สงกรานต์ปีนี้ผ่านพ้นไปอย่างคึกคักในหลายพื้นที่ คงต้องชื่นชมหลายฝ่ายซึ่งมีส่วนผลักดัน water fest ให้พิเศษมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่เดี๋ยวก่อน… กระแสตอบรับจากชาวไทยใช่ว่าจะมีคำชมเพียงอย่างเดียว เพราะแม้ “สงกรานต์ 21 วัน” จะลุล่วงไปแล้ว แต่ความฉงนสงสัยในนโยบายก็ยังเป็นสิ่งที่คาใจใครหลายคน รวมถึงชาวต่างชาติด้วย
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามตอบโต้ว่า เนื่องจากงบยังไม่ออก ปีนี้จึงไม่อาจทำอะไรได้มากเท่าที่คิด ทว่าปัญหาที่แท้อาจไม่ใช่เรื่องงบประมาณ หากแต่เป็นเรื่องของการสื่อสารที่ยัง ‘ทำไม่ถึง’ และ ‘ขาดเอกภาพ’ เสียมากกว่า
ฉะนั้นแล้ว เรามาช่วยกันคิดหน่อยว่า ในแง่การสื่อสาร รัฐบาลควรทำอย่างไรให้ดีกว่านี้ แม่นยำกว่านี้ และมีประสิทธิภาพกว่านี้ อาทิเช่น
จะดีกว่านี้ไหมถ้ามี “ผู้นำทางการสื่อสาร”
แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่างานนี้อยู่ในการกำกับดูแลของ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” แต่ทว่าบทบาทการเป็นผู้นำทางการสื่อสารอาจจะยังไม่เด่นชัดนัก เพราะเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน การสื่อสารแคมเปญก็กระจายไปยังหลายฝ่าย ซึ่งข้อเสียคือประชาชนไม่รู้ว่าจะฟังใครดี?
ลองนึกถึงตอนที่เรื่อง digital wallet กำลังฝุ่นตลบกันอยู่ ครานั้นนายกเศรษฐาก็พูดเสียงดังฟังชัดเลยว่า ต่อแต่นี้ขอให้ “ฟังผมคนเดียว” หรือแม้แต่ช่วงที่มีวิกฤตโควิด-19 นายกประยุทธ์ ก็แถลงการณ์เองทุกวัน เหล่านี้คือการเล่นบท ‘ผู้นำทางการสื่อสาร’ ให้ประชาชนได้รับรู้
ทว่าสำหรับนโยบาย “สงกรานต์ 21 วัน” พอเข้าเดือนเมษายน “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” ก็กลายเป็น ‘ผู้นำล่องหน’ ไปอย่างน่าเสียดาย ถ้ามีใครสักคนในรัฐบาลเล่นบท ‘ผู้นำทางการสื่อสาร’ ป้อนข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนอยู่เป็นระยะๆ ก็คงไม่ต้องปล่อยให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเสียเวลาสืบหาข้อมูลมากดังที่ผ่านมา
จะดีกว่านี้ไหมถ้า “มี road map ที่ชัดเจนกว่านี้”
1 เมษายน คือ Day 1 ของ “สงกรานต์ 21 วัน” แต่มีประชาชนไทยสักกี่คนกันเชียวที่รู้ว่ามีอีเว้นท์ที่ไหน? อย่างไรบ้างในวันแรก? และยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงชาวต่างชาติ เพราะผลลัพธ์ที่เห็นกันก็คือ ไวรัลหนุ่มจีนขัดปืนเก้อ ไม่เจอน้ำแม้แต่หยดเดียว ยืนเปลี่ยวกลางอโศก แค่นี้ก็สะท้อนถึงการประชาสัมพันธ์แผนที่เส้นทางการเล่นน้ำที่ยังสร้างการรับรู้ได้ไม่เพียงพอเป็นอย่างดี ซึ่งของแบบนี้มีหรือที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะทำไม่ได้?
จะดีกว่านี้ไหมถ้า “มีช่องทางสื่อสารเป็นหลักแหล่ง”
บางเทศกาลในต่างประเทศ เขาจัดเล็กกว่าเรา แต่เขายังมีเว็บไซต์ มีเพจ มียูทูบให้ได้ติดตามดูความเคลื่อนไหว รวมถึงการรวบรวมข้อมูล แต่เรื่องนี้พอจะเข้าใจได้ว่างบประมาณยังไม่ออก เอาเป็นว่าปีหน้าค่อยมาตัดสินอีกทีละกัน ขอแปะไว้ก่อน
จะดีกว่านี้ไหมถ้า “มีอุ๊งอิ๊ง live พาทัวร์ที่เด็ดๆ”
ว่าจะไม่พูดถึงแล้วเชียว แต่มันอดไม่ได้จริงๆ เพราะลองคิดดูว่าถ้าหากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งกล้อง live พาทัวร์อีเว้นท์สงกรานต์ตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ต้นเดือนเป็นระยะๆ พร้อมกับตระเวนไปยังจังหวัดต่างๆ ทั้งเมืองหลัก-เมืองรอง เพียงแค่นี้ก็ทำให้หลายๆ สถานที่เป็นจุดสนใจได้ไม่น้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ปีนี้มีการผลักดันอย่างเต็มรูปแบบ ในภาพรวมก็ถือว่าทำออกมาได้น่าประทับใจภายใต้ข้อจำกัดบางประการที่พอจะเข้าใจได้อยู่
แต่ก็อีกนั่นแหละ ในบางเรื่อง-บางประเด็น ก็นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ทั้งๆ ที่คนในรัฐบาลเพื่อไทยก็มิได้ไร้เดียงสาทางการสื่อสารนโยบาย แต่เหตุไฉนปีนี้ดูยั้งๆ มือ เหมือนไม่ได้ลงแรงทุ่มสรรพกำลังอย่างเต็มที่กับงานนี้ มันติดปัญหาที่งบประมาณเพียงอย่างเดียวจริงหรือไม่? หรือมีเรื่องการเมืองคอยเบนความสนใจอยู่หรือเปล่า? ข้อสังเกตนี้จะจริงแท้ประการใดก็คงต้องให้ผู้สันทัดการเมืองวิเคราะห์วิแคะกันไป
และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจจะช่วยให้การสื่อสารนโยบาย “สงกรานต์ 21 วัน” แม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากใครมีไอเดียดีๆ ก็ลองโยนมาที่ช่องคอมเมนต์ด้านล่างได้เลย เผื่อจะมีคนในร้าบานผ่านมาเห็นและนำไปใช้ในคราวต่อไป