6 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมกับสมาคมฟินเทค และพันธมิตรด้านเทคโนโลยี จัดทอล์คพิเศษหัวข้อ “Standing with Refugee Women – Tech and Humanitarian Synergy เทคโนโลยีและมนุษยธรรม เพื่อผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก” เนื่องในวันสตรีสากล
บนเวที มีการพูดคุยกับผู้หญิงรุ่นใหม่มากความสามารถจากวงการต่างๆ ที่ต้องรับมือกับทั้งบทบาทการทำงาน บทบาทการดูแลครอบครัว และบทบาทการขับเคลื่อนสังคม สร้างแรงบันดาลใจและบอกเล่าให้เห็นถึงความสำคัญในการลงทุนสนับสนุนผู้หญิง และแรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ไม่ว่าจะเป็น “ศรีริต้า เจนเช่น ณรงค์เดช” สมาชิกกิตติมศักดิ์กองทุนเพื่อผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก “พรทิพย์ กองชุน” Chief Growth Officer และ Co-founder Jitta อดีตผู้บริหาร Google Thailand “ชนิดา คล้ายพันธ์” หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท ติ๊กต๊อก (ไทยแลนด์) จำกัด “อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์” ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน UNHCR ประเทศไทย
เนื่องจากรายงานล่าสุดของ UNHCR พบว่า จำนวนผู้ลี้ภัยและพลัดถิ่นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 114 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในรอบทศวรรษ โดยกว่าครึ่ง คือ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ที่นอกจากจะต้องเผชิญความยากลำบากขณะลี้ภัยแล้ว ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพิ่มด้วย
ในปี พ.ศ.2566 UNHCR ประเทศไทยจึงจับมือกับ ผู้หญิงแนวหน้าของเมืองไทย จัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือสู่ผู้ลี้ภัยหญิง พร้อมสนับสนุนให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการสนับสนุนเพื่อผู้ลี้ภัยหญิง
“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กองทุนเพื่อผู้ลี้ภัยหญิง สามารถส่งต่อความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหญิงชาวซีเรีย และครอบครัวได้กว่า 500 คน ผ่านโครงการมอบเงินช่วยเหลือของ UNHCR ในประเทศจอร์แดน” คุณอีฟเลียน แวนเดอเว่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครอง UNHCR ประเทศไทย กล่าว
ครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการด้านการเงินของ UNHCR จะสามารถจัดการกับการเงินได้ตามความต้องการของแต่ละครอบครัวอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร หรือค่าการศึกษา ซึ่งเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ลี้ภัยมีสิทธิการเข้าถึงที่พักพิงและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ปลอดภัย มีโอกาสในการศึกษาและทำงานมากขึ้น เพื่อแสดงศักยภาพและทำตามความฝันของตนได้แม้จะอยู่ในภาวะยากลำบาก
ในปีนี้ กองทุนมีเป้าหมายขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากขึ้น จึงร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการลงทุน โดยคุณชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า “สมาคมฟินเทคประเทศไทย ต้องการส่งเสริมการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้ผู้ลี้ภัยได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินที่ยั่งยืนถือเป็นการให้ที่เคารพศักดิ์ศรี และแก้ปัญหาในระยะยาว”
อีกทั้ง การสื่อสารและการสร้างการรับรู้ที่ดียังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต่อการขยายความช่วยเหลือ UNHCR จึงร่วมกับ Tik Tok เปิดตัว “donation sticker” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
คุณชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท ติ๊กต๊อก (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการแสดงออกที่หลากหลายเพื่อขับเคลื่อนสังคมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เราเชื่อว่า TikTok สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือเรื่องของผู้ลี้ภัยได้” “นอกจาก donation sticker ที่ช่วยระดมทุนให้ UNHCR แล้ว เรายินดีสร้างสรรค์เนื้อหาร่วมกับครีเอเตอร์ เพื่อสร้างการรับรู้ในการสนับสนุนผู้ลี้ภัยหญิงต่อไป”
…
สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหญิงได้ผ่าน “กองทุนผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก” www.unhcr.org/th/leading-women-fund