆ จะนำไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียหรือไม่ ก็สุดแท้แต่

แน่นอน ย่อมมีสายมูจำนวนไม่น้อยที่สมาทานความเชื่อ / ความศรัทธา บางประการไว้เป็นสรณะแห่งจิตวิญญาณ หากแต่จำนวนของผู้ที่รับเอาเฉพาะพิธีกรรม ทว่ามิได้ยึดมั่นแก่นแกนความเชื่อนั้นไว้เป็นรูปธรรมของชีวิตก็เป็นจำนวนที่ควรจับตาดูอยู่ไม่ใช่น้อย

การท่องเที่ยวแบบสายมู จึงเป็นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ อันสะท้อนถึงพลวัตของคุณค่าทางความคิด / ความเชื่อ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปของผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรม โดยทั้งนี้ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งก็มีการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน