เปิดตัวพิธีกร “Thailand Music Countdown” รายการเพลงรายการใหม่ของวงการเพลงไทยแบบครบเซ็ต ได้แก่ “มาเบล PiXXiE / ต้าห์อู๋ / มิเคลล่า MXFRUIT / นุนิว” พร้อมพาเหล่าศิลปิน T-POP เฉิดฉายบนเวที
Music Countdown หรือ M Countdown เป็นหนึ่งในรายการเพลงเบอร์ต้นๆ ของเกาหลีที่ออกอากาศทางช่อง Mnet มาตั้งแต่ปี 2004 รวมระยะเวลาออกอากาศจนถึงวันนี้ก็ปาไปกว่า 20 ปี ซึ่งในปีนี้ True CJ Creations ได้ฤกษ์ซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นเวอร์ชันไทย
ในฐานะ ติ่งเกาหลีเกือบ 10 ปี และติดตามวงการที-ป็อบมาตลอด
ความต่างหนึ่งของวงการเพลงเกาหลีและไทย คือ จำนวนรายการเพลงสำหรับแสดงบนเวที (แบบที่ไม่ใช่แข่งร้องเพลงชิงเงิน)
ทางฝั่งเกาหลี มีรายการเพลงที่เปิดโอกาสให้ศิลปินทั้งเบอร์เล็ก เบอร์ใหญ่มาแสดงเดบิวต์หรือคัมแบ็ค “ไม่ต่ำกว่า 5 รายการ” (เรียกได้ว่าแต่ละช่องมีรายการเพลงเป็นของตัวเองทำนองนั้นก็ได้) ทำให้ทุกๆ การเดบิวต์หรือคัมแบ็คของศิลปินที่เราชื่นชอบ เราก็จะมานั่งไล่ดู การแสดงทุกๆ เวที ทุกๆ รายการเพลง
เพราะ ในแต่ละรายการเพลง เราจะได้เห็นเสื้อผ้าหน้าผมของศิลปินในลุคใหม่ที่ต่างกัน รวมถึงการตกแต่งสเตจ การแสดงและมุมกล้องก็จะแตกต่างกันตามไปด้วย ซึ่งในบางครั้งก็จะมีโมเมนต์น่ารักเล็กๆ น้อยๆ ของศิลปินให้เราอมยิ้ม อาจจะมีเต้นผิดตรงนี้ แกล้งเพื่อนตรงนั้น ไปจนถึงต้องเจอสถานการณ์คับขัน เช่น ไวร์เลสหลุด เพราะเต้นแรงใส่สุดเกินให้เราได้เห็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของศิลปิน
อีกทั้ง เราจะยังได้เห็นโมเมนต์ข้ามวงของศิลปินร่วมวงการที่เราน่าจะไม่ได้เห็นจากที่อื่น อย่างตอนประกาศรางวัลช่วงท้ายรายการ ศิลปินรุ่นพี่ รุ่นน้อง รุ่นเพื่อน ทั้งต่างค่ายและค่ายเดียวกันก็จะมายืนรวมตัวกัน เพื่อรอประกาศผลและร่วมยินดีไปกับศิลปินชนะรางวัล
แถมตอนนี้ยังมีกระแสชาเลนจ์เต้นข้ามวงที่แต่ละวงจะเอาเพลงของตัวเองมาเต้นกับศิลปินคนอื่น ๆ รายการเพลงจึงเป็นเหมือนจุดนัดพบให้ศิลปินต่างวงมาทำชาเลนจ์ของกันและกันอย่างสนุกสนาน แบ่งปันฐานแฟนคลับกันไปในตัว
และนอกจากเราจะเห็นศิลปินทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว แฟนคลับเองก็มีกิจกรรมที่ต้องทำเหมือนกัน โดยชาร์ตเพลงส่วนใหญ่ของรายการเพลงมักจะอิงกับยอดขายอัลบั้มและยอดขายเพลงดิจิทัล บวกกับยอดอื่นๆ ตามที่รายการกำหนดอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้แฟนคลับทั้งในและนอกต่างทุ่มแรง ทุ่มเงิน ทุ่มใจสนับสนุนศิลปินตัวเองให้ไต่ชาร์ต คว้าที่หนึ่งมาไว้ในมือ
หรือถ้าพิเศษหน่อย แฟนคลับเองก็มีสิทธิ์เข้าอัดรายการเพลงร่วมกับศิลปินที่ชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งกติกาจะเป็นไปตามที่แต่ละรายการกำหนด เช่น ต้องมีอัลบั้มคัมแบ็คและแท่งไฟ เป็นต้น ทำให้ในบางครั้ง แฟนคลับต่างชาติพยาพยามจัดทริปบินเที่ยวเกาหลีช่วงที่ศิลปินคัมแบ็ค เพื่อเข้าอัดรายการเลยก็มี
ในปัจจุบัน แม้รายการทีวีจะไม่ใช่สื่อหลักของผู้คน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสน่ห์ของรายการเพลงเหล่านี้ เป็นช่องทางสำคัญในการสร้างฐานแฟนคลับทั้งในและนอกประเทศได้เป็นอย่างดี รายการเพลงจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมเพลงเติบโตได้ดี ครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งแน่นอนว่า รายการเพลงต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ยังคงเป็นผลงานจากการสนับสนุนของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมบันเทิงเสมอมา
ก่อนหน้านี้ ไทย ก็มีรายการเพลงอยู่แล้ว รายการหนึ่งชื่อว่า T-POP Stage ทาง Workpoint ออกฉายมาตั้งแต่ 2021 ซึ่งเกิดจากกระแสเรียกร้องจากแฟนคลับที-ป็อปที่เห็นตรงกันว่าควรมีเวทีแสดงตอบรับการเติบโตของวงการอุตสหากรรมเพลงไทยได้แล้ว เพราะหลังจาก 7 สีคอนเสิร์ตมา ไทยก็ไม่ค่อยมีรายการเพลงอีกเลย
แต่ทว่ารายการนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจาก จำเป็นต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับกระแสตอบรับยังไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ทำให้ผู้จัดรายการต้องหยุดพักการออกอากาศและปรับการออกอากาศจากสัปดาห์ละ 1 ตอน เปลี่ยนเป็น สองสัปดาห์ 1 ตอน และเดือนละ 1 ตอนในท้ายที่สุด
ทุกวันนี้ ถ้าศิลปินไทยไม่แสดงสดตามงานเฟสติวัล ห้างสรรพสินค้า อีกพื้นที่หนึ่งก็คือร้านเหล้า ซึ่งมีปัญหาทั้งในด้านอายุศิลปินและแฟนคลับ (จะว่าไปแล้วไม่เคยเห็นศิลปินเกาหลีแสดงในร้านเหล้าเหมือนกัน) และใช่ว่าขนส่งสาธารณะจะดีพอให้ตามศิลปินไปทุกงาน
ความสนุกสนานและความหลากหลายของรายการเพลงที่จะได้จาก Thailand Music Countdown จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยขยายอุตสาหกรรมเพลงไทย ซึ่งรูปแบบรายการหลักอาจจะอิงจากรายการทางเกาหลี
ความน่าสนใจของรายการนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ รายการนี้จะออกอากาศเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ 17.30 – 18.20 น. ทางช่อง 3HD ซึ่งเป็นช่องหลักของทีวีไทย ทั้งยังออกฉายเป็นเวลา 50 นาทีในช่วงไพร์มไทม์ของช่อง ประกาศชัดว่า ช่อง 3 กำลังจะก้าวเท้ามารับบทบาทเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดนี้อย่างจริงจัง
ถึงจะมีรายการเพลงเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งรายการ แต่ว่าก็ว่าเถอะอุตสาหกรรมบันเทิงไทยตอนนี้ แค่สองเจ้าอาจจะยังไม่เพียงพอรองรับการเติบโต และช่วงเริ่มต้นแบบนี้ เอกชน ฝ่ายเดียวอาจจะยังรับมือคนเดียวไม่ไหว การสนับสนุนจากภาครัฐจึงเป็นจิ๊กซอว์ที่ยังขาดหายไปในสมการนี้